กำเนิดคำว่า “วิก” จากละครเจ้าคุณมหิน

คำปากตลาดเรียกโรงมหรสพเล่นประจำว่าวิก มีผู้เล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เกิดจากเจ้าพระยามหินทรฯ จะเล่นละครเก็บเงินเอาอย่างละครปาซีที่เข้ามาเล่นเก็บเงินในสมัยนั้น แต่จะเล่นสัปดาห์ละวัน คำว่า สัปดาห์ ยังไม่มีใช้ เรียกกันว่าวิก เขียนป้ายไว้หน้าโรงละคร ซึ่งมีชื่อว่า ปรินส์เทียเตอร์ (ปรินส์ ในที่นี้จะหมายความว่ากรมหมื่นพิชัยฯ หรือพระองค์ใดไม่ทราบเกล้าฯ) ว่า วิกนี้จะเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนอ่านไม่เข้าใจคำว่าวิก แปลว่าอะไร ก็อาศัยตีความไปว่าวิก เห็นจะหมายถึงโรงละครเล่นเก็บเงินเลยติดเป็นคำแปลมาจนบัดนี้

อย่างเดียวกับบ๊อกส์ละคร ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นโรงละครลิงเอาไม้กระบอกมาตั้งเป็นราวให้นั่งดูแถวหน้า ก็เรียกว่านั่งบ๊อกส์ ซึ่งในที่นี้แปลว่า นั่งข้างหน้า หาใช่นั่งในคอกไม่

หนังสือของพระยาอนุมานราชธน (อธิบดีกรมศิลปากร) กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ (คัดจากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๑๘๕)

เรื่องละคอนเจ้าพระยามหินทร์ท่านคาดพลาดไปมาก เพราะท่านไม่รู้ทันคำว่าวิก ไม่ใช่หมายว่า ๗ วัน หมายว่าเดือนเดือนหงาย เปนทางสดวกแก่คนที่จะไปดูละคอน ก็ตกอยู่ในราว ๗ วันหรือยิ่งหย่อนไปกว่าก็มี

ในการเก็บเอาเงินคนดูก็ไม่ใช่เอาอย่างละคอนแขกฟาซี ละคอนแขกพวกนั้นมาทีหลังเจ้าพระยามหินทร์เล่นเก็บเงินเปนไหนๆ จนมีโรงวิกเอาอย่างไปตั้งเต็มเมืองแล้ว แขกพวกนั้นจึงมาเช่าโรงเข้าสรวม

โรงวิกของเจ้าพระยามหินทร์เกิดแต่ท่านมีละคอนอยู่ ท่านก็จะเล่นดูของท่าน เพื่อการจัดแก้ไขในเรื่องที่เล่นอยู่หรือเรื่องที่จะเล่นต่อไปภายหน้า หากคนพลอยอยากดูละคอนของท่าน ท่านจะตัดสินให้เปนธรรมว่าจะให้ใครเข้าดูและไม่ให้เข้าดูก็มีอย่างใดที่สู้เก็บเงินเสียไม่ได้

การเก็บเงินคนดูนั้นท่านเอาอย่างฝรั่งมา ด้วยตัวท่านได้เคยเหนมาเมื่อได้ไปยุโรปในคณะทูตพิเศษของไทย

ชื่อละคอนปรินส์เทียเตอ นั้นจะตั้งขึ้นเมื่อไรไม่ทราบแน่แต่เปนกาลนานมาแล้ว สงสัยว่ากรมหมื่นพิชัยจะยังไม่ได้เสด็จมาสู่โลกนี้ เข้าใจว่าคำว่าปรินส์จะหมายถึงพระองค์เจ้าจุธารัตน์ หากเปนคำฝรั่งอย่างบกพร่อง แต่ก็ไม่มีใครเรียก เรียกกันว่าละคอนพระยามหิน หรือละคอนเจ้าคุณมหิน ทั้งนั้น

ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระยาอนุมานราชธน (อธิบดีกรมศิลปากร) ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๔ (คัดจากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๖ หน้า ๑๙๑)