จุดเปลี่ยน “กุหลาบ” ดอกไม้ประวัติศาสตร์แพร่หลายโด่งดังทั่วโลกได้อย่างไร

ดอกกุหลาบ - (ภาพไม่มีจำกัดเงื่อนไขการใช้งาน)

เสน่ห์งดงามลงตัวอย่างยิ่ง ไม่ว่ากิ่ง ก้าน ใบหนาม โดยเฉพาะดอกที่มีกลิ่นหอมแรง ทำให้กุหลาบได้รับการยกย่องเป็นราชินีแห่งอุทยาน (Queen of the Garden)

ของสวยของงามเช่นเดียวกับดอกไม้งามก็ย่อมเคียงคู่กับบุคคลสูงศักดิ์ ประวัติศาสตร์ของกุหลาบล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด เครื่องประดับของชาวสุเมเรียนเมื่อ 5,000 ปีก็เป็นรูปดอกกุหลาบทำด้วยทอง นักโบราณคดีชาวอังกฤษขุดพบน้ำที่มีกลิ่นกุหลาบจากหลุมศพของกษัตริย์ ไล่มาจนถึง 1,700 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ มีการขุดซากวังที่เมืองคนอสซุสทางชายฝั่งตอนเหนือของเกาะครีตก็พบภาพเขียนบนผนังเป็นภาพดอกกุหลาบ

กุหลาบมาโด่งดังมากคือยุคของโจเซฟิน ราชินีของกษัตริย์นโปเลียนที่ 1 (ค.ศ. 1804-1809) แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงโปรดปรานกุหลาบอย่างยิ่ง พระนางทรงใช้ทั้งเงินและคนในการสะสมกุหลาบนานถึง 10 ปี โดยปลูกที่พระตำหนักมาลเมซองในเนื้อที่ประามณ 1,500 ไร่ ที่นี่มีกุหลาบสารพัดอย่างกว่า 250 พันธุ์

พระเจ้านโปเลียนเองก็ทรงสนับสนุนพระมเหสี ระหว่างกรีธาทัพโรมรันกับอังกฤษ กองทหารของพระองค์ก็จะสะสมพันธุ์กุหลาบที่พบและส่งกลับมายังวังมาลเมซอง ทหารอังกฤษเองก็พบว่าเชลยศึกฝรั่งเศสมีกุหลาบที่จะส่งไปมาลเมซองนายพลเรืออังกฤษผู้หนึ่งออกคำสั่งว่า เมื่อใดที่ยึดเรือฝรั่งเศสได้ ถ้าเรือลำนั้นบรรทุกต้นกุหลาบและเมล็ดพันธุ์มาด้วยก็ให้จัดส่งคืนไปที่วังมาลเมซอง

หนักกว่านั้นคือจอห์น เคนเนดี้ ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษที่พระนางทรงว่าจ้างให้มาถวายคำปรึกษาเรื่องกุหลาบ เคนเนดี้ได้รับใบผ่านทางพิเศษให้ไปที่ใดๆ ก็ได้เพื่อสืบเสาะหาพันธุ์กุหลาบมาถวายพระนาง ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นยุโรปกำลังระอุกับศึกนโปเลียน

นี่คือความมหัศจรรย์ของกุหลาบ

สำหรับกุหลาบในประวัติศาสตร์ไทยก็เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์เช่นกัน

สมัยพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งประกาศอิสรภาพจากพม่าได้ส่งกองทัพไปตีมอญ ทวายและตะนาวศรี ได้กวาดต้อนชาวมอญ ทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งกุหลาบไม้ดอกที่เป็นที่นิยมของมอญเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา นับแต่นั้นมากุหลาบก็ได้ชื่อว่า กุหลาบมอญ และเป็นพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุดในกระบวนกุหลาบด้วยกัน

ศ.ประชิด วามานนท์ บันทึกไว้ว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขณะประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต “กฤษฎาภินิหาร องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงห่วงใยต่อแผ่นดินด้วยศุภนิมิตที่โปรยปรายพระสุบินในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถึงเหตุการณ์คับขัน ทรงนึกถึงให้ใช้กุหลาบมอญลอยน้ำถวายสรงพระพักตร์ในสมเด็จพระนเรศวรตามพระสุบินเป็นมหัศจรรย์”

เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประหนึ่งสงครามกลางเมืองลงเอยด้วยความสงบในที่สุด

ศ.ประชิดบันทึกด้วยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ปลูกกุหลาบมอญไว้ทั่วทุกตำหนักที่ประทับ เพื่อทรงใช้ดอกกุหลาบมอญประวัติศาสตร์สัญลักษณ์ในพระนเรศวรมหาราชตราบเท่าทุกวันนี้

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช กุหลาบก็เป็นไม้ที่พระนารายณ์ทรงโปรด ลาลูแบร์บันทึกว่า มีการปลูกในพระราชอุทยานนารายณ์ราชนิเวศน์ลพบุรี

กุหลาบได้มีบทบาทในยุคกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงโปรดกุหลาบมาก ในการเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง พระองค์เสด็จทอดพระเนตรทุกแห่งที่มีกุหลาบและนำพันธุ์เข้ามา พร้อมทั้งทรงเขียนอธิบายเรื่องดิน วิธีผสม วิธีขยายพันธุ์

ประเทศเยอรมนียังได้ขอพระราชทานชื่อกุหลาบพันธุ์ใหม่ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานชื่อว่า King of Siam และยังเป็นที่นิยมในยุโรปจนทุกวันนี้

เนื่องจากทรงโปรดกุหลาบมาก รัชกาลที่ 5 จึงทรงใช้ดอกกุหลาบในพระราชลัญจกรประจำพระองค์

ประเพณีขอพระราชทานชื่อพันธุ์กุหลาบยังมีมาถึงปัจจุบัน บริษัท R.Kordes ของเยอรมนีได้ขอพระราชทานชื่อกุหลาบพันธุ์ผสม (เดิมใช้ชื่อ Peer Gynt) เมื่อครั้งพระบาทสเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จประพาสเดนมาร์ก จึงพระราชทานนาม “ควีนสิริกิติ์” เป็นชื่อกุหลาบพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีกลีบดอกสีเหลือขอบแดงเรื่อซ้อนกันหลายชั้น

เช่นเดียวกับนายจีระ ดวงพัตรา เจ้าของไร่จีระโรสเนิร์สเซอรี่ ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้สั่งกุหลาบพันธุ์ Madras จากบริษัทผู้ผลิตกุหลาบรายใหญ่ของอเมริกามาปลูก และพบว่ามีการกลายพันธุ์เป็นสีชมพูเหลืองเหลือบ จึงขอพระราชทานนามกุหลาบพันธุ์นี้ว่า “พระนามสิรินธร” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราชานุญาต

มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกุหลาบเช่นกัน ในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง พระองค์มักทรงเปรียบเทียบกุหลาบดุจดังแก้มหรือริมฝีปากสีแดงของหญิงสาว แต่ที่เกี่ยวข้องกับกุหลาบโดยตรงคือ พระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธาหรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นตำนานความรักที่เทพบุตรสุเทษณะหลงรักเทพธิดามัทนา แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปมาเกิดในโลกมนุษย์ มัทนาขอเกิดเป็นดอกไม้กลิ่นหอมเรียก “กุพชก” พระองค์ทรงให้เหตุผลที่เลือผูกเรื่องให้เทพธิดามัทนาเป็นดอกกุหลาบว่า กุหลาบเป็นดอกไม้ที่คนทั้งโลกทุกชาติทุกภาษานิยมว่างาม และหอมชื่นใจกว่าดอกไม้อื่นๆ

เทพนิยายกรีกก็มีตำนานว่า กุหลาบเกิดจากการแปลงร่างของนางกินรีที่สิ้นชีพโดยคลอริสเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ โดยเชื้อเชิญบรรดาเทพมาร่วมชุมนุมกัน แล้วขอให้เทพอโฟรไดท์ประทานความงาม เทพอพอลโลประทานพรแห่งอมตะมากับสุริยรังสี เทพไดโอนีเซียสประทานน้ำอมฤตและกลิ่นหอม และได้ตั้งชื่อดอกไม้นี้ว่า Rosa และได้ประทานดอกไม้นี้แก่อีโรสซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก

ดอกกุหลาบจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความใคร่ ไม่น่าแปลกที่มีการนำดอกกุหลาบไปใช้ในเครื่องหอมและกลั่นเป็นน้ำหอมเพื่อเป็นสิ่งเร้าสำหรับเพศตรงข้าม


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562