ค้นร่องรอยปริศนามหาบุรุษ “อิมโฮเตป” (Imhotep) สามัญชนที่ยิ่งใหญ่แห่งอียิปต์โบราณ

พีระมิดขั้นบันไดออกแบบโดย อิมโฮเตป ภาพโดย Charlesjsharp (Own work, from Sharp Photography, sharpphotography) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

แม้จะเป็นสังคมที่มีโครงสร้างคล้ายกับพีระมิดมากกว่าสังคมอื่นๆ แต่อียิปต์โบราณกลับเป็นสังคมที่เปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียมทางโอกาส และความเท่าเทียมตามความสามารถ ทำให้เส้นทางการก้าวไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่สูงชันเกินไปสำหรับคนธรรมดาสามัญ เส้นทางชีวิตของ อิมโฮเตป ที่มีพื้นเพเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่สามารถก้าวข้ามฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย จนกลายเป็นหัวหน้านักบวชชั้นสูงของวิหารเทพเจ้ารา เมืองเฮลิโอโพลิส (Heleopolis) สถาปนิกหลวง และมหาเสนาบดี ตัวอย่างของอิมโฮเตปจึงสะท้อนภาพที่งดงามอย่างหนึ่งของสังคมอียิปต์โบราณ

รูปสลักขนาดเล็กของ อิมโฮเตป ภาพจาก wikipedia

คนในปัจจุบันได้ยินชื่อเสียงของอิมโฮเตป เพราะเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบพีระมิดแห่งแรกของโลกที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่าพีระมิดขั้นบันไดแต่มาจนถึงเวลานี้ ไม่มีใครรู้ว่า อิมโฮเตป ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 4 พันกว่าปีมาแล้ว เป็นคนมีพื้นเพความเป็นมาอย่างไร การพัฒนาด้านภูมิปัญญาและอัจฉริยะภาพของเขา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อิมโฮเตปเปรียบเหมือนคนๆ หนึ่ง ที่รวมเอาอัจฉริยะภาพของดาวินชี่,  ไมเคิล แอนเจโล, กาลิเลโอ และนิวตัน มารวมอยู่ในตัวเขาทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้ดูจะสูญหายไปหมดแล้วกับกาลเวลา

ทางเหนือของนครไคโร มีเสาหินโอบิลิสค์ (Obelisk) แท่งหนึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่น ในอดีต บริเวณแห่งนี้คือที่ตั้งของมหานครที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง คนอียิปต์โบราณเรียกชื่อเมืองนี้ว่า อิยูนู (Iunu) ต่อมาภายหลัง พวกกรีซเรียกว่า เฮลิโอโพลิส แปลว่านครสุริยะ นครแห่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนพีระมิดใด นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการบูชาเทพเจ้ารา การเรียนรู้ของบรรดานักปราชญ์อียิปต์ แบบเดียวกับเมืองอเล็กซานเดรียในยุคปโตเลมี อียิปต์ในยุคราชอาณาจักรเก่า การบูชาเทพเจ้าราคือศาสนาแห่งรัฐ เทพเจ้าราเปรียบเหมือน Godfather ของเหล่าเทพอื่นๆ หัวหน้านักบวชของวิหารเทพเจ้ารา จึงเป็นคนที่มีสติปัญหาฉลาดสุดของอียิปต์ หนึ่งในหัวหน้านักบวชนี้มีนามว่า อิมโฮเตป

เสาหินโอบิลิสค์ ตั้งอยู่เมืองในอดีตเรียกว่า เฮลิโอโพลิส ภาพจาก wikipedia [Didia (David Schmid)]

อียิปต์โบราณในยุคราชอาณาจักรเก่า พื้นที่สุสานหลวงของนครเมมฟิส (Memphis) ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า ซักการา บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของพีระมิดแห่งแรก เรียกว่าพีระมิดขั้นบันได คนในปัจจุบันรู้ว่า สถาปัตยกรรมของพีระมิดแห่งนี้ เกิดจากจินตนาการของอิมโฮเตป การขุดพบเศษกระเบื้องในบริเวณพีระมิดขั้นบันได ที่เป็นของฟาโรห์โจเซอร์ มีการบะรุชื่อของอิมโฮเตป แต่สุสานของอิมโฮเตปเอง ยังไม่ถูกค้นพบจนถึงทุกวันนี้

พีระมิดขั้นบันไดถือกันว่าเป็นก้าวกระโดดของอียิปต์โบราณด้านสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างที่ทำจากหิน บริเวณของพีระมิดประกอบด้วย ห้องฝังพระศพ วิหารพิธีศพ และวิหารบูชา ที่มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เหนือห้องฝังพระศพสร้างเป็นพีระมิดแบบขั้นบันได 6 ชั้นบริเวณอนุสรณ์สถานล้อมรอบด้วยกำแพงที่สร้างแบบกำแพงพระราชวังนักอียิปต์วิทยาเรียกอนุสรณ์สถานนี้ว่าพีระมิดคอมเพล็กซ์

ในหนังสือชื่อ The Traveler’s Key to Ancient Egypt  ผู้เขียนคือ John Anthony West เขียนไว้ว่า คนที่ไปเยือนซักการา ครั้งแรกเมื่อมองเห็นกำแพงที่ล้อมรอบพีระมิดขั้นบันได จะรู้สึกว่า ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างแบบอียิปต์ แต่มองดูแล้วคล้ายๆ กับอาคารของมหาวิทยาลัยในสเปน หรือในรัฐอริโซน่า แนวก่อสร้างที่ประณีตหมดจด สะท้อนความสมบูรณ์แบบของการก่อสร้าง ที่อีก 2 พันปีต่อมา พวกกรีซจะนำไปเป็นแบบอย่าง ในทางสถาปัตยกรรม

พีระมิดคอมเพล็กซ์ของฟาโรห์โจเซอร์ ถือเป็นความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ที่ไม่มีตัวอย่างในอดีตใดๆ ให้เป็นบทเรียน ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ เมื่อมนุษย์เราคิดสร้างรถยนต์ขึ้นมาครั้งแรก ก็เริ่มต้นสร้างรถยนต์ยี่ห้อ Porsche รุ่นที่แล้วเลยทันที 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2560