“ลานช้าง-ลานนา” หรือ “ล้านช้าง-ล้านนา”? เรียกชื่ออย่างไรกันแน่

พระธาตุหลวง กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว (ภาพถ่ายเมื่อ 15 กรกฎาคม 2007 โดย Aaron Smith)

ลานช้าง

แต่ไหนแต่ไรมา เราเคยได้ยินและได้อ่านแต่คำว่าลานช้าง แม้แต่หนังสือที่อาจถือได้ว่าเป็นตำรับตำราหรือหนังสืออ้างอิงได้ที่พิมพ์ออกมาใหม่ๆ นี้ก็เป็นลานช้าง ผมขออ้างหนังสือ ชนชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีน ซึ่ง ดร.ปัญญา บริสุทธิ แปลจาก LESPEUPLES DE LA PENINSULE INDOCHINOISE ของ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กรุงเทพมหานคร 2525 ก็เป็นลานช้าง และมีคำนี้ประมาณ 20 คำ ที่เห็นว่าเป็นล้านช้าง น่าจะเป็นความเห็นเฉพาะบุคคลหรือเกจิอาจารย์ดังกล่าวมาแล้ว ผมขอคัดข้อความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับลานช้าง จากหนังสือที่อ้างถึงมาให้ดูนี้

“…พระเจ้าฟ้างุ้มประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เมืองเชียงดองเชียงทอง (ที่ตั้งนครหลวงพระบาง) หลังจากนั้นก็กลับมายึดนครเวียงจันทน์ เมื่อได้ทรงจัดการบ้านเมืองที่ทรงรบชนะแล้ว จึงได้บรมราชภิเษกอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1353 ที่เมืองเชียงดองเชียงทอง เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลานช้าง ประเทศแห่งช้างล้านเชือก”

ทำไมลานช้าง จึงมีความหมายว่าช้างล้านเชือก?

ช้างล้านเชือก อาจจะแปลมาจากชื่อราชธานีของอาณาจักรล้านช้างที่เรียกคำบาลีสันสกฤตว่า กรุงศรีสัตตนาค บ้าง กรุงศรีสัตตนาคนหุต บ้าง

นาค (นาโค) นั้น นอกจากแปลว่าช้างแล้วยังแปลว่านาคได้อีกด้วย ถ้าเอาแค่ ศรีสัตตนาค (ไม่มี นหุต) อาจแปลว่าช้างเจ็ดเชือก หรือ นาคเจ็ดตัว อันไหนจะ “เข้าเค้า” กว่ากัน?

จำนวนล้านนั้น ภาษาบาลีเป็นทสสตสหัสส (10×100×1,000) ส่วนนหุตนั้นเท่ากับตจำนวนหนึ่งหมื่นล้าน (10,000,000,000) คือ 1 ตามด้วยเลขศูนย์ 10 ตัว การนับหรือสังขยาตามแบบบาลีสันสกฤตนี้ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะดูเหมือนจะเคยเห็นหนังสือบางเล่มบอกว่า 1 นหุต เท่ากับ 1 ตามด้วยศูนย์ 20 ตัว ซึ่งต้องเป็นจำนวนมากโขเกินล้านไปเป็นพันๆ เท่า

ล้านเป็นคำไทยดั้งเดิม และเป็นจำนวนนับ (สังขยา) ระดับสูงสุด เลยล้านไปนั้นเป็นโกฏิ ซึ่งเป็นคำบาลี เลยโกฏิไปยังมี ปโกฏิ โกฏิ ปโกฏิ แล้วจึงจะถึงนหุต ถ้าผู้ตั้งชื่อเมืองทีแรกคิดจะให้หมายความว่าช้างล้านเชือก ซึ่งน่าจะมากพออยู่แล้ว ทำไมจึงต้องเติมนหุตเข้าไปอีก ผมต้องยอรับว่าไม่เข้าใจหรือคิดไม่ออก มันคงจะเข้าทำนองว่า “เอามากเข้าไว้แหละดี” ถ้าเราคิดเพียงว่า นหุต เท่ากับหนึ่งหมื่นล้าน เมื่อมีสัตต (เจ็ด) อยู่หน้าอีก ก็จะเป็นเจ็ดหมื่นล้าน (มันไม่เป็นการ-Ver ไปหรือ?)

นาคมีเรื่องราวหรือนิทานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง หลวงพระบางและเวียงจันทน์อยู่มาก ถ้าเราจะแปลศรีสัตตนาคว่านาคเจ็ดตัวอย่างนี้พอจะเข้าเค้าไหม ขอฝากไว้เพื่อพิจารณา ลานช้าง อาจจะหมายความเพียงว่า ทำเลที่อยู่ของช้าง ที่ปล่อยช้าง ที่เลี้ยงช้าง หรือที่ฝึกช้าง (บ่อนเฝิกแอบช้าง) เท่านั้นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดึงเข้าหาความหมายที่ว่ามีช้างเป็นล้าน ผมได้ลองค้นจากหนังสือของทางลาวที่พอจะหาได้เห็นเป็น ลานช้างก็มี ล้านช้างก็มี

ลานนา

ผู้ที่มีความเห็นว่าควรเป็นล้านนานั้น น่าจะดึงเข้าหาความหมายที่ว่า มีนาล้านไร่ (เช่นเดียวกับล้านช้าง) แต่ลานนาอาจมีความหมายเพียงเขตหรือพื้นที่ทำนาเป็นบริเวณกว้างขวาง (เป็นลาน) เท่านั้นก็ได้ ลานนากับลานช้างได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน (ลานนาก่อนลานช้างเล็กน้อย) ทำไมการตั้งชื่ออาณาจักรทางลานช้างจึงมีชื่อเป็นบาลีสันสกฤตด้วย แต่ลานนาไม่มี ชื่ออาณาจักรที่เป็นบาลีสันสกฤตที่พอจะใกล้เคียงกับชื่อลานนานั้นน่าจะได้แก่อาณาจักรศรีเกษตร แต่ความเห็นของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ ตามหนังสือที่อ้างมาแล้วนั้นว่าอยู่ทางลุ่มน้ำตอนใต้ของอิระวดี (ในพม่า) ผู้ตั้งชื่ออาณาจักรลานนาคงตั้งใจจะให้เป็นคำไทยแท้ๆ ส่วนลานช้างนั้น คงจะมีผู้คิดตั้งชื่อเป็นคำบาลีสันสกฤตในภายหลัง

เพราะความคิดเห็นดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ผมจึงสมัครใจที่จะเรียกและเขียนเป็น ลานช้าง-ลานนา มากกว่า ล้านช้าง-ล้านนา มีทางที่อาจจะสันนิษฐานได้อีกทางหนึ่งคือ สำเนียงลานของชาวหลวงพระบางแต่เดิมนั้นใกล้ไปทางล้าน จึงมีผู้พูดและเขียนเป็นล้านช้าง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2560