ข้อสงสัยในบทบาทของ “ออกญาเสนาภิมุข” ขุนนางราชสำนักอยุธยาเชื้อสายญี่ปุ่น

ภาพวาด ออกญาเสนาภิมุข หรือ ยามาดะ นางามาซะ ฉากหลัง เป็น ภาพวาด อยุธยา
ภาพวาด ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) ขุนนางชาวญี่ปุ่น ที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นผู้นำทหารอาสาญี่ปุ่นต่อต้านการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าทรงธรรม (ภาพสำเนาจากการวาดที่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา) ประกอบกับฉากหลัง ภาพวาด กรุงศรีอยุธยา วาดโดย Struys Jan Janszoon ค.ศ. 1681

ยามาดะ นางามาซะ ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองไทย และได้ดิบได้ดีจนได้เป็น “ออกญาเสนาภิมุข” เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อว่า ยามาดะ นางามาซะ เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์

จากปากคำของ อาจารย์ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่น จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

“ก็มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ชื่อ ดร. โทรุ ยาโน ได้เขียนบทความลงในหนังสือ ‘ชูโอโครอน’ ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนกึ่งวิชาการเกี่ยวกับสังคมและเหตุการณ์ปัจจุบันหรือเหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวโยงกับปัจจุบัน ที่เก่าแก่และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและปัญญาชนญี่ปุ่น”

ท่านระบุว่า ยามาดา นากามาซา* ไม่มีตัวตนจริง และว่าที่นักวิชาการญี่ปุ่นหลายๆ คนมักจะยกย่องบทบาทของยามาดา คล้ายกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น ได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แน่ชัดแล้วหรือยัง ถึงได้ยกย่องบทบาทกันมากมายเพียงนี้”

ดร. ยาโน ถือเป็นนักวิชาการญี่ปุ่นที่รู้เรื่องไทยเยอะคนหนึ่ง จากคำบอกเล่าของอาจารย์ไชยวัฒน์ที่กล่าวว่า “ดร. โทรุ ยาโน ท่านนี้เป็นนักวิชาการประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เคยมาทำวิจัยอยู่ที่จังหวัดยะลาเป็นเวลา 3 ปี และได้ทำวิทยานิพนต์เกี่ยวกับเรื่องบทบาทของทหารไทยในทางการเมืองเปรียบเทียบกับพม่า เคยเดินทางมาไทยบ่อยๆ และพูดภาษาไทยได้”

แต่ความเห็นของ ดร. ยาโน ถูกนักวิชาการท่านอื่นๆ ตอกกลับกันระนาว อาจารย์ไชยวัฒน์บอกว่า “เนื้อหาตามข่าวหนังสือพิมพ์อาซาฮีพูดถึง ดร. โทรุ ยาโน ว่าไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ตอนนี้มากเท่าใดนัก จากเอกสารต่างๆ ที่มีอยู่ในญี่ปุ่น แล้วก็ออกมาโต้แย้ง และเดี๋ยวนี้ในหมู่นักวิชาการญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ไม่ค่อยยอมรับ ดร. โทรุ ยาโน มากนัก เพราะช่วงหลังๆ มักจะเข้าไปยุ่งกับการเมืองมากกว่าที่จะค้นคว้าทางวิชาการ”

เรื่องของ ออกญาเสนาภิมุข นี้ อาจารย์อิชิอิ โยเนะโอะ อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นที่ตอนหลังหันมาทำงานวิชาการเป็นหลักได้เคยค้นคว้าเอาไว้ซึ่งมีหลักฐานของทางฝั่งญี่ปุ่นเองที่ยืนยันได้ว่า ยามาดะ นางามาซะ นี้มีตัวตนอยู่จริง หนึ่งในนั้นก็คือ “จดหมายเหตุต่างแดน” ที่บันทึกโดยพระนิกายเซ็น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการร่างใบเบิกร่องประทับตราแดง (ใบอนุญาตในการแต่งสำเภาเดินทางไปค้าขายกับประเทศต่างๆ) ที่ระบุว่า

“ยามาดะ นินซาเอมอง คนหามเกี้ยวของ โอคุโบะ จิเอมอง ได้ไปสยาม เวลานี้มีข่าวว่ารับราชการอยู่ที่นั่น”

ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) ขุนนางชาวญี่ปุ่น ที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นผู้นำทหารอาสาญี่ปุ่นต่อต้านการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าทรงธรรม (ภาพสำเนาจากการวาดที่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา)

นอกจากนี้ยังมีพระราชสาส์นต้นฉบับซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาของพระมหากษัตริย์อยุธยา ซึ่งจารึกเป็นตัวอักษรไทยลงไปใน “สุพรรณบัตร” มีใจความว่า พระองค์ทรงเห็นชอบที่จะให้ ยามาดะ นางามาซะ เป็นหัวหน้าชาวญี่ปุ่นโดยได้พระราชทานยศและราชทินนามเป็นขุนชัยศร แม้ว่าพระราชสาส์นต้นฉบับมิได้หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนที่เรียกว่า “คัมบุง” รวบรวมอยู่ใน “หนังสือติดต่อกับต่างประเทศ”

และจากการที่ ยามาดะ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จากคนหามเกี้ยวขึ้นไปเป็น “ออกญา” ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี [จากการค้นคว้าของ อิวาโอะ เซอิอิชิ พบว่า ยามาดะ ถึงอยุธยาในปี พ.ศ. 2155 และน่าจะได้เป็นออกญาเสนาภิมุขอย่างช้าที่สุดในปี พ.ศ. 2171] ทำให้คนญี่ปุ่นยุคหลังพากันยกให้เขาเป็นยอดคน เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคปิดประเทศเรื่องราวเล่าขานถึงยามาดะ จึงยิ่งเลยเถิดเกินจริงไป

อาจารย์อิชิอิบอกว่า แม้ว่า ยามาดะ จะได้เป็น “ออกญาเสนาภิมุข” ซึ่งเป็นยศชั้นสูงสุดของขุนนางอยุธยา แต่โดยทำเนียบขุนนางก็เป็นเพียงตำแหน่งหัวหน้ากรมอาสาญี่ปุ่นเท่านั้น ขณะที่ตำนานบางสำนวนเล่าว่า ท่านไปเป็นถึงสมุหนายก หรือสมุหกลาโหม บางสำนวนไปไกลถึงขั้นบอกว่าเป็น “ราชาน้อย” ทั้งที่แท้จริงแล้ว ยามาดะเพียงได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

และจุดจบแบบดราม่า ที่ยามาดะต้องมาตายเพราะถูกยาพิษจากออกญากลาโหมผู้ทะเยอทะยาน ขณะที่เขาทำหน้าที่รับใช้แผ่นดินอย่างภักดี ทำให้มันกลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมที่ตรึงตราใจใครหลายๆ คน จนมีการนำเรื่องราวของยามาดะไปดันแปลงเป็นสื่อบันเทิงหลายเรื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา เช่นภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าทรงธรรมผู้เปี่ยมเมตตา”, “ออกญากลาโหมผู้ทรยศ”, “นางามาซะบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภักดีและกล้าหาญ”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะพันธมิตรร่วมสงคราม จึงอดมองไม่ได้ว่ามีเจตนาแฝงทางการเมืองด้วยหรือไม่ และด้วยความที่เรื่องราวของยามาดะ มักปรากฏในรูปแบบของวรรณกรรมมาก ทำให้ชีวิตของเขาดูเป็นนิยาย จึงไม่แปลกที่หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าเขาไม่ใช่บุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : *ยามาดะ นางามาซะ – ยึดการสะกดตามต้นฉบับเดิม

อ้างอิง :

“ยามาดา นากามาซา กับประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2530.

ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี. อิชิอิ โยเนะโอะ, โยชิกาวะ โทชิฮารุ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2530.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2559