ที่มาของ “พระพักตร์” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “ไทยปนจีน แต่จะค่อนไปทางไทย”

“…ในการออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พยายามที่จะหาแบบที่มีชีวิตในอุดมคติของท่านก่อน ไม่ว่าจะเป็นม้าทรงหรือพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเห็นมาก่อน

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี วาดมโนภาพไว้ว่า พระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะต้องมีลักษณะไทยปนจีน แต่จะค่อนไปทางไทยมากกว่า สีพระพักตร์จะต้องบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สุขุมคัมภีรภาพ และแสดงความปราดเปรื่องทั้งการยุทธ์และการปกครองเฉกเช่นมหาราชผู้เกรียงไกร และที่สำคัญที่สุดจะต้องอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ คือมีพระชันษาประมาณ ๓๐ กว่าๆ ถึง ๔๐ ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการกอบกู้เอกราชและทำนุบำรุงบ้านเมืองไม่ใช่อยู่ในวัยแห่งปลายพระชนมชีพคือประมาณ ๔๘ พรรษา

ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเลือกแบบที่มีชีวิต ๒ คน แทนคนๆ เดียว ซึ่งมีอายุไม่เกิน ๔๐ ปี คือ ทวี นันทขว้าง และจำรัส เกียรติก้อง (ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี) อายุประมาณ ๓๔ ปี…”

(บน) อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ (ซ้ายล่าง) จำรัส เกียรติก้อง และ (ขวาล่าง) ทวี นันทขว้าง

หมายเหตุ: อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่กล่าวถึง คืออนุสาวรีย์ซึ่งประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าที่มีขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ ปกรณ์ เล็กสน และสนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย

ที่มา: คัดจาก “อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยาม”. รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552