“คิงคอง” เป็นสัตว์กินพืชที่ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้จึงสูญพันธุ์

โปสเตอร์ คิงคอง ลิงยักษ์
(ซ้าย) โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “คิงคอง” ปี 1933 ลิงยักษ์ในจินตนาการซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกอริลลา เทียบกับ ไจแกนโธพิเธคัส ลิงยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อราวแสนปีก่อน ซึ่งลักษณะจะคล้ายกับอุรังอุตังมากกว่า (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลายคนคงรู้จัก “คิงคอง” ลิงยักษ์หน้าตาเหมือนกอริลลาแต่เดินสองขาหลังตรงได้เหมือนคน แถมมีร่างกายใหญ่ยักษ์แตกต่างไปตามแต่เรื่องแต่ละตอน (เห็นว่าจะทำให้ตัวใหญ่เท่าก๊อดซิลลา) ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นแค่สัตว์ประหลาดที่เกิดจากจินตนาการของคนเท่านั้น

แต่ลิงยักษ์ขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ ก็มีขนาดใหญ่จนน่าทึ่งไม่แพ้กัน ลิงยักษ์ชนิดนี้ (ซึ่งพอจะเทียบได้ว่าเป็น คิงคอง ในโลกของความเป็นจริง) นักวิทยาศาสตร์เขาตั้งชื่อให้ว่า ไจแกนโธพิเธคัส (Gigantopithecus) สามารถโตเต็มที่ได้ขนาดสูงถึง 3 เมตร น้ำหนัก 270 กิโลกรัม ใหญ่กว่ากอริลลา สัตว์ตระกูลลิงขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังไม่สูญพันธุ์ราวๆ 120 เซนติเมตร และหนักกว่ากันเป็นร้อยกิโลกรัม

ไจแกนโธพิเธคัส เทียบกับขนาดของมนุษย์ (AFP PHOTO / SENCKENBERG RESEARCH INSTITUTE / H. Bocherens)

สัตว์ตระกูลลิงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตามหลักฐานทางธรณีวิทยาชนิดนี้มีถิ่นฐานอยู่ในแถบทวีปเอเชีย ถูกพบร่องรอยเป็นครั้งแรกในปี 1935 โดย กุสตาฟ ฟอน โคนิกส์วัลด์ (Gustav von Koenigswald) นักบรรพชีวินวิทยาชาวเยอรมันที่ไปพบฟันกรามของมันในร้านขายยาในประเทศจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นฟันมังกรโดยแพทย์แผนจีนเชื่อว่ามันเป็นยาที่สามารถรักษาได้หลายโรค และมันก็เป็นเพียงหลักฐานเดียวที่เคยถูกพบเกี่ยวกับลิงยักษ์พันธุ์นี้ ก่อนที่อีกหลายปีต่อมานักวิทยาศาสตร์จะได้พบฟันของมันเพิ่มเติมอีกหลายสิบชุดในหลายพื้นที่ของจีนตอนใต้ เวียดนาม อินเดีย รวมถึงประเทศไทย

ก่อนหน้านี้เคยมีการสันนิษฐานว่า ไจแกนโธพิเธคัสกินเฉพาะไผ่เป็นอาหาร แต่จากการศึกษาของ เอิร์ฟ โบเชเรนส์ (Herve Bocherens) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยทูบินเจน (University of Tubingen) ในเยอรมนี ที่ทำการวิเคราะห์ฟันของมันที่พบในถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศไทยพร้อม ๆ กับฟอสซิลของสัตว์อื่น ๆ ที่พบในบริเวณเดียวกัน ทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า ไจแกนโธพิเธคัสน่าจะกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่รวมถึงใบไม้และรากไม้ที่มีอยู่ในป่าดิบเท่านั้น ขณะที่สัตว์ชนิดอื่นๆ ที่พบในบริเวณเดียวกันกินอาหารที่หาได้จากทั้งในป่าดิบและทุ่งหญ้าสะวันนา

ผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าภูมิประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้นมีส่วนที่ประกอบทั้งพื้นที่ที่เป็นป่าดิบและทุ่งหญ้าสะวันนา และเจ้าลิงยักษ์ตัวนี้ก็อาศัยอยู่ในป่าไม่ไกลจากทุ่งหญ้าสะวันนา แต่มันกลับมิได้ออกไปหาอาหารในทุ่งหญ้าเลยต่างจากสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในพื้นที่เดียวกัน

ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่บวกกับการจำกัดประเภทของอาหารอย่างเข้มงวดนี่เอง เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรวดเร็วจนทำให้พื้นที่ป่าดิบลดลงอย่างมากเมื่อราวแสนปีก่อน เจ้ายักษ์ใหญ่สายพันธุ์นี้จึงสูญพันธุ์ไปเนื่องจากปรับตัวได้ไม่ทัน สถานการณ์ของไจแกนโธพิเธคัสจึงคล้ายๆ กับอุรังอุตังในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นญาติห่างๆ ของมัน ที่แต่ก่อนนี้ก็เคยมีอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเหลือถิ่นอาศัยแค่เพียงป่าฝนในเกาะสุมาตราเท่านั้น

อย่างไรก็ดี อุรังอุตังมีขนาดตัวที่เล็กกว่าไจแกนโธพิเธคัสมาก และมันยังสามารถลดระดับการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) ให้อยู่ในระดับต่ำๆ ได้ในฤดูกาลที่ผลไม้ขาดแคลน จึงทำให้มันยังคงเหลือรอดมาได้ในช่วงที่ป่าดิบลดพื้นที่ลงอย่างรวดเร็ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Why Earth’s Largest Ape Went Extinct”. Live Science. <http://www.livescience.com/53313-biggest-ape-forest-dweller.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2560