คนไทยคุ้นกับคำ “รถเก๋ง” แต่สมัยก่อนยังมีคำว่า “รถกูบ”…รถกูบ คืออะไร?

รถเก๋ง รถยนต์ สมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณ ถนนเจริญกรุง สี่กั๊กพระยาศรี
รถเก๋งสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณถนนเจริญกรุง ตรงสี่กั๊กพระยาศรี (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ ในอดีต)

คำเรียกพาหนะ หรือ รถ ที่คนไทยสมัยใหม่คุ้นเคยอย่างดีย่อมต้องมีคำว่า รถเก๋ง แต่สมัยก่อนมีคำที่เลิศไม่แพ้กันอย่าง รถกูบ … รถกูบ คืออะไร?

รถเก๋ง คำนี้เราใช้กันจนคุ้นหูคุ้นตา รู้สึกว่าเป็นคำที่ธรรมดาที่สุด ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ เลย แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงความเป็นมาของศัพท์นี้แล้วก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน

คำว่า “รถเก๋ง” เป็นคำประสมระหว่างภาษาต่างประเทศ คือ “รถ” เป็นภาษาสันสกฤต แต่ “เก๋ง” เป็นภาษาจีน

เฉพาะคำว่า “เก๋ง” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ให้ความหมายว่า “เรือนมีรูปหลังคาแบบศาลเจ้าจีน เครื่องบังมีฝาและหลังคาแบน เช่น เรือเก๋ง รถเก๋ง”

“เก๋ง” เท่าที่เห็นใช้อยู่โดยทั่วไป เช่น “เก๋งจีน” หรือ “พระที่นั่งเก๋ง” หมายถึงเรือนที่มีรูปทรงเป็นศิลปะจีน พูดอย่างนี้ทุกคนคงนึกออกทันที เพราะเรือนแบบจีนนั้นเขามีศิลปะเป็นเอกลักษณ์ของเขาโดยเฉพาะ ในเมืองไทยมีมาก พอเห็นปุ๊บก็รู้ทันที

“เรือเก๋ง” คือเรือแจวที่ติดตั้งหลังคาเป็นประทุนแบบจีน ที่เคยเห็นมักเป็นไม้กลึงสวยงาม สำหรับขุนนาง หรือพระที่มีสมณศักดิ์ท่านใช้ ปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นเลย นอกจากที่เขาเก็บไว้ตามวัดบางวัดเท่านั้น

ต่อมาเมื่อมี รถ แบบฝรั่ง ซึ่งมีหลังคาคุ่มๆ โค้งๆ คล้ายกับเรือเก๋งเกิดขึ้น ชาวบ้านบางกลุ่มเรียกว่า “รถเก๋ง” แต่มีชาวบ้านอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “รถกูบ” ผู้ที่เรียกนั้นก็คือชาวสุพรรณฯ ที่เป็นชาวบ้านไม่เคยไปอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน

นอกจากนั้นผมยังเคยเห็นในหนังสือ “ผสมผสาน” ของ น.ม.ส. ท่านก็ใช้เหมือนกัน แสดงว่าชาวกรุงที่เรียกก็มี

ที่เราเรียกว่า “รถเก๋ง” ก็เพราะเรานึกเทียบเอากับสิ่งมีหลังคาแบบจีน เช่น “เก๋งจีน” หรือ “เรือเก๋ง” ซึ่งมีมาก่อน ส่วนที่เรียกว่า “รถกูบ” ก็คงจะเห็นว่าหลังคารถชนิดนี้คุ่มๆ โค้งๆ เหมือน “กูบช้าง” ตอนแรกคงจะเรียกเป็น 2 อย่าง ต่อมาภายหลังคนกลับนิยมเรียกว่า “รถเก๋ง” มากกว่า ดังนั้นคำว่ารถกูบจึงหมดไป คงเหลืออยู่แต่แถวสุพรรณฯ แห่งเดียว

แต่ตอนที่ผมไปเชียงใหม่กลับได้ยินเขาเรียกแปลกออกไปเป็น “รถสี่ล้อ” เพราะเขามุ่งเอาจำนวนล้อเป็นเกณฑ์ อนึ่งการที่เรียกแตกต่างกันไปนั้น ประการหนึ่งเป็นเพราะความนิยมตามท้องถิ่นอีกด้วย เช่นคำว่า “น้ำเข็ง” ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปนี้ ในประเทศลาวเรียกว่า “น้ำก้อน” แต่ทางไทยอาหมเรียกว่า “น้ำกัด” ของสิ่งเดียวกันนี้เรียกต่างกันไปเป็น 3 อย่าง เพราะต่างถิ่นกัน แต่ก็มีลักษณะร่วมกันคือบอกให้รู้ว่าน้ำนี้เราทำให้แข็งตัว เกิดเป็นก้อน เวลากินต้องกัด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2524 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 3 ตุลาคม 2566