เอกลักษณ์ในที่พักของชาวไทดำ “เฮือนไทดำ” เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เวียดนาม

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในศิลปะงานช่างโดยเฉพาะประเภทที่พักอาศัย หรือภาษาถิ่นนิยมเรียกว่า “เฮือน” ของผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมทางภาษาตระกูลไท-ลาว จนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “อยู่เฮือนสูงเป่าแคน กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาร้า สักขาลาย นุ่งซิ่น แม่แล้วคือไท-ลาว” ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของคนในวัฒนธรรมนี้

ไทดำ หรือไทยภาคกลางนิยมเรียกว่าลาวโซ่ง เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมในเขตสิบสองจุไทย หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำของเวียดนาม ในสมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามและลาว เรียกคนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ว่าไทดำ ซึ่งเรียกตามลักษณะเฉพาะของคนกลุ่มนี้ที่นิยมสวมเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งจะย้อมด้วยต้นคราม มีภาษาอยู่ในตระกูลไท-กะได เช่นเดียวกับไทยสยาม ไทดำที่เวียดนามอาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดซอนลา และไลโจว (เมืองแถง) หรือเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน

เอกลักษณ์เฮือนไทดำ นิยมทำผังพื้นเฮือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีบันไดทางขึ้น-ลงเฮือนอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ 1. บริเวณชานแดดที่เป็นบริเวณครัวไฟหลังบ้าน เรียก “ชาน” 2. บริเวณหน้าบ้าน เรียกว่า “กว้าน” โดยบันไดจะอยู่บริเวณด้านสกัดหัวเรือนใหญ่ ผู้ชายจะใช้บันไดทางกว้านขึ้นหน้าบ้าน ส่วนผู้หญิงจะใช้บันไดด้านหลังบริเวณที่เป็นชาน

พื้นที่พักอาศัยภายในเฮือนจะมีหิ้งผีอยู่บริเวณห้องเปิง ส่วนห้องนอนลูกชายจะอยู่ติดกับกว้าน ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในผังเดียวกัน โดยแบ่งกั้นพื้นที่ด้วยผ้าทอผืนงาม และพื้นที่ถูกแบ่งเป็นห้องๆ นิยมเฉพาะเลขคี่… ตามลักษณะความยาวของตัวเฮือน ซึ่งอาจจะน้อยกว่าเฮือนไทขาว แต่จะมีความกว้างขวาง พื้นที่โถงกลางบ้านจะเป็นพื้นที่โล่งอเนกประสงค์ ใช้ในการรับแขก พักผ่อน ตำหูก (ทอผ้า) เป็นต้น ด้านนี้มีระเบียงยื่นออกมาจากตัวเฮือนประมาณ 1 เมตร

ตามแนวยาวขนานตัวเฮือนส่วนห้องน้ำห้องส้วม จะสร้างอยู่ด้านนอกตัวเฮือน เสาโครงสร้างนิยมทำเสากลมวางอยู่บนแท่นหินไม่ปักลงพื้นดิน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ไม้ผุกร่อนได้ง่าย และยังซ่อมแซมรื้อถอนได้สะดวกกว่าการปักลงดิน ผนังตัวเฮือนมีทั้งที่เป็นไม้จริงและไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ผนังดินผสมกับโครงสร้างไม้ไผ่

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญของผนังเฮือนไทดำ คือนิยมโชว์แนวเสาไว้ด้านนอก ผนังตัวเฮือน ช่องเปิดหน้าต่าง (ป้องเอี้ยม) มีรูปแบบที่หลากหลาย (ดูภาพลายเส้น) แต่มาในสมัยหลังนิยมทำเป็นลูกกรงเหล็กแทน รูปแบบหน้าต่างยังเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคม เช่น บ้านคนจนและชนชั้นปกครอง ซึ่งสามารถดูดได้จากความวิจิตรงดงามทางศิลปะ บ้างทำเป็นลักษณะล้มสอบ แกะสลักด้วยลวดลายเรขาคณิต เขาควาย หัวมังกร-น้ำเต้า รังไหม ตลอดจนกลีบดอกไม้ก็ยังมีปรากฏให้เห็น

ส่วนหลังคาเฮือน ถ้าเป็นเฮือนโบราณจะมุงแป้นเกล็ด หรือมุงแฝก ซึ่งมีความหนาถึง 30-45 เซนติเมตร ทำให้มีอายุการใช้งานได้นาน 10-20 ปีเลยทีเดียว ต่อมาสมัยหลังนิยมมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแทน ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อสร้างสมัยใหม่

เฮือนไทดำ หลังคาจะเหมือนกัน คือนิยมทำเป็นทรงหลังคาแบบบรานอ แต่ถ้าเป็นเฮือนเครื่องผูก ด้านสกัดจะโค้งเหมือนโครงร่ม เอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเฮือนไทดำคือ การตกแต่งยอดจั่วปั้นลมด้วยไม้แกะสลักลวดลายคล้ายมวยผมผู้หญิงและรูปทรงเรขาคณิต ส่วนความเชื่อของยอดจั่วนี้ถูกอธิบายว่าจะเป็นครอบครัวใหม่ที่เพิ่งแต่งงานจะนิยมทำเป็นลวดลายคล้ายหญิงชายกำลังสังวาส หรือรูปผู้หญิงตั้งครรภ์ อันแสดงถึงความสุขและความหวัง ถ้าเป็นเฮือนคนยากจน ยอดจั่วจะเป็นไม้เรียบๆ ธรรมดาไม่มีการตกแต่ง ใช้เพียงไม้มาไขว้กัน คล้ายกาแลของทางภาคเหนือของไทย

ตัวอย่างลายเส้นยอดจั่วนี้จัดทำขึ้นมาใหม่โดยการอิงรูปแบบของเดิมเมื่อปี ค.ศ. 1960 โดยช่างชาวเมืองทงแลง อำเภอทานเซา จังหวัดซอนลา ยอดจั่วดังกล่าวยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมเช่นเดียวกับป่องเอี้ยม (ช่องหน้าต่าง) โครงสร้างหลักของตัวเฮือนทำด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งตัวเฮือนและโครงหลังคา สำหรับพื้นที่พักอาศัยภายในเฮือนจะมีแม่คี่ไฟ ทั้งเฮือนใหญ่และเฮือนไฟ (เฮือนครัว) โดยแม่คี่ไฟบนเฮือนใหญ่ ใช้สำหรับผิงไฟให้ความอบอุ่นยามหน้าหนาว

บนเฮือนไทดำจะอยู่กันหลายครอบครัว มีสมาชิกมากกว่า 10 คน และมีคู่ผัวเมียไม่ต่ำกว่า 2-3 คู่ อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ บริเวณรอบๆ เฮือนจะมีหอผีอยู่บริเวณหน้าบ้าน ของใครของมัน ต่างกับไทขาว ที่จะทำหอผี 2-3 หออยู่ร่วมกัน สำหรับความแตกต่างของเฮือนไทดำกับไทขาวแต่เดิมนั้นจะต่างกันตรงที่เฮือนไทขาวมักจะมีระเบียงแคบ มีบันไดทางขึ้น 2 ด้าน แต่ในปัจจุบันรูปแบบได้ถูกผสมผสานจนแทบจะแยกไม่ออก

อีกทั้งบันไดทางขึ้น-ลง ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นปูนก่อแทนบันไดไม้ ตามสมัยนิยม ศิลปะการตกแต่งลวดลายไม้จำหลักยังผสมผสานกับศิลปะญวน (เวียด) อย่างผสมกลมกลืนตามวิถีสังคมใหม่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2560