“สุมาอี้” สู้น้ำท่วม ล้อมเมืองศัตรูขณะทัพตัวเองถูกน้ำท่วม ไฉนจึงได้ชัย?

ภาพวาด “สุมาอี้” โดยศิลปินจีนในอดีต

ในประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ได้เกิดเหตุการณ์ “อุทกภัย” ท่ามกลางไฟสงครามขึ้นมากมายหลายสิบครั้ง ตามเนื้อความใน “จดหมายเหตุสามก๊ก” (ซานกว๋อจื้อ[1]) จากการบันทึกของ เฉินโซ่ว มีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ต้องชี้แจงก่อนว่า เรื่องราวในจดหมายเหตุสามก๊ก (โดยทฤษฎีแล้ว) เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ จึงมีความแตกต่างจาก “วรรณกรรมสามก๊ก” (ซานกว๋อเหยียนอี้[2]) ของ หลอกว้านจง ที่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยคุ้นเคยกันอยู่พอสมควร เพราะวรรณกรรมสามก๊ก คือ “เรื่องแต่ง” ที่ดัดแปลงมาจาก “เรื่องจริง” อีกทีหนึ่ง

เหตุการณ์น้ำท่วมที่ว่านี้ เกิดขึ้นเมื่อ กองซุนเอี๋ยน (กงซุนเยวียน) เจ้าแคว้นเลียวตั๋ง (เหลียวตง[3] ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อันเป็นอาณานิคมของวุยก๊ก (เว่ย[4]) ริคิดการใหญ่ สถาปนาตนเองเป็นเจ้า นามว่า “เอี้ยนอ๋อง” ประกาศเอกราชให้เลียวตั๋งเป็นรัฐอิสระ ไม่ขึ้นต่อราชวงศ์วุยอีกต่อไป

พระเจ้าโจยอย (เฉาญุ่ย) กษัตริย์องค์ที่ 2 ของราชวงศ์วุย จึงส่งสุมาอี้ (ซือหม่าอี้) แม่ทัพใหญ่ ให้เดินทางไกลไปปราบพยศ หลังจากก่อนหน้านี้พระองค์เคยส่งบู๊ขิวเขียม (ก้วนชิวเจี่ยน) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งวุยก๊กไปตีเมืองเลียวตั๋ง แต่พ่ายแพ้ไม่เป็นท่ากลับมา ทำให้กองซุนเอี๋ยนกำเริบ กล้าตั้งตัวเป็นเจ้าในที่สุด

สุมาอี้ใช้เวลาหลายเดือนยกทัพมาถึงริมฝั่งแม่น้ำเหลียว (เหลียวเหอ[5]) และเผชิญหน้ากับทัพใหญ่ฝ่ายเลียวตั๋งที่ออกมาคอยท่าอยู่ โดยตั้งค่ายเรียงรายริมฝั่งน้ำความยาวถึง 20 ลี้ นำโดยสองแม่ทัพ ปีเอี๋ยน (เปยเหยียน) กับเอียวจอ (หยางจั้ว)

จอมทัพแซ่สุมาเห็นฝ่ายเลียวตั๋งขนไพร่พลออกมามาก ก็รู้ทันทีว่าในเมืองเซียงเป๋ง (เซียงผิง[6]) เมืองหลวงของแคว้นเลียวตั๋ง คงเหลือกำลังอยู่เบาบาง จึงไม่ยอมเข้าปะทะโดยตรง แต่ได้ทำกลศึกหลอกล่อ ทำทีจะอ้อมไปตีเมืองเซียงเป๋ง ปีเอี๋ยนกับเอียวจอเห็นเข้าก็ตกใจ รีบถอนกำลังจะไปรักษาเมืองหลวง จนถูกทัพวุยซุ่มโจมตีแตกพ่ายถึง 2 ครั้ง โดยปีเอี๋ยนถูกฆ่าตายในที่รบ

กองซุนเอี๋ยนเห็นทหารตัวสู้ปัญญาสุมาอี้ไม่ได้ จึงสั่งถอยทัพกลับเข้าไปในเมืองเซียงเป๋ง แล้วให้ปิดประตูเมืองตั้งรับลูกเดียว ด้วยรู้ว่าสถานการณ์ขณะนี้กำลังจะเข้าฤดูฝน เป็นหน้าน้ำ เมื่อน้ำหลากลงมาจากเขา ไม่ช้าไม่นาน ทัพใหญ่จากลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง[7]) คงอยู่ไม่ได้ ต้องถอยกลับไปในฐานะผู้แพ้ เหมือนที่บู๊ขิวเขียมเคยแพ้มาแล้วเมื่อหน้าฝนปีกลาย

ฝ่ายสุมาอี้ก็มิได้กลัว สั่งทหารล้อมเมืองไว้ให้หนาแน่นทุกด้าน แต่แล้วสถานการณ์ก็ซ้ำรอยเดิม พอย่างเข้าวสันตฤดู ฝนเทลงมาทั้งวันทั้งคืนไม่มีหยุด ตกต่อเนื่องกว่า 1 เดือน

ทัพของสุมาอี้ตั้งอยู่ในที่ราบ จึงถูกน้ำไหลบ่าลงมาจากเขาสร้างความเดือดร้อนเป็นอันมาก น้ำนั้นท่วมสูงราว 60-90 เซนติเมตร เกือบถึงเอวทหาร ทัพหลวงจากลกเอี๋ยงจะหุงหาข้าวปลาก็ไม่ได้ จะนอนก็ไม่สะดวก กินอยู่ลำบากยากยิ่ง

ครั้นน้ำหลากลงมามากเข้า จางจิง นายทหารในทัพได้ไปรบเร้าสุมาอี้ ขอให้ย้ายค่ายจากที่ราบไปตั้งบนเขา ยอดแม่ทัพได้ยินเข้าก็โกรธ ตวาดว่าเราตีเมืองขบถจะแตกอยู่รอมร่อแล้ว ขืนย้ายหนีน้ำตอนนี้จะมิเสียการใหญ่หรือ ว่าแล้วจึงสั่งตัดหัวจางจิงเสีย นับแต่นั้นมาก็ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องย้ายค่ายอีกเลย

(ในวรรณกรรม คนที่ไปขอให้สุมาอี้ย้ายค่ายคือ ปวยเกง (เผยจิง) แม่ทัพขวา และซือเหลียน (โชวเหลียน) แม่ทัพซ้าย และเป็นซือเหลียนที่ถูกตัดหัว อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าชื่อของ “จางจิง” เป็นคนเดียวกับ “ปวยเกง” หรือ “เผยจิง” ในวรรณกรรม ซึ่งเป็นคนที่ไปขอให้ย้ายค่ายแต่ไม่โดนประหารหรือไม่ เพราะชื่อ “จิง” เหมือนกัน แต่คนละแซ่)

เหตุผลที่ทำให้สุมาอี้ตัดสินใจล้อมเมือง ใช้เกมยืดเยื้อกดดันศัตรู ทั้งๆ ที่ทัพตนเองถูกน้ำท่วมสาหัส ปรากฏชัดด้วยคำพูดของเขาที่กล่าวกับบรรดานายทหารวุยระหว่างทำศึก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความฉลาดปราดเปรื่องและช่ำชองในการสงคราม รวมทั้งความอดทนอย่างยิ่งยวด อันเป็นคุณสมบัติที่ยากจะหาใครเทียบเทียมได้ สุมาอี้กล่าวว่า

ณ เวลานี้ พวกขบถมีมาก เรามีน้อย พวกขบถหิว เราอิ่ม แม้น้ำจะท่วมและฝนจะตก เราจะล้มเลิกความพยายามไม่ได้ มิเช่นนั้น ที่เราทำมาทั้งหมดจะมีความหมายอะไร ตั้งแต่ข้าจากเมืองหลวงมา ข้าไม่เคยกลัวเลยว่าพวกขบถจะโจมตีเรา ข้ากลัวแต่ว่าพวกมันจะหนีรอดไปได้ต่างหาก ตอนนี้พวกมันเกือบจนตรอกแล้วเพราะเสบียงใกล้หมด แต่เรายังต้องล้อมมันไว้ต่อไป

การที่เรายึดเอาม้าและวัวควายของพวกมัน รวมทั้งจับตัวคนที่ออกจากเมืองมาหาฟืนไฟไปทำเชื้อเพลิง เท่ากับเป็นการบีบคั้นให้พวกมันอยากหนีเข้าไปใหญ่ การสงครามเป็นเรื่องของกลอุบาย เราต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การที่พวกขบถได้เปรียบเรื่องจำนวนทหาร ฝนก็ตก ทำให้พวกมันยังไม่ยอมแพ้ แม้จะหิวและสิ้นหวังเต็มที เราต้องแสดงให้พวกมันเห็นว่าเราจะไม่ยอมรามือ การปล่อยให้พวกมันได้ใจจากความได้เปรียบเพียงเล็กน้อย เป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด”

ภาพวาด “พระเจ้าโจยอย” กษัตริย์องค์ที่ ๒ ของราชวงศ์วุย

เมื่อทางเมืองหลวงทราบข่าวเรื่องน้ำท่วม บรรดาขุนนางต่างทูลแนะพระเจ้าโจยอยให้เรียกตัวสุมาอี้กลับมาก่อน ไว้สบโอกาสค่อยยกทัพไปอีกครั้ง ทว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้รู้จักสุมาอี้ดีก็ขนาดขงเบ้งเขายังไม่แพ้ มีหรือจะพ่ายต่อธรรมชาติเพียงเท่านี้ ว่าแล้วก็ทรงให้จัดเสบียงเพิ่มไปอีก

ระหว่างนั้นเอง ฝนที่ตกต่อเนื่องมาเป็นเดือนๆ ก็หยุดลง ท้องฟ้าเริ่มมีแสงแดดสาดส่องลงมา สุมาอี้จึงสั่ง
ทหารทำเนินดิน พาดบันได บุกข้ามกำแพงเข้าตีเมืองเซียงเป๋งทุกด้านพร้อมกัน ในเมืองนั้นขาดเสบียง ไพร่พลอดข้าวมานาน พอถูกโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวก็ไม่มีแก่ใจจะสู้รบ ที่ตายก็ตาย ที่ไม่ตายก็ยอมจำนนกันเป็นทิวแถว รวมทั้งเอียวจอ แม่ทัพที่เคยแพ้สุมาอี้มาแล้วก่อนหน้านี้

กองซุนเอี๋ยนเห็นหมดทางสู้ ยื้อต่อไปก็ตาย จึงส่งอองเกี๋ยน (หวังเจียน[8]) และลิวฮู (หลิวฝู่[9]) สองขุนนางออกมาเจรจาขอสวามิภักดิ์ โดยยื่นเงื่อนไขว่าขอให้ทัพวุยถอยออกไปก่อน แล้วตัวเขาจะยอมออกมามอบตัว ทว่าสุมาอี้หายอมไม่ กลับสั่งตัดหัวขุนนางทั้งสอง แล้วให้ทหารเลวกลับไปบอกกองซุนเอี๋ยนว่า เขาจะยอมรับเฉพาะ “การยอมแพ้แบบไม่มีเงื่อนไข” เท่านั้น

เจ้าแห่งเลียวตั๋งทราบเข้าก็คิดหนัก ตัดสินใจส่งคนไปเจรจากับสุมาอี้อีกครั้ง ยื่นข้อเสนอว่าให้ส่งตัวเชลยศึกทั้งหมด (ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมถึงตัวเขาเองและครอบครัว) ไปขึ้นศาลที่เมืองหลวง  จึงจะยอมจำนน สุมาอี้เห็นดังนั้นก็หมดความอดทน ประกาศก้องว่าถึงเวลานี้ เจ้ากำมะลออย่างกองซุนเอี๋ยนเหลือทางออกเดียว คือ “ความตาย” เท่านั้น

เมื่อพูดคุยไม่สำเร็จ กองซุนเอี๋ยนก็จำต้องไปตายเอาดาบหน้า โดยให้ทหารม้าเร็วนำทาง รอจนตกดึกแล้วจึงพาลูกชายคือ “กองซุนสิว” (กงซุนซิ่ว) รุดออกจากเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่ออกมาได้ไม่ทันไรก็โดนทหารวุยไล่ตามไปปลิดชีพเสียทั้งพ่อลูก เป็นอันปิดตำนานกบฏเลียวตั๋งลงอย่างถาวร แล้วสุมาอี้จึงให้ตัดหัวกองซุนเอี๋ยนส่งกลับไปถวายพระเจ้าโจยอย ณ เมืองลกเอี๋ยง กษัตริย์วุยจึงให้เอาหัวเสียบประจานไว้ไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไป

สุมาอี้ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือน ทำศึก 3 เดือน หยุดพักระหว่างทาง 3 เดือน เดินทางกลับอีก 3 เดือน รวมแล้ว 1 ปีเต็ม ปราบขบถกองซุนเอี๋ยนจนราบคาบ ขยายอาณาเขตวุยก๊กให้กว้างขวางครอบคลุมถึงคาบสมุทรเกาหลี ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหนือก๊กอื่นใด

ราชสำนักวุยส่งแม่ทัพใหญ่ 2 คน เดินทางไกลไปปราบขบถ 2 ปีซ้อน ทั้งคู่เจอสถานการณ์เดียวกัน ฝนตกเหมือนกัน น้ำท่วมเหมือนกัน คนหนึ่งชนะ แต่อีกคนแพ้ นั่นแปลว่ากระไร

นักการทหารจะยิ่งใหญ่ได้ ต้องรู้จักดึงธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน หากธรรมชาติไม่เป็นใจก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัว น้ำท่วมน้ำหลากหนักขนาดไหนก็ต้องอดทน โอกาสงามๆ มักอยู่หลังวิกฤตใหญ่ หากรอจนถึงวันฟ้าเปิด จักมีชัยชนะ…แน่นอน


บรรณานุกรม

ชัชวนันท์ สันธิเดช. สามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ ตอน คิดเป็นเห็นต่าง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ชวนอ่าน, 2553, น. 139-141.

______. อ่านสามก๊กอย่างแฟนพันธุ์แท้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ชวนอ่าน, 2552, น. 34-35.

พระคลัง (หน), เจ้าพระยา. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน). พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2536, น. 1339-1346.

http://en.wikipedia.org/wiki/Sima_Yi

http://en.wikipedia.org/wiki/Sima_
Yi’s_Liaodong_campaign

http://Kongming.net/nove

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 26 มกราคม 2562