“หวัง อาหะหมัด” ยอดนักมวยมุสลิม กำปั้นแชมเปี้ยนแห่งสยามคนแรก

ภาพประกอบเนื้อหา - นักมวยในกรุงเทพฯ ราวทศวรรษ 1960 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

หวัง อาหะหมัด เป็นอีกหนึ่งในตำนานของยอดมวยมุสลิม เขาได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนแห่งสยามคนแรก เมื่อสนามมวยท่าช้างที่มี นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร์เป็นนายสนาม ได้จัดให้มีการแข่งขันคัดเลือกหาตัวผู้จะเป็นแชมเปี้ยนคนแรกของสยามขึ้น

หวัง อาหะหมัด ชกมาตั้งแต่ยุคคาดเชือก เวทีสวนกุหลาบ เขาเป็นนักมวยในสังกัดคณะลูกศร เขาเป็นนักมวยที่มีรูปร่างใหญ่โต หนักถึง 77 กิโลกรัม มีหมัดอันทรงพลัง ในสมัยเวทีสวนกุหลาบนั้นเขาเอาชนะนักมวยทั้งไทยและจีนถึง 12 คน ที่เป็นนักมวยไทยก็เช่น นายก้อน นายอิน ส่วนนักมวยจีนคือนายหย่วน

หวัง อาหะหมัด ชกมวย บนสังเวียน
ภาพพร้อมคำบรรยายว่า “หวัง (ขวา) สมัยนั้นยังปราดเปรียว สรวมสังเวียนคาดเชือกใส่กระจับบุนวมทะยานเข้าพันตูคู่ต่อสู้อย่างคนหนึ่งไม่ลดละ!”

มาถึงสมัยเวทีท่าช้าง เมื่อมีการคัดเลือกหาตัวผู้ที่จะเป็นแชมเปี้ยนมวยไทยขนาดหนักขึ้น หวัง อาหะหมัด นักชกร่างใหญ่ ชาวไทยมุสลิมผู้นี้ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชิงแชมเปี้ยนแห่งสยามกับ นายศุข สมบูรณ์ นักชกร่างใหญ่เช่นกัน ศิษย์เอกของครูกิมเส็ง ในสังกัดคณะทวีสิทธิ์ลำปาง

นายศุข สมบูรณ์ ผู้นี้เคยเอาชนะนักมวยเอกอย่าง นายท้วม เขียวแสงใส (บิดาตลกเอก ทองแถม เขียวแสงใส) เสือเก่าแห่งสนามมวยสวนกุหลาบมาแล้ว

เมื่อหวังกับศุขประหมัดกัน หวังก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีโค่นศุขผู้ชิงชัยลงไปได้ เขาจึงได้เป็นแชมเปี้ยนแห่งสยามเป็นคนแรก ได้รับเงินเดือนเดือนละ 40 บาท

หนังสือพิมพ์กีฬา (ฉบับที่ 160 ปีที่ 4 อาทิตย์ 24 เมษายน 2492) กล่าวถึงประวัติของ หวัง อาหะหมัด หลังจากเป็นแชมเปี้ยนแล้วว่า

“เมื่อกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วประเทศดังนี้แล้ว จึงไม่มีใครหาญขึ้นชกด้วยกับแชมเปี้ยนไทยอิสลามผู้นี้ หวังครองตำแหน่งพญาช้างสารแห่งสังเวียนผู้เดียวเรื่อยมา”

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็มีนักมวยดีจากกรมรถไฟขออาสาขึ้นชกด้วย โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะปราบหวังลงให้ได้ เพื่อที่จะได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนแทน นักมวยผู้นี้คือ นายชุ่ม ดีจรรย์ นักมวยร่างยักษ์เช่นกัน

เมื่อถึงวันชก แฟนมวยของนายชุ่มจากกรมรถไฟก็มาให้กำลังใจกันมากมาย ส่วนหวังก็มีแฟนมวยจาก
มีนบุรี หนองจอก คลองตัน คลองเตย ฝั่งธนบุรี และรวมถึงแฟนมวยจากปัตตานี ในการชกครั้งนี้ปรากฏว่า รั้วสังกะสีของสนามมวยพังไปด้านหนึ่ง เพราะแฟนมวยแย่งกันเข้าชม

หนังสือกีฬา (ฉบับที่ 160 ปีที่ 4 อาทิตย์ 24 เมษายน 2492) เล่าถึงการชกครั้งนั้นอย่างเห็นภาพว่า

“ทั้งคู่ขึ้นเวที แตะมือกัน เมื่อพร้อมกรรมการให้สัญญาณชก หวังแย็บ ชุ่มต้องผงะ หวังพุ่งเข้าใส่ ชุ่มโคลงตัวหลบหลีกหมัด ซึ่งหมัดของหวังถูกบ้างผิดบ้าง ชุ่มเห็นหวังชกพลาด จึงพรวดเข้าจะตามด้วยหมัด แต่ความล่าช้าของชุ่มทำให้เกิดอันตราย หวังยกแข้งซ้ายเข้าหน้าอกชุ่มอย่างถนัด ชุ่มโงนเงน หวังจึงเข้าชกซ้ายแล้วโยกตัวกลับมา ตามด้วยฮุคขวาเข้าขากรรไกรของชุ่มดังสนั่น หวังถอยนิดหนึ่ง พุ่งหมัดซ้ายล้วงชายโครงได้อีกทีหนึ่ง ชุ่มหงายหลังเซแซดๆ พี่เลี้ยงของชุ่มจึงโยนผ้ากลางเวที บอกยอมแพ้ในยกนั้นเอง หวังใช้เวลาในการต่อสู้เพียง 50 วินาทีก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะเป็นของหวัง”

[ซ้าย] หวัง อาหะหมัด แชมเปี้ยนคนแรกของสยาม [ขวา] ภาพ หวัง อาหะหมัด พร้อมคำบรรยายว่า “หวัง (ด้านขวา) สมัยยังปราดเปรียว สรวมสังเวียนคาดเชือกใส่กระจับบุนวมทะยานเข้าพันตูคู่ต่อสู้อย่างคนหนึ่งไม่ลดละ!” (พิมพ์ตามคำบรรยายต้นฉบับ)

หลังจากที่ปราบชุ่มลงได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้จึงไม่มีใครหาญขึ้นชกด้วยอีกเลย กระทั่งอีกปีหนึ่งต่อมา ก็มีนักชกร่างยักษ์จากกรมรถไฟอีกคนหนึ่ง อาสาขึ้นปราบและชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนจากหวัง นักมวยผู้นี้คือ นายประดิษฐ์ ลิ้มประยูร

หนังสือกีฬา (ฉบับที่ 209 ปีที่ 5, พ.ศ. 2493) บันทึกถึงบรรยากาศในศึกประวัติศาสตร์คราวนี้ว่า

“4 โมงเย็นวันนั้น ตำรวจนครบาลวัดตองปุ กับโรงพักพระราชวังระดมกำลังรักษาการณ์รอบสนามมวยท่าช้างอย่างเต็มอัตรา เพราะมีพวกไทยอิสลามฝ่ายหวัง อาหะหมัดมาทุกกำปง และพวกกรมรถไฟกับทหารเรือ ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพิพัฒน์พลกาย ฝ่ายประดิษฐ์ก็มีมากมาย พวกนักดูมวยนั้น อยากดูก็อยาก แต่กลัวปะทะกันก็กลัวอักโขอยู่”

การชกครั้งนี้มี อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ เป็นกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที ผลการชกปรากฏว่า หวังต้องพ่ายประดิษฐ์ ซึ่งได้เปรียบทั้งอายุที่หนุ่มแน่นกว่า และร่างใหญ่กว่าไปอย่างน่าตื่นเต้น

หลังจากที่เขาต้องปราชัยแก่ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูร แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าหวังได้ชกกับผู้ใดอีก จนกระทั่งปี 2492 หวังซึ่งเวลานั้นอายุมากแล้ว ก็ได้มาแสดงความจำนงต่อทางเวทีราชดำเนินว่า จะขอขึ้นชกกับ “ยักษ์ผีโขมด” สุข ปราสาทหินพิมาย หลังจากที่สุขสามารถเอาชนะ สมาน ดิลกวิลาศ ได้ แต่ทางสนามมวยก็มิได้จัดให้หวังขึ้นชกแต่อย่างใด

นั่นเป็นการยุติตำนานของ “ยอดมวยมุสลิม” ผู้ผ่านการชกมาอย่างโชกโชน ทั้งแบบคาดเชือกและแบบสวมนวมคนนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตำนานมวยมุสลิม” เขียนโดย พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2560