ความหมายของ จักรพรรดิราช พิธีกรรมและสัญลักษณ์ที่สำคัญ

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปรางมารวิชัย จากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในคติการปราบท้าวมหาชมพู สร้างในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒-๙๙ (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

พระจักรพรรดิราช ตามมติในพุทธศาสนา หมายถึง พระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือมวลมหากษัตริย์ทั้งหลายในสากลจักรวาล ซึ่งปรัมปราคติ (mythology) ในศาสนาพุทธยังได้อ้างไว้อีกด้วยว่า พระชาติสุดท้ายของผู้ที่สั่งสมบุญญาธิการมามากพอสำหรับการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จะสามารถเลือกได้ว่าจะเป็น พระบรมศาสดาเอกของโลกผู้เป็นเลิศในทางธรรม หรือพระจักรพรรดิราชผู้เป็นใหญ่ในทางโลก

นั่นหมายความว่า ถึงแม้โดยอุดมการณ์แล้ว พระพุทธศาสนาจะเน้นย้ำในทางธรรมมากกว่าทางโลกก็ตาม แต่ก็เป็นอุดมคติในศาสนาพุทธอีกเช่นกันที่ระบุให้ผู้เป็นใหญ่ในทางโลกอย่าง  พระจักรพรรดิราชก็มีความสูงส่งของสถานภาพไม่ต่างอะไรนักจากผู้เป็นใหญ่ในทางธรรมอย่างพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็คือพระจักรพรรดิราช

นิทานในพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งคือ ชมพูบดีวัตถุ (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชมพูบดีสูตร) เล่าถึงท้าวมหาชมพู ผู้ครองมหานครใหญ่ที่ชื่อ นครปัญจาละ พรั่งพร้อมไปด้วยอิสริยยศและบริวารยศ หาผู้ใดในชมพูทวีปเสมอเหมือนไม่ได้ จึงสำคัญพระองค์ผิดว่าไม่มีใครสามารถสู้รบกับพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นกรุงราชคฤห์เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ก็หมายจะสำแดงอิทธิฤทธิ์บังคับให้พระเจ้าพิมพิสารตกอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ แต่ก็ไม่สำเร็จด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าคุ้มครองไว้

พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระประธานภายในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในยุครัชกาลที่ ๓ ล้อกันกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ที่เขียนเรื่องการปราบท้าวชมพูบดี (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุดังนั้นก็หมายจะทรมานท้าวชมพูบดีให้สิ้นฤทธิ์ จึงเนรมิตพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชคือราชาเหนือราชาทั้งปวง เนรมิตวัดเวฬุวันวิหารให้เป็นพระนครหลวง ให้พระอินทร์จำแลงกายเป็นราชทูตไปทูลเชิญแกมบังคับให้ท้าวชมพูบดีมาเข้าเฝ้าเมื่อท้าวชมพูบดีได้ทอดพระเนตรเห็นนครของพระจักรพรรดิราชมั่งคั่งสมบูรณ์กว่าพระองค์ได้เข้าเฝ้าและทรงสดับพระราชบริหารต่างๆก็ละมิจฉาทิฐิยอมแพ้แก่ฤทธิ์ของพระจักรพรรดิราชพระพุทธองค์จึงคลายฤทธิ์ให้ท้าวชมพูบดีเห็นพระสรีระที่แท้จริงและแสดงธรรมเทศนาจนท้าวชมพูบดีบรรลุเป็นพระอรหันต์

พระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างขึ้นในยุคอยุธยา ก็สร้างขึ้นในคติเรื่องท้าวมหาชมพู เพราะเมื่อ พ.. ๒๒๙๘ ราชทูตลังกาได้นำพระภิกษุไทยที่ได้นำพระพุทธศาสนาแบบสยามวงศ์ไปสืบไว้ที่ลังกาทวีปกลับเข้าสู่อยุธยา ได้มีโอกาสเห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็เกิดสงสัยใจขึ้น จึงถามต่อเจ้าพนักงานที่ต้อนรับขับสู้ว่าเหตุไฉนสยามจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง คล้ายเทวรูป?

ความตรงนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ จึงรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปใน จดหมายของอัครเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครเสนาบดีลังกา ปี .. ๒๒๙๙ โดยมีใจความระบุว่า พระพุทธรูปทรงเครื่อง มีความปรากฏใน มหาชมพูบดีวัตถุ

สำหรับชาวอยุธยาแล้ว พระพุทธรูปจึงมีสถานะเป็นพระจักรพรรดิราชได้โดยไม่ใช่เรื่องแปลก และในทางกลับกันถ้าพระมหากษัตริย์ของพวกเขา จะมีสถานภาพไม่ต่างไปจากพระบรมโพธิสัตว์บ้างก็ไม่เห็นจะแปลกด้วยเช่นกัน

สัญลักษณ์แห่งพระจักรพรรดิราช

และก็เป็นปรัมปราคติในพระพุทธศาสนาอีกเช่นกันที่ระบุเอาไว้ว่าพระจักรพรรดิราชมีแก้ววิเศษทั้ง ๗ ประการ อันได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว รัตนะ (หรือที่ในอุษาคเนย์เรียกอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปว่า แก้วมณีโชติ) นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว โดยแก้วแต่ละประการก็มีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างกันไป คือ

พระจักรพรรดิราช แวดล้อมด้วยแก้ววิเศษทั้ง ๗ ประการ ศิลปะแบบอินเดีโบราณ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐-๔๐๐ จากเมืองชัคไคยเปตะ แคว้นอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย ถือเป็นภาพพระจักรพรรดิราชที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง (ภาพจากหนังสือ The Art of Ancient India, 1999)

จักรแก้ว ช้างแก้ว และม้าแก้ว เป็นสัญลักษณ์ของพระราชพาหนะ ที่จะนำเสด็จองค์พระจักรพรรดิไปยังสถานที่ต่างๆ โดยรวดเร็วตามพระทัยปรารถนา

แก้วมณีโชติ เป็นสัญลักษณ์แห่งการทำมาหากินของราษฎร

นางแก้ว เป็นที่จำเริญพระทัย

ขุนคลังแก้ว ทำให้เจริญพระราชทรัพย์

ส่วนขุนพลแก้วนั้น ทำให้สำเร็จซึ่งสรรพกิจทั้งปวง และก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่ต้องเป็นราชบุตรผู้ใหญ่แห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราชนั่นเอง

และก็ด้วยคุณลักษณะของแก้ววิเศษทั้ง ๗ ประการนี้เอง ที่ทำให้พระจักรพรรดิราชบรรลุถึงชัยชนะในสกลแผ่นดินทั่วทั้งสิ้น 

พิธีกรรมกับการสร้างจักรพรรดิราช

คติเรื่องพระจักรพรรดิราช ในพระพุทธศาสนา แรกปรากฏขึ้นในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.. ๒๗๕๓๑๑) แห่งราชวงศ์เมาริยะเป็นอย่างน้อยรูปสลักพระจักรพรรดิราชที่พบอยู่มากในศิลปะอินเดียโบราณโดยเฉพาะที่จำหลักขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะหมายถึงองค์พระเจ้าอโศกเองด้วย

แผ่นหินจำหลักรูปคชลักษมี ในวัฒนธรรมทวารวดี กำหนดอายุในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๔๐๐ พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ภายในพบภาพประกอบด้วยสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หรือเครื่องสูงต่างๆ ได้แก่ แส้ วัชระ พัดโบก ฉัตร ปลา และสังข์ จึงทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า หลุมตื้นๆ ที่ใจกลางแผ่นหินนี้อาจจะใช้รองรับหม้อน้ำ (ปูรณฆฏะ) ที่ใช้สำหรับทำพิธีอภิเษกเทพหรือเทพีในพิธีราชสูยะ หรือพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ก็ได้ (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

ดังนั้นพระจักรพรรดิราชจึงไม่ได้ล่องลอยอยู่เฉพาะในโลกของปรัมปราคติเท่านั้น แต่ถูกนำมาสวมทับเข้ากับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เพื่อผลประโยชน์การใดการหนึ่ง

และการที่ กษัตริย์ จะมีสถานะเป็น พระจักรพรรดิราช ได้นั้น จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้กษัตริย์มีฐานะประดุจดั่งพระเป็นเจ้า ซึ่งตามความหมายอย่างเก่า หมายถึง พระอินทร์ ผู้เป็นราชาเหนือหมู่เทพทั้งหลาย แล้วค่อยเกลื่อนกลายมาเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในยุคหลังพระเวทอย่างพระศิวะและพระวิษณุ อย่างที่คุ้นเคยกันมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีของพระวิษณุนั้น คัมภีร์ปุราณะบางฉบับถึงกับถือว่า พระจักรพรรดิราชนั้นเป็นอวตารหนึ่งของพระองค์เลยทีเดียว

พิธีกรรมดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกและรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละตำรา แต่อนุโลมเรียกรวมๆ กันว่าพิธีราชสูยะซึ่งได้แพร่หลายเข้าไปในหมู่ชนที่ยอมรับนับถือพระศาสนาจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธ หรือว่าพราหมณ์ก็ดี อาจกล่าวได้ด้วยว่า พิธีดังกล่าวเป็นต้นเค้าที่มาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปัจจุบันนั่นเอง

กลวิธีในการสร้างความชอบธรรมอีกประการหนึ่งที่มักปรากฏอยู่เสมอ คือการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเพื่อหลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้างเข้ากับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น

ปราสาทพนมบาแค็ง บนภูเขากลางเมืองพระนคร สถานที่หลอมวมพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เข้ากับพระอิศวร ตามคติเทวราชา หลังจากเสด็จสวรรคต (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

ในกรณีของจักรวรรดิเมืองพระนคร กษัตริย์ของพวกขอมโบราณจะสร้างเทวาลัยขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปเคารพที่พระองค์จะกลับเข้าไปรวมกับเทพเจ้าพระองค์นั้นเมื่อสวรรคตไปแล้ว โดยมักจะตั้งชื่อรูปเคารพนั้นโดยการผสมพระนามของพระมหากษัตริย์เข้ากับพระนามของเทพเจ้านั่นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพนมบาแค็ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของเมืองพระนคร ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ระหว่าง พ.. ๑๔๓๒๔๓) ผู้ทรงสร้างเมืองพระนคร โดยตัวปราสาทนอกจากจะสร้างอยู่บนยอดเขาที่กลางเมืองแล้ว ยังมีฐานปิระมิดอันเป็นสัญลักษณ์ของภูเขา มีนัยสะท้อนถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามคติความเชื่อในปรัมปราคติจากชมพูทวีป จึงอาจกล่าวได้ว่า เมืองพระนครเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ที่มีปราสาทพนมบาแค็งเป็นเขาพระสุเมรุจำลอง

คติดังกล่าวยังซ้อนทับอยู่กับเขาไกรลาส ที่ประทับของพระอิศวร (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระศิวะ) ซึ่งจำลองแทนด้วยศิวลึงค์อันเป็นรูปเคารพประธานของปราสาทแห่งนี้

และก็เป็นรูปศิวลึงค์นี้เองที่ทำหน้าที่หลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้าง คือพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เข้ากับพระอิศวร หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระนามของศิวลึงค์องค์นี้คือยโศธเรศวรตามพระนามของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาศิวลึงค์กับพระอิศวร

ศิวลึงค์องค์นี้ยังถูกสถาปนาเป็นเทวราชาหรือกมรเตง ชคต ราชะตามศัพท์เขมรโบราณ ซึ่งหมายถึงราชาของหมู่เทพเจ้าทั้งหลายซึ่งหมายความว่า เมื่อพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ สวรรคตแล้ว จะไปรวมเข้ากับพระอิศวร ในฐานะที่เป็นราชาของหมู่เทพเจ้าอีกด้วย

พระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ซ้าย) พระพุทธรูปพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขวา) ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพื่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นถึงความสืบทอดคติจากวัฒนธรรมขอมโบราณที่เมืองพระนคร (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

อนึ่งการหลอมรวมตัวเองเข้ากับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อนในวัฒนธรรมแม่แบบของพราหมณ์ในชมพูทวีป แต่เป็นคติพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่พบได้ทั้งในอารยธรรมขอม จาม ชวา และแม้กระทั่งในไทย

จักรพรรดิราชกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์

การสร้างความชอบธรรมของกษัตริย์ให้มีฐานะประดุจเทพเจ้านี้ แม้จะเริ่มต้นและสร้างเสริมด้วยพิธีพราหมณ์แต่ก็จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์บางอย่างในการสร้างสิทธิธรรมนั้นด้วยลักษณะอย่างนี้อาจเห็นได้ชัดจากเครื่องราชูปโภคต่างๆโดยเฉพาะเครื่องราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ และใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, ๒๕๓๐)

แนวคิดเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นมีปรากฏมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของจิวตากวน ชาวจีนที่เดินทางเข้าไปในเมืองพระนครหลวง (นครธม) ประเทศกัมพูชา เมื่อราว พ.. ๑๘๓๙ ได้กล่าวถึงพระแสงขรรค์ชัยศรีซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสยาม มาตั้งแต่ยุคอยุธยาและสืบเนื่องจนมาถึงยุครัตนโกสินทร์

จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ซึ่งได้มาจากวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย มีข้อความระบุว่า ผีฟ้าแห่งเมืองยโสธรปุระ (หมายถึงกษัตริย์แห่งนครธม หรือเมืองพระนครหลวง) ได้พระราชทานพระแสงขรรค์ชัยศรีพร้อมกับพระราชธิดาของพระองค์ ให้กับพ่อขุนผาเมือง พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับอำนาจของผีฟ้าแห่งเมืองยโศธรปุระ พร้อมๆ กับที่เชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองพระแสงขรรค์องค์นั้น เข้าอำนาจของอารยธรรมอันเรืองรองของเมืองพระนครหลวงนั่นเอง

ในส่วนของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พัดโบกวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน นับรวม ๕ ประการ จึงเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์และใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาธิเษก

เครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนองค์พระจักรพรรดิราช ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็เชื่อได้ว่ามีต้นเค้าที่มาอยู่ไม่มากก็น้อย


เชิงอรรถ

อ้างใน สายชล สัตยานุรักษ์. “จักรพรรดิราช ธรรมิกราชาธิราช กรุงรัตนโกสินทร์,” ใน จักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม. เอกสารวิชาการ กรุงเทพฯ ศึกษา วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐, . ๒๖.

อ้างใน เรื่องเดียวกัน, . ๒๕.

อ้างใน Jan Gonda. Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View. (Leiden : E. J. Brill, 1969), p. 123.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. พระพิราพ : พ่อแก่นาฏศิลป์และดนตรีการ ไม่ใช่ยักษ์เฝ้าสวน แต่เป็นพระอิศวร. (นครปฐม : วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๓).

Jan Gonda. Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View. p. 24.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2560

บทความเดิมชื่อ “จักรพรรดิราช : พิธีกรรม และสัญลักษณ์”