“เวียงแก้ว” จาก “คุ้มหลวง” สู่ “คอกหลวง” นครเชียงใหม่

เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2468

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง “คุ้มหลวง” และ “หอคำ” ในมณฑลภาคพายัพไว้ใน “บันทึกความเห็น เรื่อง คุ้มหลวง และหอคำที่เมืองน่าน” ว่า

“สถานที่ซึ่งเรียกตามภาษาไทยเหนือว่า ‘คุ้ม’ นั้น ตรงกับคำไทยใต้เรียกว่า ‘วัง’ คุ้มหลวง ก็คือวังหลวง ความหมายว่าวังอันเป็นที่สถิตของเจ้าผู้ครองเมือง

สถานที่ซึ่งไทยเหนือเรียกว่า ‘หอคำ’ นั้น ตรงกับคำไทยใต้เรียกว่า ‘ตำหนักทอง’ คือเรือนที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมือง สร้างไว้ในบริเวณคุ้มหลวง เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ

หอคำ เชียงใหม่
หอคำ เชียงใหม่

บรรดาเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพ ทุกเมืองย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมือง จะเป็นโดยผู้รับมฤดกเจ้าเมืองคนก่อนก็ตาม หรือมิได้เป็นผู้รับมฤดกก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ที่คุ้มหลวงทุกคน

แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้น เพราะแต่ก่อนมาสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจ จะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนก่อน ก็มักให้เอาไปปลูกถวายวัด (ยังมีปรากฏเป็นวิหารอยู่ที่เมืองเชียงใหม่หลายแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ใหม่ตามชอบใจของตน ว่าด้วยคุ้มหลวงประเพณีมีสืบมาดั่งนี้ 

หอคำนั้น ไม่ได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะเป็นเครื่องประดับเกียรติยศพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติยศพิเศษสูงกว่าเป็นเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ เช่น ทรงตั้งเป็น ‘พระเจ้า’ จึ่งสร้างหอคำขึ้นเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศนั้น แต่เมื่อถึงพิราลัยแล้ว ก็มักรื้อย้ายหอคำไปถวายวัดตามประเพณี…” [1]

ธรรมเนียมการสร้าง หอคำ นี้ มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า มีการสร้างหอคำประดับเกียรติยศมาแต่ครั้งราชวงศ์มังรายครองนครเชียงใหม่ แต่เมื่อนครเชียงใหม่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลากว่า 200 ปีนั้น ยังจะมีหอคำอยู่หรือไม่นั้น ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่กล่าวถึง  ในชั้นนี้คงพบหลักฐานแต่เพียงความตอนหนึ่งใน “บันทึกชี้แจงเรื่องคุ้มหลวงเมืองนครลำปาง” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้แจงต่อศาลในวันมาสืบที่วัง เมื่อ พ.ศ.
2469 มีความตอนหนึ่งว่า

“ในรัชกาลที่ 2 นั้น ทรงสถาปนาพระยานครลำปางดวงทิพให้มีเกียรติยศสูงขึ้นเป็นพระเจ้านครลำปาง เหมือนอย่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เคยทรงสถาปนาพระยาเชียงใหม่กาวิละขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่เคยสร้างเวียงแก้ว (คือทำนองเป็นอย่างวัง) ขึ้นประดับเกียรติยศ เมื่อพระยานครลำปางดวงทิพได้เป็นพระเจ้านครลำปาง ก็สร้าง ‘หอคำ’ (แปลว่าตำหนักทอง) ขึ้นประดับเกียรติยศในที่คุ้มหลวงนั้น” [2]

นับแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นธรรมเนียมในประเทศราชล้านนาว่า เมื่อเจ้านครคนใดได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราชมีเกียรติยศพิเศษเหนือกว่าเจ้านครคนอื่นแล้ว จะต้องสร้างหอคำขึ้นประดับเกียรติยศ

ดังเช่น คราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาสถาปนา พระยาน่านอนันตยศ ขึ้นเป็น “เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ” ให้มีเกียรติยศพิเศษสูงยิ่งกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นเพียงพระยาประเทศราชแล้ว

“…ใน พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช จึ่งสร้างหอคำขึ้น และให้แปลงชื่อคุ้มหลวงเรียกว่า ‘คุ้มแก้ว’ ให้วิเศษขึ้นตามเกียรติยศ…แต่เมื่อเจ้าสุริยพงศผริตเดชเป็นเจ้านครน่านเมื่อ พ.ศ. 2436 ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว และให้กลับเรียกว่าคุ้มหลวงเหมือนอย่างเจ้าเมืองน่านแต่ก่อนมา…” [3]

แต่ที่เมืองเชียงใหม่นั้นแปลกกว่าเมืองอื่น ด้วยไม่ปรากฏนาม “คุ้มหลวง” หรือ “คุ้มแก้ว” หากแต่เรียกที่พำนักของผู้ครองนครว่า “เวียงแก้ว” เหตุไฉนจึงเรียก คุ้มหลวง ว่า “เวียงแก้ว” ในชั้นนี้ยังไม่สามารถสืบหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ จึงได้แต่เพียงสันนิษฐานไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่า

เมื่อครั้งที่เชียงใหม่เสียเมืองให้แก่พม่า ในรัชสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ในจุลศักราช 920 (พ.ศ. 2101) นั้น พระเจ้าหงสาวดีบยินนอง (บุเรงนอง) คงมอบให้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ครองเมืองนครเชียงใหม่ต่อมา ดังมีความปรากฏในพงศาวดารโยนก ว่า

“ครั้นอยู่มา ท้าวพระยารามัญผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่กระทำการอุกอาจ มิได้อ่อนน้อมต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ กิตติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี จึงมีตราให้ข้าหลวงถือมาบังคับท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ ให้ฟังบังคับบัญชาพระเจ้านครเชียงใหม่ และน้อมนำคำรพต่อพระเจ้านครเชียงใหม่สืบไป” [4]

วิหารวัดพันเตา

ความในพงศาวดารโยนกตอนดังกล่าวย่อมเป็นพยานชี้ชัดว่า เมื่อเชียงใหม่ยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงหงสาวดีใน พ.ศ. 2301 นั้นแล้ว เมื่อพระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพกลับไปนั้นคงจะได้มอบหมายให้ท้าวพระยารามัญจำนวนหนึ่งคงอยู่ที่เมืองนครเชียงใหม่

ปัญหาที่ต้องขบคิดตามมาคือ ท้าวพระยารามัญผู้อยู่รั้งเมืองนครเชียงใหม่นั้นจะไปตั้งฐานที่พำนักอยู่ที่ใด ในเมื่อภายในกำแพงเมืองนครเชียงใหม่ก็มีวัดวาอาราม และบ้านเรือนไพร่ฟ้าประชาชนปลูกอยู่เต็มไปหมด จึงคงจะมีแต่ “ข่วงหลวง” ที่ฝั่งตรงกันข้ามคุ้มแก้ว ที่เป็นพื้นที่ว่างที่กว้างขวางพอจะจัดเป็นค่ายพักแรมของท้าวพระยารามัญที่เป็นผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่นั้นได้

ลายจำหลักไม้รูปนกยูงที่ซุ้มประตูหน้าวิหารวัดพันเตา

อนึ่งเมื่อคำนึงถึงความในพงศาวดารโยนกที่กล่าวว่า ท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ได้กระทำการอุกอาจมิได้อ่อนน้อมต่อพระเจ้านครเชียงใหม่นั้นแล้ว ก็ชวนให้เชื่อว่า ท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่ที่กระทำการอุกอาจในคราวนั้น คงจะได้จัดค่ายซึ่งเป็นที่พำนักในบริเวณข่วงหลวงให้เป็นประดุจเมืองที่มีค่ายคูประตูหอรบพร้อมสรรพ

ชาวนครเชียงใหม่ในเวลานั้นจึงคงจะเรียกค่ายพำนักของท้าวพระยารามัญผู้รั้งเมืองนครเชียงใหม่นั้นว่า “เวียงหน้าคุ้มแก้ว”

ครั้นพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เจ้านครพิงค์เชียงใหม่กับพระยากระมลผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดแข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดีเมื่อปีชวดฉศก จุลศักราช 926 (พ.ศ. 2107) นั้น พระเจ้าหงสาวดีได้ยกกองทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ และเอาตัวพระเมกุฏิฯ และพระยากระมลส่งไปไว้กรุงหงสาวดีแล้ว

พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ตั้งราชเทวีซึ่งเป็นเชื้อสายพระเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อนขึ้นเป็นราชินี ทรงนามว่า พระวิสุทธิเทวี ให้ครองเมืองเชียงใหม่ร่วมกับขุนนางรามัญผู้เป็นข้าหลวงกำกับเมืองเชียงใหม่แล้ว ข้าหลวงพม่าผู้กำกับเมืองนครเชียงใหม่ก็คงจะพำนักอยู่ที่เวียงหน้าคุ้มแก้วซึ่งเป็นค่ายพักของพม่าต่อมา ตราบจนนางพญาวิสุทธิราชเทวีถึงพิราลัยใน พ.ศ. 2121 คุ้มแก้วซึ่งคงจะปลูกสร้างด้วยไม้ก็คงจะถูกปล่อยให้ทิ้งร้างและผุพัง จนถูกรื้อถอนไปในที่สุด

จากนั้นมาคำว่า คุ้มแก้ว จึงน่าจะสูญหายไปจากนครเชียงใหม่ และคำว่า “เวียงหน้าคุ้มแก้ว” คงจะกร่อนลงเป็น “เวียงแก้ว” ในเวลาต่อมา    

พม่าคงครองเมืองนครเชียงใหม่ต่อมาจนถึงคราวที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพจากเมืองใต้ขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2317 ในคราวนั้นพม่าผู้รักษาเมืองนครเชียงใหม่ต่างก็แตกตื่นหลบหนีออกจากเมืองทางประตูช้างเผือก จนถึงกับเหยียบกันตายเป็นจำนวนมาก

เสร็จศึกคราวนั้นแล้วเมืองเชียงใหม่ก็ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลาช้านานกว่า 20 ปี ล่วงมาถึง พ.ศ. 2337 พระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้านครเชียงใหม่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2325 จึงได้คุมไพร่พลจากเวียงป่าซางมาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ แต่ในระหว่างนั้นคงจะได้สร้างบ้านแปลงเมืองพร้อมกับสร้างหอคำขึ้นประดับเกียรติยศไว้เป็นที่พำนัก ภายในพื้นที่ตอนเหนือของเวียงแก้วก่อน

ครั้นวันพฤหัสบดี เดือน 6 (เหนือ) ขึ้น 12 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2339) พระเจ้ากาวิละจึงพร้อมด้วยญาติพี่น้องบุตรหลาน แสนท้าวพระยาทั้งปวง พากันยกครัวเรือนจากเวียงป่าซางเข้ามาถึงเมืองนครเชียงใหม่

“…กระทำประทักษิณรอบนครแล้ว เวลาจวนเที่ยงก็เข้าประตูช้างเผือกอันเป็นประตูด้านทิศอุดร ไปพักพล ณ วัดเชียงมั่นอันเป็นที่ชัยภูมิแห่งนคร แรมในที่นั้นราตรีหนึ่ง  รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ  เวลาสายจึงเข้าสู่นิเวศน์สถานที่อยู่อันสร้างไว้ภายในนครนั้น…” [5] และพระเจ้ากาวิละคงได้พำนักอยู่ที่เวียงแก้วนั้นมาตราบจนพิราลัยใน พ.ศ. 2356

ต่อจากนั้นเมื่อ พระยาธรรมลังกา และ พระยาคำฟั่น ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาของพระเจ้ากาวิละ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเชียงใหม่ที่ 2 และ 3 สืบต่อกันมา พระยานครเชียงใหม่ทั้ง 2 คนก็คงจะได้ย้ายจากนิวาสสถานเดิมที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองนครเชียงใหม่ เข้ามาพำนักที่เวียงแก้วตามตำแหน่งต่อเนื่องกันมา ดังปรากฏความในพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่กล่าวไว้ในตอนต้น

แต่เมื่อ พระยาอุปราชพุทธวงศ์ บุตรนายพ่อเรือน ซึ่งเป็นหลานของเจ้านครเชียงใหม่ ๓ คนแรกได้เป็นผู้รั้งตำแหน่ง เจ้านครเชียงใหม่ที่ 4 ใน พ.ศ. 2368 แล้ว ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า

“เถิงสกราช 1187 ปีดับเล้า เดือน 9 เพ็งวัน 4 (20 พฤษภาคม 2368) [6] มหาขัตติยวงสาท้าวพระยาเสนาอามาจก็น้อมบ้านเวนเมืองหื้อท่านเป็นอิสระเป็นประธานเป็นเจ้าเป็นใหญ่แก่รัฐประชาราษฎร์บ้านเมืองทังมวล อยู่สถิตสำราญคุ้มวังเก่าแห่งท่านที่วันตกวัดสรีเกิดหน้าวัดพระสิงหราม [7] ได้ 3 ปี ก่อนหั้นแล” [8]

ครั้นพระยาอุปราชพุทธวงศ์ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น พระยากากวรรณาธิปะราชวชิรปราการ เจ้านครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2369 แล้ว พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์จึงได้กลับมาสร้าง “หอเทียม” ขึ้นใหม่ ทางทิศใต้ของหอคำภายในเวียงแก้ว แล้วคงพำนักอยู่ที่หอเทียมนั้นจนถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2389

ต่อมาในสมัยที่ พระยาอุปราชมหาวงศ์ บุตรของพระยาเชียงใหม่ธรรมลังกา เจ้านครเชียงใหม่ที่ 2 ได้ครองนครเชียงใหม่ ต่อจากพระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์ แล้ว ก็คงจะได้พำนักอยู่ที่ “หอเทียม” ที่พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์สร้างไว้

ตราบจนได้รับพระราชทาน “…เลื่อนยศขึ้นเป็นพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร์ นพีสินทรมหานคราธิสฐาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่…” [9] ใน พ.ศ. 2396 แล้ว คงจะย้ายจาก หอเทียม เข้าไปพำนักใน หอคำ ที่พระเจ้ากาวิละสร้างไว้แต่เดิม เพราะไม่พบหลักฐานใดๆ ที่กล่าวว่าพระเจ้ามโหตรประเทศได้สร้างหอคำขึ้นประดับเกียรติยศเลย

ทั้งในเวลาที่ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นพระเจ้านครเชียงใหม่นั้น ก็เป็นเวลาที่พระเจ้ามโหตรประเทศกำลังป่วย “…ครั้นเป็นเจ้าแล้วได้ 5 เดือนกับ 28 วัน ถึง ณ วันเดือนยี่ แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1216 ปีขาลฉศก[10] โรคกำเริบมากขึ้นก็ถึงพิราลัย…” [11]

แผนที่ เชียงใหม่ เวียงแก้ว หอพระแก้ว
แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 แสดงที่ตั้งเวียงแก้วและพื้นที่หอพระแก้วร้าง

ด้วยเวลาที่จำกัดเพียง 5 เดือนเศษดังกล่าว จึงคาดกันว่า วิหารวัดพันเตาที่จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่บันทึกไว้ว่า “…จุลศักราช 1237 (พ.ศ. 2418) ปีกุนสัปตศก…วันเสาร์ เดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ [12] ปกวิหารวัดพันเตากลางเวียงเชียงใหม่ ที่เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ หื้อรื้อเอาหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศไปสร้างฯ…” [13] นั้น คงจะมิใช่หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศเป็นแน่ แต่น่าจะเป็นหอคำที่พระเจ้ากาวิละสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2337

พยานสำคัญที่สนับสนุนสมมติฐานข้อนี้คือ แม้วิหารวัดพันเตาจะสร้างขึ้นเป็นอาคารทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกาตามฐานานุศักดิ์ ฝีมือช่างที่ปรากฏอยู่ที่วิหารวัดพันเตาในปัจจุบันยังเห็นได้ชัดว่าเป็นงานฝีมือที่ค่อนข้างหยาบ เสาไม้กลมก็เพียงแต่ถากให้พอเห็นว่าเป็นเสาทรงกลม ไม่มีการเกลาไม้ให้เรียบกลมดังเช่นเสาไม้ในวิหารวัดอื่นๆ ที่สร้างขึ้นในยามบ้านเมืองปกติสุข

นอกจากนั้นที่เหนือซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวิหาร ยังคงปรากฏผลงานจำหลักไม้ปิดทองประดับกระจกเป็นรูปนกยูงรำแพน อันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์พม่าอยู่เหนือตัวมอม สัตว์ในวรรณคดีล้านนา แสดงให้เห็นว่าเมื่อสร้างหอคำที่แปลงมาเป็นวิหารวัดพันเตานั้น แม้จะ “ฟื้นม่าน” หรือขับไล่พม่าไปจากนครเชียงใหม่ได้สำเร็จ แต่อิทธิพลของพม่าที่ครองนครเชียงใหม่มาช้านานกว่า 200 ปี น่าจะยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจชาวเชียงใหม่

หอคำนี้จึงยังคงปรากฏร่องรอยของพม่าในงานศิลปะสถาปัตยกรรมไทย อีกทั้งหอคำเมืองนครลำปางที่พระเจ้าลำปางดวงทิพได้สร้างขึ้น เมื่อคราวได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าประเทศราช ก็มีซุ้มประตูหน้าต่างที่น่าจะได้รับอิทธิพลไปจากซุ้มประตูหน้าต่างหอคำเมืองนครเชียงใหม่

จึงน่าจะสรุปได้ว่าวิหารวัดพันเตาที่เชื่อกันว่าเป็นหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ ก็คือหอคำของพระเจ้ากาวิละนั่นเอง

ภาพขยายแสดงพื้นที่เวียงแก้วและหอพระแก้วร้าง

อนึ่ง เมื่อพระยาเมืองแก้วสุริยวงศ์ บุตรพระเจ้ากาวิละ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ฯ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 6 สืบต่อจากพระเจ้ามโหตรประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2399 แล้ว เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ฯ ก็น่าจะพำนักอยู่ที่หอเทียมภายในเวียงแก้ว ตามเกียรติยศของเจ้าผู้ครองนครต่อมา

ครั้นได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2404 จึงได้สร้างหอคำขึ้นประดับเกียรติยศในพื้นที่หอเทียม ซึ่งอยู่ด้านใต้ของพื้นที่หอคำของพระเจ้ากาวิละเวียงแก้วภายในเวียงแก้ว ดังมีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่ว่า เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2413 แล้ว

“ปีมะเมียโทศก วันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ [14] เจ้าอุปราช (อินทนนท์) [15]ได้สร้างวิหารหลวงวัดกิตติ (ทิศใต้วัดเจดีย์หลวง) เอาโรงพระเจ้ากาวิโรรสฯ มาสร้าง

ฯลฯ

จุลศักราช 1237 (พ.ศ. 2418) ปีกุนสัปตศก…วันเสาร์ เดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ [16] ปกวิหารวัดพันเต่ากลางเวียงเชียงใหม่ ที่เจ้าอินทวิไชยานนท์ หื้อรื้อเอาหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศไปสร้าง ฯ

ฯลฯ

จุลศักราช 1239 (พ.ศ. 2420) ปีฉลูนพศก ปกวิหารวัดแสนฝาง ข้างประตูท่าแพชั้นนอก ข้างใน เจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ให้รื้อเอาโรงเจ้ากาวิโรรสไปสร้าง…

ฯลฯ

ปีมะแมเบญจศก วันเสาร์ เพ็ญเดือน 5 พระเจ้าชีวิตอินทวิไชยานนท์ทำบุญฉลองวิหารวัดเชียงยืน  เหนือเวียงนครเชียงใหม่ ที่ได้รื้อเอาโรงพระเจ้ากาวิโรรสไปสร้าง ฯ

ฯลฯ

จุลศักราช 1248 (พ.ศ. 2429) ปีจออัฐศก วันอาทิตย์ เพ็ญเดือน 7 [17] พระเจ้าชีวิตอินทวิไชยานนท์ทำบุญฉลองวิหารวัดเจดีย์หลวงแห่งหนึ่ง ฉลองพระวิหารวัดพันเต่ากลางเวียงที่รื้อเอาหอคำ ของพระเจ้าชีวิตมโหตรประเทศมาสร้างแห่งหนึ่ง, วิหารวัดสบขมิ้นแห่งหนึ่ง, วิหารวัดหอธรรมแห่งหนึ่ง…” [18]

ครั้นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชอินทนนท์ ซึ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้านครเชียงใหม่ที่ 7 ได้สร้าง คุ้มหลวง แห่งใหม่ขึ้นที่ข่วงหลวงหน้าศาลาสนาม ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งตึกยุพราชและสนามของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ฯ ในปัจจุบัน

เวียงแก้วซึ่งได้เป็นที่พำนักของเจ้านครเชียงใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2339 จึงสิ้นสภาพการเป็น คุ้มหลวง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 และคงถูกปล่อยให้รกร้างมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี จนถึงสมัยที่ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ สืบต่อจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ใน พ.ศ. 2444 เวียงแก้วก็คงจะถูกปล่อยให้รกร้างต่อมา จนเกิดน้ำท่วมที่ว่าการมณฑลพายัพที่ริมน้ำปิง เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2448 เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ ต้องย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพเข้ามาเปิดทำการร่วมกับที่ว่าการเค้าสนามหลวงที่กลางเวียง

และเมื่อ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้ยกที่ดินฝั่งตรงข้ามที่ว่าการเค้าสนามหลวง ซึ่งในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ระบุว่าเป็น “หอพระแก้วร้าง” ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างศาลารัฐบาลมณฑลพายัพแทนอาคารเดิมที่ริมน้ำปิง

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลพายัพตามประกาศตั้งผู้บัญชาการเรือนจำลงวันที่ 26 มิถุนายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) ก็คงจะได้ “…ปรึกษากันกับเจ้าอินทรวโรรส เอาที่เวียงแก้วสร้างเรือนจำสำหรับเมืองเชียงใหม่…” [19] ทั้งนี้คงเป็นเพราะเวลานั้นคงจะมีแต่ที่ดินบริเวณเวียงแก้วเพียงผืนเดียวที่เป็นที่รกร้างขนาดใหญ่พอจะจัดสร้างเป็น “คอกหลวง” หรือ “เรือนจำมณฑลพายัพ” ได้ โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน อันจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

สอดคล้องกับความในลายพระหัตถ์ที่ นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จฯ ตรวจราชการมณฑลพายัพในตอนปลาย พ.ศ. 2463 ที่ว่า

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อครั้งเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ

“ตัวเมืองเชียงใหม่นี้เป็นที่ใหญ่โตและภูมถานดียิ่งนัก สมควรที่จะเป็นเมืองใหญ่แห่งพระราชอาณาจักร์ฝ่ายเหนือ มีบ้านเรือนโรงร้านตึกห้างอย่างดีเกือบจะเผลอไปว่าเป็นกรุงเทพฯ ได้บ้างทีเดียว มีแปลกอย่างหนึ่งที่บ้านเมืองที่ครึกครื้นมาอยู่ริมลำแม่น้ำทั้งหมด

ส่วนภายในกำแพงที่เขาเรียกกันที่นี่ว่าในเวียงออกจะกลายเป็นป่า มีแต่วัดมากกว่าอย่างอื่น มีที่รกๆ ทิ้งอยู่เปล่าๆ เป็นอันมาก ที่ยังเป็นที่คนอยู่ได้ติดอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุที่มีศาลารัฐบาลและสถานที่ราชการบางอย่างตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ทำให้คนต้องไปมา ก็มีราษฎรตั้งอยู่ขายข้าวขายของบ้าง แต่ร่วงโรยเสียเต็มทีความรู้สึกเดี๋ยวนี้ที่เรียกว่าในเวียงหน้าตาเป็นนอกเวียง ส่วนตัวเมืองจริงๆ อยู่ข้างนอกทั้งนั้น” [20]

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางราชการกำหนดให้เรือนจำในหัวเมืองมีที่ตั้งอยู่ใกล้ศาลารัฐบาลมณฑลหรือศาลากลางจังหวัด ก็เพราะ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตั้งให้ข้าหลวงเทศาภิบาล, แลผู้ว่าราชการเมือง, เปนผู้บัญชาการเรือนจำในมณฑล, เมือง, ที่ได้บังคับบัญชานั้น แลให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่ได้ตั้งนี้ มีอำนาจเต็มตามพระราชบัญญัติเรือนจำ ร.ศ. 120 แลกฎข้อบังคับเรือนจำซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งขึ้นไว้”[21]

ประกอบกับ “ข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้เมื่อ ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ได้มีบทบัญญัติกำหนดหน้าที่ของผู้บัญชาการเรือนจำไว้ว่า

“น่าที่ผู้ว่าราชการเมืองบังคับการทั่วไป

ข้อ 1. ผู้ว่าราชการเมือง เปนผู้บังคับการคุมขังนักโทษในตะราง บรรดามีในจังหวัดเมืองนั้นทั่วไป เมื่อผู้ว่าราชการเมืองติดราชการอย่างอื่นจะให้ปลัดทำแทนก็ได้ แต่ผู้ว่าราชการเมืองต้องเปนผู้รับผิดชอบด้วย

ตรวจตะรางเนืองๆ

ข้อ 2. ผู้ว่าราชการเมืองต้องหมั่นไปตรวจตะรางที่คุมขังนักโทษในเมืองนั้นเนืองๆ อย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 7 วัน ต่อครั้ง

ตรวจกลางคืนบ้าง

ข้อ 3. ในการที่ผู้ว่าราชการเมืองไปตรวจตะรางนั้น ต้องมีเวลาจู่โจมไปตรวจในกลางคืนเพื่อให้รู้เห็นอาการที่เจ้าพนักงานประจำรักษาประการใดด้วย

พบกับตัวนักโทษ

ข้อ 4. ในเวลาที่ผู้ว่าราชการเมืองไปตรวจตะรางในเวลากลางวันนั้น ควรตรวจให้พบกับตัวนักโทษบรรดามีถ้วนทุกคน และควรไต่ถามฟังคำร้องทุกข์ของนักโทษ ที่จะร้องเรียนขอความอนุเคราะห์ประการใดโดยสมควร” [22]

แผนที่ เชียงใหม่
แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2466 ของมิชชันนารีอเมริกัน
เพรสไบทีเรียน

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลและผู้ว่าราชการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลและเมือง ต้องหมั่นตรวจตราเรือนจำในบังคับบัญชานั้น คงจะสืบเนื่องมาจากการที่ระบบงานราชทัณฑ์ของไทยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงดำเนินไปตามแบบจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ครั้นรัฐบาลชาติมหาอำนาจตะวันตกส่งอัครราชทูตผู้แทนเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เพื่อเปิดการค้าขายกับประเทศสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการหยิบยกเรื่องระบบงานราชทัณฑ์ของไทยขึ้นเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ในการขอกำหนดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไว้ในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีว่าด้วยการค้าขายและการเดินเรือ ซึ่งรัฐบาลสยามก็ได้จำต้องยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ ๘

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัดระเบียบงานราชทัณฑ์และการเรือนจำของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเรือนจำสมัยใหม่แบบเรือนจำอังกฤษขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ เรียกว่า “กองมหันตโทษ” เป็นที่คุมขังนักโทษที่มีระวางโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป กับ “กองลหุโทษ” เป็นที่คุมขังนักโทษที่ต้องระวางโทษน้อยกว่า 6 เดือน

ส่วนเรือนจำในหัวเมือง พบหลักฐานว่า เรือนจำที่เมืองระนองซึ่งสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2434 นั้น “ตึกที่ขังนักโทษทำเป็นแบบอย่างอังกฤษ ห้องขังซ้อนกันเป็น 2 ชั้น เป็น 2 แถว กลางเป็นช่องโปร่งตลอดแต่พื้นถึงหลังคา ชั้นล่างห้องขังเป็นห้องสำหรับขังห้องละคน แต่ชั้นบนขังได้ห้องละ 20 คน” [23]

ส่วนเรือนจำที่นครเชียงใหม่ที่ ปีแอร์ โอร์ต (Pierre Orts) ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียม ซึ่งเดินทางขึ้นไปเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่นายทหารไทยวิวาทกับชาวอเมริกันได้ไปตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. 2440 ยังคงสภาพเป็น “คุก” แบบโบราณ ดังที่ พิษณุ จันทร์วิทัน ได้ถอดความจาก “Pierre Orts’s diaries” ไว้ในชื่อ “ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง” ว่า

“ในเชียงใหม่มีเรือนจำ 2 แห่ง

1. เรือนจำของศาลสถิตย์ยุติธรรม สำหรับกักขังบุคคลที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดสถานเบาและถูก
จำคุกในระยะสั้น

2. เรือนจำใหญ่ สำหรับนักโทษคดีสำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมมหาดไทย 

วันนี้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมชมเรือนจำใหญ่ ได้เห็นสภาพอันน่าสังเวชเป็นอย่างยิ่ง เรือนจำแห่งนี้ไม่มีหลังคา และพื้นก็เฉอะแฉะไปด้วยโคลนหนาประมาณ 2-3 นิ้ว ต้องเดินไปบนสะพานไม้ที่ทอดไว้สำหรับเดินจากประตูใหญ่เข้าไปในตัวเรือนจำ ภายในเรือนจำก็มืดและมีเหล่านักโทษผู้เคราะห์ร้ายประมาณ 20 คน ยืนอยู่บนพื้นอันเฉอะแฉะด้วยโคลนสีดำ

เมื่อเข้าไปภายในก็จะมีสภาพเหมือนโรงเก็บสินค้า มีนักโทษใส่ขื่อคาคุกเข่าอยู่บนพื้นไม้ บ้างก็สูบบุหรี่ บ้างก็นั่งห้อยแขนอยู่ โรงเรือนมี 3 ประตู ประตูแรกเป็นที่จองจำนักโทษที่ถูกจำคุกในระยะสั้น ประตูที่สองเปิดออกไปสู่ที่คุมขังนักโทษฉกรรจ์ และประตูที่สามเป็นประตูห้องจำคุกนักโทษหญิง ห้องขังทั้งหมดแทบจะไม่มีอากาศหายใจ มีแสงสว่างก็เพียงที่ลอดเข้าทางรอยแตกของผนังเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอันสุดจะทนทานอยู่ทั่วไป เราต้องคลานเข้าไปทางประตูที่จะเข้าไปสู่ห้องขังนักโทษหญิงซึ่งสูงเพียงแค่ 60 เซนติเมตรเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่าสถานที่เช่นนี้ เปรียบไม่ได้แม้กับคอกหมูของเราชาวยุโรป เพราะสัตว์เลี้ยงคงอาศัยอยู่ไม่ได้” [24]

การปรับปรุงเรือนจำทั่วประเทศได้ทยอยดำเนินการมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนล่วงสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสยามมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลสยามก็ได้เปิดการเจรจาขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

โดยได้แสดงให้ชาติมหาอำนาจเหล่านั้นได้ตระหนักชัดว่า รัฐบาลสยามได้ดำเนินการปรับปรุงเรือนจำทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานมาเป็นลำดับแล้ว ดังมีพยานปรากฏในลายพระหัตถ์ที่ นายพลตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนครราชสีมา กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จฯ ตรวจราชการมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2463 ว่า

“เรือนจำที่เชียงใหม่งดงามมาก จนถึงรู้สึกว่าน่าเสียดายที่เป็นเรือนจำ ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลน่าจะเหมาะกว่า รูปร่างนั้นคือเป็นตึกทุกแห่ง คล้ายกับเรือนจำที่น่าน แต่มีมากกว่าหลายหลัง พอโผล่เข้าไปในประตูก็เห็นตึกเรียงกันไป 2 แถว เป็นหลังๆ ไป มีถนน สนาม แลสวนอยู่กลางท่วงทีคล้ายโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่ถนนราชดำเนิน

ตึก 2 แถวนี้เป็นที่ขังนักโทษทั้งนั้น เป็นห้องๆ ไปทั้ง 2 ชั้น ประตูน่าต่างมีกรงเหล็กตลอด แต่ภายในห้องสบายดีมาก นอกจากนี้มีโรงงานที่สร้างเป็นรูปศาลาใหญ่โต โรงเลี้ยงอาหาร โรงครัว ล้วนเป็นของถาวรทั้งนั้น มีตึกที่พยาบาลนักโทษที่ป่วยอีกแห่งหนึ่ง” [25]

นอกจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม ยังได้กล่าวถึงภารกิจ “รับแขกเมือง” ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไว้ในหนังสือ “โลกนี้คือละคร” ว่า “จำได้ว่านานมาแล้วพระยากัลยาณไมตรีหรือ ดร. ฟรานซิส บี. แซยร์มาเยือนเมืองไทย ท่านเจาะจงขอไปดูคุก” [26] เพราะ “เจ้าคุณ
กัลยาณ์ ท่านเคยต่อสู้เพื่อเอกราชทางการศาลของไทย
จึงอยากดูคุกไทยว่าเจริญขึ้นกว่าเมื่อปี 2460 ไหม[27]

อนึ่ง ที่เข้าใจกันไปว่า เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ได้ยกพื้นที่เวียงแก้วให้เป็นที่ตั้งเรือนจำมณฑลพายัพนั้น 
เมื่อตรวจสอบความใน “พระดำรัสตรัสเล่า” ที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเล่าประทาน คุณแสงเดือน ณ เชียงใหม่ กลับพบความว่า

“‘เวียงแก้ว’ เป็นเนื้อที่สี่เหลี่ยมจดถนนทุกทิศเป็นมรดกของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่
ที่ 8 เจ้าอินทวโรรสฯ ได้ยกทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ในด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือ เจ้าอินทวโรรสฯ ได้จัดทำเป็นสวนสัตว์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้ยกให้ข้าบริพาร คือ พระญาติๆ หลานเหลน และเหล่าเสนาของท่าน เช่น หมื่น ท้าว พญาทั้งหลายในสมัยนั้น” [28]

ภายหลังยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรือนจำมณฑลพายัพก็ได้แปรสภาพมาเป็นเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อมีการย้ายเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ออกไปอยู่ในที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ริมถนนโชตนา เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้แปรสภาพมาเป็นทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนพื้นที่ที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์จัดเป็นสวนสัตว์ ก็กลายสภาพมาเป็นบ้านพักข้าราชการส่วนราชการคลังจังหวัดเชียงใหม่ กับเป็นคลังสินค้าของสำนักงานยาสูบเชียงใหม่ และพื้นที่ด้านทิศตะวันออกที่ยกให้บริพาร ก็คงเป็นบ้านพักอาศัยของเชื้อวงศ์เจ้านายและวงศ์วานว่านเครือของเหล่าบริพารในเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์สืบมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.32/1 เรื่อง ตึกหอคำ นครน่าน (.. 2472-2482).

[2] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.46/11 เรื่อง บันทึกชี้แจงเรื่องคุ้มหลวงเมืองนครลำปาง (ซึ่งชี้แจงต่อศาลในวันมาสืบที่วัง) (.. 2469).

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.32/1 เรื่อง ตึกหอคำ นครน่าน (.. 2472-2482).

[4]  พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก. . 399.

[5] เรื่องเดียวกัน, . 461.

[6] สอบทานกับปฏิทินสำหรับค้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติ ของกรมวิชชาธิการ กระทรวงธรรมการแล้ว  พบว่า วันเพ็ญเดือน 9 (เหนือ) ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1187 นั้น ตรงกับวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.. 2368

[7] คาดว่าน่าจะอยู่ในบริเวณที่แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.. 2436 ระบุว่าเป็นคุ้มของเจ้าแสนฟอง

[8] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. . 210-211.

[9] พงศาวดารโยนก, . 492.

[10] ตรงกับวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.. 2397

[11] พงศาวดารโยนก, . 492.

[12] ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.. 2418

[13] สงวน โชติสุขรัตน์. “จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่,” ใน ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 1. . 623.

[14] สอบทานกับปฏิทินสำหรับค้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติ ของกรมวิชชาธิการ กระทรวงธรรมการแล้ว พบว่า วัน เดือน 8 เหนือ (เดือน 6 ใต้) ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะเมียโทศก นั้น ตรงกับวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.. 2413 หาใช่วันพฤหัสบดีดังที่จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่บันทึกไว้

[15] ต่อมาในปี พ.. 2416 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น เจ้าอินทรวิไชยานนท์ฯ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 7 และได้เลื่อนเป็นพระเจ้าอินทรวิไชยานนท์ฯ พระเจ้านครเชียงใหม่ ในปี พ.. 2425

[16] ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.. 2418

[17] ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.. 2429

[18] ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 1, . 622-627.

[19] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.32/1 เรื่อง ตึกหอคำ นครน่าน (.. 2472-2482).

[20] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. .6 .27/10 เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จมณฑลพายัพ (31 ตุลาคม 2463-29 มีนาคม 2467).

[21] “ประกาศตั้งผู้บัญชาการเรือนจำ,” ใน ราชกิจจานุเบกษา 20 (5 กรกฎาคม 122), . 198.

[22] “ข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง,” ใน ราชกิจจานุเบกษา 16 (4 กุมภาพันธ์ 118), . 635-646.

[23] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.. 128. . 43.

[24] พิษณุ จันทร์วิทัน (แปล). ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. . 90-91.

[25] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. .6 .27/10 เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จมณฑลพายัพ (31 ตุลาคม 2463-29 มีนาคม 2467).

[26] วิษณุ เครืองาม. โลกนี้คือละคร. . 238.

[27] เรื่องเดียวกัน.

[28] แสงดาว ณ เชียงใหม่. “พระดำรัสตรัสเล่า”, พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี 26 สิงหาคม 2416-9 ธันวาคม 2476. . 31.

บรรณานุกรม :

กรมวิชชาธิการ กระทรวงธรรมการ. ปฏิทินสำหรับค้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติ แต่ปีขาลจัตวาศก ร.. 1 .. 2325 .. 1144 ถึงปีวอกจัตวาศก ร.. 151 .. 2475 .. 1294. (พิมพ์ครั้งที่สอง). พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2474.

ข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง,” ใน ราชกิจจานุเบกษา 16 (4 กุมภาพันธ์ 118), . 635-646.

ประกาศตั้งผู้บัญชาการเรือนจำ,” ใน ราชกิจจานุเบกษา 20 (5 กรกฎาคม 122), . 198.

ประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516.

พิษณุ จันทร์วิทัน (แปล). ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สายธาร, 2546.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.. 128. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฉลองพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 82 พรรษา 24 พฤศจิกายน 2550). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

วิษณุ เครืองาม. โลกนี้คือละคร. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : มติชน, 2554.

สงวน โชติสุขรัตน์. “จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่”, ใน ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 1. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2515.

แสงดาว ณ เชียงใหม่. “พระดำรัสตรัสเล่า”, พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี  26 สิงหาคม 2416-9 ธันวาคม 2476. (อนุสรณ์ทำบุญสตมวาร (100 วัน) วันถึงแก่กรรม เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่).  เชียงใหม่ :  โรงพิมพ์กลางเวียง,
2517.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงมหาดไทย ร.6 .27/10 เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จมณฑลพายัพ (31 ตุลาคม 2463-29 มีนาคม 2467).

______. เอกสารกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี สร.0201.32/1 เรื่อง ตึกหอคำ นครน่าน (.. 2472-2482).

______. เอกสารส่วนบุคคล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สบ.2.46/11 เรื่อง บันทึกชี้แจงเรื่องคุ้มหลวงเมืองนครลำปาง (ซึ่งชี้แจงต่อศาลในวันมาสืบที่วัง) (.. 2469).

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : หจก. สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลเวอร์ม
บุคส์), 2543.

http://www.correct.go.th/correct2009/index.php?action=
showcontent&c_id=3


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2560