หมากรุกไทย มาจากไหน? ปริศนาความเป็นมาและหลักฐานแรกที่เอ่ยถึง

ยักษ์ เล่นหมากรุก รามเกียรติ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หมากรุกไทย
ยักษ์เล่นหมากรุก ในห้องที่ 129 ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ บริเวณรอบระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หมากรุกไทย มาจากไหน? ปริศนาความเป็นมาและหลักฐานแรกที่เอ่ยถึง

หมากรุกเป็นกีฬาในร่มชนิดหนึ่ง ใช้กระดานทำเป็นช่องหรือตา จำนวน 8 ตา และลูกหมากรุกอีกฝ่ายละ 16 ตัว เล่นกันตามกฎการเล่นหรือการเดิน จนกว่าจะแพ้ชนะหรือเสมอกันในที่สุด หมากรุกในอดีตถือกันว่าเป็นกีฬาของคนชั้นสูงในราชสำนัก ต่อมาจึงค่อยๆ แพร่ขยายออกไปสู่สามัญชนทั่วๆ ไป

ไม่มีเกมกีฬาในร่มชนิดใดที่ผู้คนชื่นชอบหลงใหลและเล่นกันทั่วทุกมุมโลกเท่าหมากรุก จนมีคำพูดข้อคิดติดปากในหลายชาติหลายภาษา เช่น ชาวรัสเซียพูดถึงกีฬาชนิดนี้ว่าหมากรุกเป็นเสมือนมหาสมุทร ที่มวลเหล่าแมลงใช้ดื่มกินและช้างลงอาบเล่นชาวเยอรมันพูดกันติดปากว่าไม่มีคนโง่คนไหนจะเล่นหมากรุกเป็น แต่คนที่เล่นเป็นก็ใช่ว่าจะฉลาดไม่ และภาษิตเก่าของชาวอังกฤษที่ยังคงรู้จักกันดีคือคุณอาจน็อค (เอาชนะ) คู่ต่อสู้ด้วยการตีหรือทุ่มด้วยกระดานหมากรุก แต่นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าคุณเป็นคนเล่นหมากรุกเก่ง

ชาวไทยเรารูจั้กและนิยมชมชอบหมากรุกกันมาเป็นเวลานาน จนบางเสี้ยวส่วนของรูปแบบและกฎเกณฑ์การเล่นได้มีอิทธิพลฝังลึกลงในความรู้สึกของสังคมไทยหลายๆ ด้าน เช่น คำปริศนาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าอะไรเอ่ย บางสำนวนก็เกิดจากการผูกหรือคิดขึ้นมาจากการเล่นกีฬาในร่มชนิดนี้

เป็นต้นว่าอะไรเอ่ย สี่มุมสี่แง่ สี่แคร่จักรวรรดิ ผู้คนแออัด ฆ่าฟันกันตาย เหลือแต่นาย 2 คนที่เป็นสำนวนคอยเตือนสติก็มี เช่นเดินไม่ดูตาม้าตาเรืออันมีความหมายว่าจะคิดจะทำอะไรต้องรอบคอบไม่ประมาท ในสังคมชนบทของหนุ่มๆ ใจร้อนสมัยโบราณ ตัดสินคุณค่าของหมากรุกลงไปในทันทีว่าเล่นหมากรุกหัวแตก เล่นหมากแยกควายหาย

เกร็ดขำขันที่เล่าสู่กันฟังอยู่ในวงการนี้ก็มีอยู่มาก เช่น เล่ากันมาว่า หลวงตารูปหนึ่งเพลิดเพลินกับเกมชนิดนี้จนข้ามวันข้ามคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน พอฟ้าสางมองเห็นลายมือก็ละวงหมากรุกออกบิณฑบาตตามกิจวัตร พอถึงหมู่บ้านก็หยุดยืนเฉยไม่ได้เปิดฝาบาตร หญิงสาวนางหนึ่งเห็นหลวงตายืนซึมสะลึมสะลืออยู่จึงขยับขันข้าวพร้อมกล่าวขึ้นว่านิมนต์เปิดบาตรเถิดเจ้าค่ะหลวงตาซึ่งอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ ยังเคลิ้มครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่กับเกมการเล่นการพันตูกันมาตลอดทั้งคืน พอได้ยินคำว่าเปิด ก็สะดุ้งเล็กน้อยก่อนตอบเสียงดุๆ ว่าเปิดไม่ได้หรอกสีกาเขากดอยู่

ยังมีนิทาน คำพังเพย เกร็ดพงศาวดาร เรื่องขำขัน ที่เอ่ยถึงพูดถึงหมากรุกอยู่อีกมากมายในสังคมไทย ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า คนไทยก็นิยมชมชอบการเล่นหมากรุกมาแต่อดีต ไม่แพ้คนเสี้ยวส่วนอื่นของโลกใบนี้

ประวัติความเป็นมาของหมากรุก

ผู้คนในแต่ละถิ่นแต่ละชาติ ต่างก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไปว่า หมากรุกเกิดที่นี่ ที่นั่น ที่โน่น ตามความคิดเห็นที่เล่าขานกันอยู่ในหมู่พวก เช่น เชื่อว่าเกิดในกรีก อินเดีย จีน โรมัน อียิปต์ บาบิโลน ยิว เปอร์เซีย อารเบียน ฯลฯ คนอังกฤษเชื่อว่าเกิดขึ้นที่เวลส์หรือไม่ก็ที่ไอริช คนบางกลุ่มปักใจเชื่อว่าคนโน้นคนนี้ประดิษฐ์ขึ้นก็มี เช่น กษัตริย์โซโลมอน นางมณโฑมเหสีทศกัณฐ์ และบ้างก็ว่า นักปรัชญานักปกครองกรีก เช่น พารามีเดส หรือไม่ก็อริสโตเติลเป็นผู้คิดค้นขึ้น

จตุรงค์ หมากรุกอินเดีย ต้นแบบ หมากรุกไทย
“จตุรงค์” หมากรุกในยุคแรกของอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของหมากรุกไทย

ต่อเมื่อได้มีการศึกษาสอบค้นที่ค่อนข้างเป็นเรื่องเป็นราวมีเหตุผลในหลายสำนักหลายคน อย่างเช่น นายเอ็นแบลนด์ ค้นพบว่าชาวเปอร์เซีย (ปัจจุบันคือชาวอิหร่านโบราณ เชื่อกันว่า คือชาวอารยะหรืออารยัน) เป็นผู้คิดการเล่นหมากรุกขึ้น แล้วแพร่เข้าไปในอินเดีย ครั้นถัดมาอีกยุคหนึ่ง คนเปอร์เซียลืมสิ่งประดิษฐ์ของบรรพบุรุษตนไปเสียชาวอินเดียจึงได้นำกลับเข้าไปเผยแพร่ในดินแดนต้นกำเนิดอีกครั้งหนึ่ง

นายโธมัส ไฮเดอร์ (ปี พ.. 2237) อธิบายว่า หมากรุกเกิดในอินเดีย แต่เขาไม่มีหลักฐานมากนัก จนถึงปี พ.. 2326 เซอร์วิลเลียม จอห์น นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอินเดียและปากีสถานอย่างลุ่มลึกคนหนึ่งได้เขียนเรื่องความเป็นมาของหมากรุกว่า กีฬาชนิดนี้เกิดขึ้นในอินเดียเดิมเรียกว่าจตุรงค์ หมายถึงกองทัพที่มีกองกำลัง 4 เหล่า คือ เหล่าช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า

ข้อเขียนของท่านเซอร์ผู้นี้ ส่วนใหญ่มีเนื้อหามาจากข้อความในคัมภีร์ภวิชยปุราณของอินเดีย ปุราณคตินี้อธิบายการเล่นว่า กระดานหมากรุกมี 64 ตาอย่างในปัจจุบันนี้ แต่แบ่งตัวหมากรุกออกเป็น 4 ชุด มีผู้เล่น 4 คน แต่ละชุดประกอบด้วย ขุน ม้า เรือ โคน และเบี้ยอีก 4 ตัว รวมเป็น 8 ตัว ทั้ง 4 ชุดจะมี 2 สี คือ ใช้สีเหมือนกัน 2 ชุด เพราะถือว่าเป็นฝ่ายเดียวกันหรือเป็นพันธมิตรกัน อยู่มุมตรงข้ามหรือมุมทแยง เวลาเล่นต้องคอยช่วยเหลือกัน

ลักษณะการเดิน ขุนม้า เบี้ย เดินอย่างในปัจจุบัน ส่วนโคน (พลช้าง) เดินอย่างเรือ เรือเดินตาทแยงอย่างเม็ด แต่ให้ข้ามตาใกล้เสียตาหนึ่งคือเดินในตาเฉียง 2 ตา ที่เรียกกันว่าตาโป่งนั่นเอง เมื่อถึงตาฝ่ายไหนคนใดเป็น ผู้เดินให้ทอดลูกบาศก์หรือลูกเต๋าแต่ละด้านมีเลข 2, 3, 4 และ 5 ถ้าทอดได้ 5 แต้ม ต้องเดินขุนหรือเบี้ยตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าทอดได้ 4 แต้ม ต้องเดินโคน 3 แต้ม เดินม้า 2 แต้ม เดินเรือ หมุนเวียนกันไปจนจบการแข่งขัน (ตรงนี้น่าสงสัยว่า ถ้าฝ่ายที่กำลังจะเดินถูกรุกอยู่ จะต้องทอดลูกเต๋าตามกติกานี้หรือเดินขุนผู้เขียน)

วิธีเล่นแบบนี้มีลักษณะของการเดินเชื่อมสามัคคีที่ดี แต่ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรแทงข้างหลังกันเมื่อใด ก็คงไม่มีโอกาสขอเพียงแค่เสมอ และว่าการเล่นหมากรุกตามแบบอย่างเช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่อราวๆ 2,500 ปี ก่อนพุทธกาล

ครั้นประมาณ พ.. 200 (ระยะเวลาใกล้เคียงกับรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) พระเจ้าแผ่นดินอินเดียพระองค์หนึ่ง มีความสามารถในการรบ ได้ปราบปรามแคว้นใหญ่น้อยในชมพูทวีปไว้ในขอบขัณฑสีมาจนหมดสิ้นไม่มีฝ่ายตรงข้ามที่จะทำศึกต่อกรได้อีกต่อไป จึงเกิดความรำคาญหงุดหงิดพระทัย ไม่มีความสุขตามประสาผู้กระหายสงคราม จึงปรึกษามุขมนตรีผู้หนึ่งชื่อสัสสะว่า ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข เพราะหาคู่ต่อสู้ในยุทธกีฬาไม่ได้แล้วมุขมนตรีสัสสะจึงคิดดัดแปลงจตุรงค์ซึ่งแพร่หลายอยู่ในขณะนั้นให้เป็นเกมการรบบนแผ่นกระดาน โดยรวมกลุ่มพันธมิตรให้เหลือเพียงกลุ่มเดียวทั้ง 2 ฝ่าย

รวมตัวหมากรุกของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกันจากเดิมกลุ่มละ 8 ตัว ฝ่ายละ 16 ตัว คือ ม้า 2 โคน 2 เรือ 2 ขุน 2 และเบี้ยอีก 8 ตัว แต่ขุนฝ่ายเดียวกันจะมี 2 ตัวไม่ได้ จึงลดลงเป็นมนตรีหรือเม็ดเสีย 1 ตัว ตัดผู้เล่นเดิมฝ่ายละ 2 คนให้เหลือเพียงคนเดียว ตั้งตัวหมากเรียงกันคนละฟากกระดาน (อย่างในปัจจุบันนี้) หมากรุกยุทธวิธีใหม่จึงเกิดขึ้น แล้วแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ผู้เขียนเรื่องราวหมากรุกอีกคนหนึ่งชื่อ นายแอนทอน แวนเดอร์ลินเด (.. 2417) อธิบายว่าเปอร์เซียรับการเล่นหมากรุกไปจากอินเดีย และว่าหมากรุกเล่นกันอย่างกว้างขวางดาษดื่นในอินเดีย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ลินเดเชื่อวา่ ชาวพุทธเป็นผู้คิดการเล่นชนิดนี้ขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างพุทธศตวรรษที่ 9-12 โดยให้เหตุผลว่า การรบการเข่นฆ่ากันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายผิดบาปตามหลักพุทธศาสนา จึงมีผู้ประดิษฐ์หมากรุกขึ้น เพื่อทดแทนการทำสงครามเข่นฆ่ากัน

นายพอล แลงฟีลด์ ผู้เขียนเรื่องราวหมากรุกรุ่นปัจจุบันผู้หนึ่งเชื่อว่า หมากรุกคือจตุรงค์ของอินเดีย ได้แพร่หลายเข้าไปในเปอร์เซียเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 และชาวเปอร์เซียได้เรียกเพี้ยนเป็นจัดตรัง ต่อมาอาหรับยึดเปอร์เซียได้เมื่อพุทธศตวรรษที่ 13 ได้นำหมากรุกเข้าไปเล่นในดินแดนของตนและเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า จัดตรันซ์ ซึ่งยังคงเรียกกันเช่นนี้อยู่แม้ในปัจจุบันนี้

จากหลายๆ ความเห็นที่พูดกันถึงต้นกำเนิดดังกล่าวแล้ว ก็น่าจะเชื่อได้ว่าหมากรุกคงจะเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 แล้วแพร่ขยายเข้าไปในเปอร์เซียและอาหรับ ช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะชาวอาหรับคนหนึ่งชื่อนายมะสุติ เขียนบันทึกเมื่อปี พ.. 1493 ว่าการเล่นหมากรุก หรือที่ชาวอาหรับเรียกว่าจัดตรันซ์นั้น แพร่หลายก่อนเขาเกิดนานทีเดียวอาจเป็น 2-3 ศตวรรษ ซึ่งหมายถึงวา่ มีผู้เล่นหมากรุกกันแพร่หลายอยู่ในอาหรับแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกวา่ 1,000 ปี นับจากปัจจุบันนี้ หลังจากนั้นไม่นานก็แพร่เข้าสู่ยุโรปและที่อื่นๆ ทั่วทุกทวีป

นั่นคือความเป็นมาของหมากรุกที่คนทั่วโลกรู้จักสำหรับไทยเรานั้นเนื่องจากไม่มีบันทึกหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวไว้ การสืบค้นประวัติจึงค่อนข้างยากสับสน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามืดมนเสียจนไม่เห็นหนทางใดๆ เอาเสียเลย

ไทยเราเริ่มเล่นหมากรุกกันมาแต่เมื่อใด เราคิดกันขึ้นเองหรือรับมาจากชนชาติใด เป็นข้อสงสัยที่ผู้เล่นและผู้สนใจกีฬาชนิดนี้ทั่วๆ ไปถามไถ่กันมานาน และยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะขาดข้อมูลหลักฐานสนับสนุนที่มีนํ้าหนักเพียงพอ คำตอบจึงมีอยู่หลากหลายตามความคิดและตรึกตรองกันเอาเอง โดยมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามาจากอินเดีย และอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเรารับจากจีน

คนในแหลมทองหรือดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เริ่มมีความเป็นอยู่พ้นสภาพความเป็นคนป่าคนดง อยู่ถํ้าเพิงผาหรือสภาพคนยุคหินรุ่นแรกๆ มาเป็นสังคมหมู่บ้าน ตั้งรกรากกันเป็นหมู่เป็นพวกก็เมื่อประมาณ 4,000-6,000 ปีมานี้ เราค้นพบความเจริญของผู้อาวุโสเหล่านี้ที่จังหวัดอุดรธานีและอีกหลายจังหวัดบริเวณแอ่งหนองหาน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จุดที่คนกลุ่มนี้อาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นมั่นคง คือที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ความศิวิไลซ์ของสังคมกึ่งป่ากึ่งนาครแห่งนี้ จึงเรียกกันว่าวัฒนธรรมบ้านเชียง

เนื่องจากวัฒนธรรมนี้เกิดก่อนการเกิดเกมหมากรุกคนพวกนี้จึงไม่รู้จักหมากรุก หลังจากการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ในคราวนั้นแล้วบรรพบุรุษกลุ่มนี้ก็ได้พัฒนาชีวิตมาเรื่อยๆ ในทุกด้าน จนถึงประมาณ พ.. 1,100 คนบ้านเชียงจึงเริ่มรับเอาศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จากเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออก ซึ่งคนอินเดียนำเอามาเผยแพร่ไว้ สังคมจึงเริ่มเติบโตเป็นสังคมเมือง ซึ่งมีอยู่หลายแหล่งในท้องถิ่นอีสาน เช่นเดียวกับสังคมกลุ่มคนเล็กๆ ตามริมฝั่งทะเลไทย ก็เริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยกันอยู่หนาแน่นเป็นบ้านเมืองขึ้น มีวัฒนธรรมที่ใช้สอยกันอยู่อย่างเด่นชัดเรียกว่าวัฒนธรรมหรืออารยธรรมทวารวดีซึ่งก็นำมาโดยชาวอินเดียเช่นเดียวกัน

ทั้งสังคมวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคหลังหรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมก่อนขอมและทวารวดีนี้ ยังไม่มีรายงานจากนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์โบราณว่าเคยพบร่องรอยการเล่นหมากรุก ซึ่งอาจมีการเล่นกันมาแล้วแต่ยังไม่พบหลักฐาน หรือยังไม่มีการเล่นกีฬาชนิดนี้ในประเทศไทยในยุคนั้นก็ได้ แต่หมากรุกเกิดขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย ในช่วงระยะเวลานี้ดังกล่าวแล้ว

จารึกนครชุม หมากรุกไทย สมัยสุโขทัย
จารึกนครชุม หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ทำให้รู้เรื่องราวของหมากรุกในเมืองไทยในสมัยสุโขทัย

จนกระทั่งครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 (ประมาณปี พ.. 18881911-12) ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย จึงเริ่มปรากฏเค้าของหมากรุกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยข้อความตอนหนึ่งของศิลาจารึกหลักที่ 3 หรือที่รู้จักกันในนามจารึกนครชุม กล่าวว่า ก่อนที่พระยาลิไทยจะเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ทรงศึกษาศิลปศาสตร์หลายแขนงซึ่งล้วนแต่เป็นศาสตร์หรือความรู้สำหรับผู้ที่จะปกครองบ้านเมืองทั้งสิ้น ในกระบวนศาสตร์ต่างๆ เหล่านั้นมีศาสตร์จตุรงค์อยู่ด้วย ดังความว่า “…เมืองอันใดก็รู้สิ้นอันรู้ศาสตร์อยูกต สกาจตุรงค์กระทำยนตร์ขี่ช้างคล้องช้างเป็นพฤฒิบาศศาสตร์ก็นับตวงถ้วนไซร้ยังมากกลา…”

นับเป็นพยานหลักฐานเอกสารชิ้นแรกที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของ หมากรุกไทย และเมื่อปี พ.. 2509-14 กรมศิลปากรได้ทำการปรับปรุงขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ได้ขุดพบตัวหมากรุกทำด้วยดินเผาเคลือบ มีทั้งสีขาวหม่น สีเขียวมะกอกและสีนํ้าตาลแก่ ส่วนมากพบตามบริเวณอรัญญิก สถานที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี และในระยะต่อมาไม่นาน คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 ชาวล้านนาบ้านพี่เมืองน้องทางตอนเหนือของสุโขทัย ก็ได้ผลิตลูกหมากรุกเช่นเดียวกับช่างปั้นชาวสุโขทัย คือชุดหมากรุกเคลือบสีเขียวมะกอก สีขาวหม่น บางตัวเขียนลายสีดำปะปน ปัจจุบันเก็บอยู่ตามบ้านผู้สะสมเครื่องเคลือบโบราณของไทยหลายราย

ตัวหมากรุก บุรีรัมย์ ศิลปะเขมร
ตัวหมากรุกเคลือบสีนํ้าตาลและสีเขียว ผลิตจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ ศิลปะเขมร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ (ภาพจากหนังสือศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย)

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องปั้นดินเผาโบราณรายหนึ่งได้พบเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่บ้านผู้สะสมของเก่ารายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีลักษณะรูปร่างคล้ายตัวหมากรุก เขาเชื่อว่าเป็นตัวหมากรุกที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นหลักฐานใหม่ที่ต้องสอบค้นกันต่อไป เพราะถ้าหากโบราณวัตถุ เครื่องเคลือบดังกล่าว เป็นลูกหมากรุกจริง ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยในประเทศเราเล่นหมากรุกกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17-18 แล้ว เพราะแหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ผลิตกันอยู่ในช่วงเวลานั้น

ผู้ศึกษาสนใจเรื่องเครื่องถ้วยชามในอดีตบางคนเชื่อว่า เครื่องสังคโลก ผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยในระยะแรกๆ ของคนแคว้นสุโขทัย อาจรับกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตไปจากที่นี่ หากไม่ได้นำติดตัวมาจากแหล่งอพยพเดิม (ผู้เขียนได้เห็นภาพถ่ายรูปหมากรุกดังกล่าวนี้ แต่เป็นภาพที่มองไม่ชัด เพราะเป็นการถ่ายนอกตู้เก็บวัตถุค่อนข้างไกลจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นลูกหมากรุก และผลิตจากเตาบ้านกรวดหรือไม่ แต่เห็นว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะได้ศึกษาข้อเท็จจริง จึงนำมาเสนอไว้เพื่อผู้สนใจจะได้ช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบต่อไป) เหล่านี้เป็นข้อมูลทางโบราณวัตถุที่พบเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ จับต้องได้ และพิสูจน์ได้ในวิถีแห่ง หมากรุกไทย

ม้าและเม็ดเคลือบสีเขียวและขาว พบจากแหล่งเตาทุเรียง เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ลูกหมากรุกที่ศรีสัชนาลัยนั้นพบอยู่ในบริเวณกว้างทั่วไปตั้งแต่ในเขตพระราชวัง เชิงเขาพนมเพลิง ไปจนถึงเขตอรัญญิก ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี
ม้าและเม็ดเคลือบสีเขียวและขาว พบจากแหล่งเตาทุเรียง เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ลูกหมากรุกที่ศรีสัชนาลัยนั้นพบอยู่ในบริเวณกว้างทั่วไปตั้งแต่ในเขตพระราชวัง เชิงเขาพนมเพลิง ไปจนถึงเขตอรัญญิก ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี

จากข้อมูลพยานหลักฐานทั้ง 2 อย่างนี้ ก็พอมองเห็นหรือได้ร่องรอยว่า คนไทยเรานั้นเริ่มเล่นหมากรุกกันมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยรับมาจากการเล่นเกมที่เรียกว่าจตุรงค์ซึ่งถ้าไม่ได้รับมาจากอินเดียโดยตรง ก็คงจะผ่านมาทางศรีลังกาหรือประเทศพม่า เพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนานิกายหินยานด้วยกัน และผู้ที่นำจตุรงค์เข้ามาในแคว้นสุโขทัยนั้นน่าจะเป็นพระสงฆ์ อาจเป็นสงฆ์ไทยกลุ่มพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ผู้จาริกไปศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมที่ลังกาและอินเดียใต้ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือไม่ก็พระสงฆ์จากศรีลังกาหรือพม่า ที่เดินทางติดต่อไปมาหาสู่กับพระสงฆ์ไทยมาตั้งแต่ระยะต้นๆ สมัยสุโขทัย

เพราะพระสงฆ์ที่เข้ามาในอาณาจักรนี้นั้น ไม่ได้สอนพุทธศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้สอนศิลปศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ สำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง อันมีศาสตร์ของจตุรงค์รวมอยู่ด้วย ดังเนื้อความในจารึกที่กล่าวถึง

ประวัติการเล่น หมากรุกไทย ในประเทศไทย

หมากรุกในสมัยสุโขทัย แรกๆ คงจะเล่นกันอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงและหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปคงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก เพราะเป็นกีฬาที่ผู้คนชาวบ้านเพิ่งจะรู้จัก ยังไม่คุ้นกับแนวคิดการเล่นชนิดนี้ แต่ถ้าคนสุโขทัยจะเคยเล่นหมากรุกกันมาก่อนการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์ลังกา พม่าแล้ว ก็คงจะรู้จักกันเมื่อไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะคนสุโขทัยเพิ่งจะเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นที่อยู่อาศัยในดินแดนนี้เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.. 1,400 เศษๆ (จากรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย)

หมากรุกในสมัยอยุธยา

ขุนช้าง-ขุนแผน วิถีชีวิต สมัยอยุธยา หมากรุกไทย
วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน”ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่อธิบายถึงวิถีชีวิตและผู้คนสมัยอยุธยา กล่าวถึงหมากรุกอยู่หลายตอน

ตลอดระยะเวลา 400 ปีเศษของอาณาจักรอยุธยาที่ดำรงความเป็นชาติ ความเป็นเผ่าชนที่มีอารยธรรมวัฒนธรรมสูงโดดเด่น มีสัมพันธ์ติดต่อคบหาค้าขายกับชาวต่างชาติที่ถือว่าเจริญแล้วในยุคนั้นทั่วจตุรทิศ มีศิลปะการกีฬาที่แพร่หลายอยู่มากมายหลายชนิด แต่แทบจะไม่มีหลักฐานกล่าวถึงการเล่นหมากรุก จะเป็นเพราะคนไทยเราไม่ชอบบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกไว้แต่เกิดสูญหายกระจัดพลัดพรายไป เพราะไม่ชอบเก็บเรื่องราวเอกสาร หรือถูกทำลายไปเสียหมดสิ้น เมื่อเกิดศึกสงครามอันเป็นหายนภัยหรือเหตุอื่นก็ตามที แต่เชื่อได้ว่าคนสมัยอยุธยาเล่นหมากรุกกันแพร่หลายแล้วแน่นอน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นคนในแผ่นดินอยุธยาตอนปลาย โปรดกีฬาหมากรุกเป็นอย่างยิ่ง

หลักฐานที่เป็นเค้าเรื่องให้มองเห็นว่า แม้คนอยุธยาในยุคต้นๆ ก็เล่นหมากรุกกันก็คือวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นเชื่อว่าเป็นเกร็ดพงศาวดารหรือตำนานที่เล่าสืบทอดกันมา จนกลายเป็นนิทานแพร่หลายเป็นที่ชื่นชอบของคนสมัยอยุธยามานาน จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นิทานเรื่องนี้ยังเป็นที่ชอบอกชอบใจของผู้คนทั่วแผ่นดิน ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กวีเด่นๆ ในราชสำนักรวมทั้งพระองค์เอง ช่วยกันแต่งขึ้นเป็นกลอนเสภา และนับเป็นเสภาที่ดีที่สุด ไม่มีกลอนแบบนี้ในเรื่องใดจะเทียบเคียงได้ แม้จะเป็นบทกลอนที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์

แต่ผู้แต่งทุกคนก็คงจะต้องคิดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเรื่อง ในการอธิบายวิถีชีวิต ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม และสังคม ทั่วๆ ไปของคนในยุคนั้นเป็นอย่างดีแล้ว จึงนำมาใส่ไว้ขณะ แต่งร้อยกรองเรื่องนี้ขึ้น กวีอาจแทรกเหตุการณ์ความเป็นอยู่ และสภาพชีวิตปัจจุบันของผู้แต่งลงไปบ้าง เพื่อต่อเติมของเก่าที่มีอยู่แล้วให้ดูสมจริงเป็นจริงขึ้น แต่ก็คงทำได้ไม่มากนัก เพราะเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นได้ฝังลึกลงในจิตใจคนชนิดไม่มีกวีผู้ใดจะบิดเบือนได้ เสภาเรื่องนี้กล่าวถึงการเล่นหมากรุกอยู่หลายตอน ขอนำมาเป็นตัวอย่างในบางแห่ง เช่น ตอนที่ขุนช้างกำลังกลุ้ม คิดถึงคนที่ตนรักใคร่หลงใหลคือนางพิม จนเกิดอาการเซ็งขึ้นมา จึงเรียกศรพระยา บ่าวคนหนึ่งมาเล่นหมากรุกเพื่อให้คลายกลุ้มว่า

ผลุนโผนโจนออกไปนอกห้อง

ร้องเรียกศรพระยาไปไหนหาย

ขึ้นมาเล่นหมากรุกให้ทุกข์คลาย

ศรพระยาหน้าหงายเดินเร็วมา

เทหมากรุกออกมาม้าโคนตั้ง

ขุนช้างย่างม้าพลั้งตาโป่งหวา

ทิ่มวุ่นกินขุนศรพระยา

พ่อเจ้าขาขอโทษโปรดไถ่ตัว

ขุนช้างหัวร่อพ่อไม่ให้

ศรพระยาวอนไหว้พ่อทูนหัว

ฉันเล่นเป็นแต่เสือกินวัว

หมากรุกฉันกลัวแล้วพ่อคุณ

ถึงพระครูก็สู้พ่อไม่ได้

มันเหลือใจกินกันจนชั้นขุน

ฉันก็เดินซมเซอะมัวเงอะงุน

เออเขาลือกันวุ่นที่ในวัง

แสดงให้เห็นว่าหมากรุกครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น นิยมเล่นกันแพร่หลายในหมู่ชนทั่วไปแล้ว ขุนช้างซึ่งเป็นชาว บ้านธรรมดา กระทั่งศรพระยาทาสรับใช้ ก็เล่นหมากรุกเป็น แต่ความสนุกครื้นเครงกับวิธีการเล่น ชนิด “ทิ่มวุ่นกินขุนศรพระยา พ่อเจ้าขาขอโทษโปรดไถ่ตัว” นั้น คงเป็น อารมณ์ของกวี ที่หยิบเอาเรื่องสนุกๆ ในการเล่นหมากรุก ที่เคยเห็นอยู่ในสมัยของตน มาเพิ่มเติมให้เกิดความครื้น เครงขึ้น เพราะการกินขุนเพื่อไถ่ตัวไม่มีอยูใ่นกติกาการเล่นหมากรุก

อีกตอนหนึ่งคือ ตอนขุนแผนยกทัพกลับจากเชียงใหม่ ขณะผ่านมาทางเมืองพิจิตรตั้งค่ายพักอยู่นอกเมือง พลายงาม ลูกชายวัยหนุ่มกำลังหลงรักนางศรีมาลาธิดาเจ้าเมืองนี้ อยากจะไปพบหน้าคนรัก ครั้นจะขออนุญาตบิดาก็กลัว จะมากความมากเรื่อง จึง

แต่พอร่วมเวลาสักยามปลาย

เจ้าพลายลดเลี้ยวเที่ยวไถล

ไปถึงกุฏิชีต้นไทย

เห็นจุดไต้ตั้งวงเล่นหมากรุก

พวกอาสามาเล่นอยู่เป็นหมู่

ทั้งพระเณรเถรดูกันสนุก

—————————————

เจ้าพลายนิ่งนึกตรึกตรา

จำจะลวงบิดาว่าอยู่นี่

จะทำเป็นเล่นหมากรุกให้คลุกคลี

จนพ่อหลับจึงจะหนีไปหานาง

คิดพลางทางขึ้นบนกุฎี

เฮ้ยกูขอเดินทีแล้วรุกผาง

อ้ายพวกไพร่ให้นายเข้านั่งกลาง

ทั้งสองข้างอื้ออึงคะนึงไป

ขุนแผนรู้นิสัยใจคอเล่หกลของลูกชายพลายงามอยู่ แต่เรื่องเช่นนี้ผู้พ่อเองก็มีประสบการณ์มามากมาย รู้ว่าควรทำอย่างไร จึงแกล้งนอนหลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ลาลูแบร์ อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในประเทศ ไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนจดหมายเหตุเล่าเรื่องวิถีชีวิตของประชาชนชาวสยามในแง่มุมต่างๆ ไว้หลายเรื่อง เขาบรรยายถึงการละเล่นของคนในแผ่นดินนั้นว่า

“…การพนันที่เขาชอบเล่นกันมากที่สุด คือ Tric Trac ซึ่งชาวสยามเรียกว่าสกา (Saca) อันดูเหมือนเขา จะได้เรียนเล่นมาจากปอร์ตุเกส เพราะชาวสยามเล่นแบบเดียวกับพวกนั้นและแบบเดียวกับพวกเรา (ชาวฝรั่งเศส) ชาวสยามไม่เล่นไพ่เลย และข้าพเจ้าไม่ทราบว่าการพนัน เสี่ยงโชคชนิดอื่นๆ อีกด้วยหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าเห็นเขาเล่น หมากรุกตามแบบของเราและตามแบบจีน…”

ลาลูแบร์ แม้จะอยู่ในเมืองไทยเพียง 3 เดือนกับ 6 วัน (27 กันยายน 2231-3 มกราคม 2232) แต่เขาเป็น คนช่างสังเกต เป็นนักจดจำที่ดีเยี่ยมคนหนึ่ง แม้ข้อสังเกต ในบางเรื่องอาจไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงในรายละเอียด เช่น เรียกหมากว่าพลู และเรียกใบพลูว่าหมาก และเข้าใจว่าตุ๊กแกพอมีตับโตก็จะอ้าปากให้แมลงบางชนิดเข้าไปกินให้ตับลดเหลือเล็กลง เป็นต้น

แต่หลายเรื่องที่เขาบันทึก ก็ถูกต้องตามพงศาวดาร และหลักฐานอื่นสนับสนุนยืนยัน เรื่องการเล่นหมากรุกนั้น ไม่เป็นที่สงสัย แต่บันทึกที่ว่า เล่นตามแบบของเรา (ฝรั่ง) และจีนนั้นน่าคิด สำหรับการเล่นแบบจีน คงตัดปัญหาไปได้ว่าไม่ใช่ที่มาของ หมากรุกไทย แน่ เพราะแบบอย่าง วิธีเล่น เป้าหมาย รูปร่างความ สำคัญของตัวหมากรุก แตกต่างกับ หมากรุกไทย จนเกือบจะเป็นกีฬาคนละชนิดกัน แต่ที่ว่าเล่นแบบฝรั่งนั้นน่าจะ ได้นำมาวิจารณ์ต่อไป

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงการเล่นหมากรุกในสมัยอยุธยา โดยคนในยุคเดียวกัน คือข้อความในโคลงกำสรวล ศรีปราชญ์บทหนึ่งว่า

ป่านนี้อรเช้าแม่   เกล้าองค์ อยู่ฤๅ

ตั้งกระดานจตุรงค์เมียง   ม่ายม้า

ฤๅวางสกาลง   ทายบาท

ฤๅกล่าวคำหลวงอ้า   อ่อนแกล้ง เกลาฉันท์

มีผู้แปลโคลงบทนี้เป็นร้อยแก้วไว้ว่า หรือว่าป่านนี้นางกำลังแต่งตัวอยู่ หรือว่ากำลังเล่น จตุรงค์ (หมากรุก) หรือกำลังเล่นสกา หรือว่าอ่านมหาชาติ คำหลวง หรือว่าแต่งคำฉันท์ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าจะแปลบาทที่ 2 “ตั้ง กระดานจตุรงค์เมียง ม่ายม้า” โคลงบทนี้ว่า “หรือว่า กำลังคิดค้นหาวิธีการเดินม้า” แทนคำแปลว่า หรือกำลัง เล่นจตุรงค์ (หมากรุก) เพราะคำว่า “ม่ายม้า” ในที่นี้มิได้แปลว่าเล่นหมากรุกที่เป็นเกมการแข่งขันอย่างที่เข้าใจกัน แต่แปลว่า การค้นหาวิธีหรือการเดินม้าตามแบบอย่างที่มีผู้คิดค้นไว้แล้วให้ได้ครบ 64 ตา โดยไม่ซํ้าตาเดิม หรือเดินให้เป็นรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งนิยมฝึกหัดกัน ในอินเดียใต้และศรีลังกาในอดีต

โคลงบทนี้ผู้แต่งรำพึงรำพันถึงหญิงคนรักที่จากมา ทำนองโคลงนิราศหรือโคลงกำสรวลทั่วๆ ไปและหญิงคนนี้เป็นชนชั้นสูงที่ไดรั้บการศึกษาอบรมมาดี นางมิได้มีความรู้เพียงแค่การแต่งเนื้อแต่งตัว เพื่ออวดโฉมโนมพรรณตามธรรมชาติใต้สำนึกของผู้หญิง แต่นางมีความรู้ในวิธีการเดินม้า (หมากรุก) การเล่นสกา อ่านมหาชาติคำหลวง หรือแม้แต่การแต่งฉันท์ เหล่านี้คงจะเป็นแบบอย่างตามสมัยนิยมของหญิงชนชั้นสูงในสังคมขณะนั้น

แม้ว่าจตุรงค์เป็นศาสตร์ที่สอนกันในราชสำนัก หรือกลุ่มคนชั้นสูงของแคว้นสุโขทัยอยู่ก่อนหน้านั้น แต่มิได้ หมายความว่าอยุธยารับการเล่นจตุรงค์มาจากสุโขทัยโดยตรง เพราะพระสงฆ์ที่เดินทางมาสืบพระศาสนาและสั่งสอน วิชาการตา่ งๆ กันอยู่ในยุคนั้น ต่างก็จาริกแสวงบุญวนเวียนกันอยู่ระหว่างศรีลังกา พม่า นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุพรรณบุรี อโยธยา สุโขทัย และล้านนา อยุธยาจึงอาจได้รับการเล่นจตุรงค์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นแคว้นอโยธยาอยู่ก็ได้ หรือถ้ารับมาจากสุโขทัย ก็น่าจะเป็นในรัชสมัยสมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือไม่ก็ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั่นเอง เพราะกษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชสำนักสุโขทัย

โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) นั้นแต่เดิมเชื่อกันว่า ศรีปราชญ์กวีในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่งขึ้น แต่ผู้สนใจค้นคว้าวรรณคดีหลายท่าน โดยเฉพาะหม่อม เจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงศึกษาวรรณคดีชิ้นนี้จากหลักฐาน ข้อมูลหลายๆ ด้านเป็นพิเศษ แล้วทรงสรุปว่าโคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) มิได้แต่งโดยศรีปราชญ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกือบ 200 ปี

ในงานโบราณคดีใต้นํ้าของกรมศิลปากร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ พบว่าเรือสำเภาค้าขายหลายลำที่จมอยู่ในอ่าวไทยนั้น มีลูกหมากรุกที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาปะปนอยู่กับโบราณวัตถุอื่นที่ค้นพบด้วย และเรือบางลำจมมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 โน่นแล้ว นั่นหมายความว่า แม้ยามเดินเรือออกค้าขายรอนแรมไป ในทะเลแสนไกล แต่ก็ยังมีหมากรุกกีฬาโปรดของคนยุคนั้นคอยเป็นเพื่อนในยามเหงา

สิ่งที่ลาลูแบร์ได้เห็นและพูดถึงหมากรุกในอยุธยา จึงไม่ใช่เรื่องเดาส่งเดชเหมือนบางเรื่องที่เขาพลาดอย่าง ไม่น่าพลาด

หมากรุกไทย ในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หมากรุก
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชื่นชอบหมากรุก สมัยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรีรักษาเมืองพิษณุโลก เมื่อทราบว่า แม่ทัพที่ยกมาไม่ใช่อะแซหวุ่นกี้จึงให้นายทหารมือดีออกไปรับก่อนเพื่อ เล่นหมากรุกที่ติดพันให้จบตา

ในช่วงต้นๆ ของระยะเวลา 15 ปี แห่งกรุงธนบุรีนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพฝันร้ายจากสงครามหฤโหดกับพม่า ที่ตื่นขึ้นมาได้บ้างก็เป็นระยะปลายรัชสมัย ที่รู้สึกตัวทั่วจากความฝันอำมหิตของภัยสงครามคราวนั้นจริงๆ ก็ล่วงเข้าแผ่นดินรัตนโกสินทร์แล้ว คนในสมัยกรุง ธนบุรีจึงอยู่ในภาวะต้องก่อ ร่างสร้างตัวกันใหมที่ไม่ใช่ภาวะปกติสุข การเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอยู่ในภาวะปกติก่อนสงคราม จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำใจได้ ชีวิตถูกบีบคั้นจนคับแคบ การละเล่นเพื่อความครึกครื้นรื่นเริงก็ร่อยหรอ ร่วงโรยลง จะมีก็แต่ขุนศึกขุนทหารชนชั้นปกครองที่รู้ภาวะศักยภาพความเป็นไปของบ้านเมืองขณะนั้น ที่ยังมีอารมณ์เฮฮากันได้ตามโอกาส

ในบรรดาขุนนางเหล่านี้ เจ้าพระยาจักรี (นามเดิมทองด้วง ต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ชอบเล่นหมากรุกเป็นยิ่งนัก ขณะทำหน้าที่รักษาเมืองพิษณุโลก ป้องกันการบุกโจมตีจากกองทัพใหญ่ของอะแซหวุ่นกี้ ขุนศึกผู้เฒ่าจากแดนหงสาวดีในคราวนั้น ท่านมักใช้เวลายามว่างเล่นหมากรุกเป็นที่ครื้นเครงกับนายทหารคนสนิทอยู่เป็นประจำ กองทัพอะแซหวุ่นกี้ขณะล้อมเมืองอยู่นั้นได้จัดกำลังออกตีเป็นครั้งคราว ในเมืองผู้ถูกล้อมก็เช่นเดียวกัน ต้องคอยจัดทัพออกตีโต้โดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้บัญชาการทัพ กองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันบ่อยครั้งเป็นแรมเดือน จนรู้ฝีมือรู้กระบวนท่าและความตื้นลึกหนาบาง ในเชิงศึกกันอย่างทะลุปรุโปร่งอโดยเฉพาะระหว่างผู้นำทัพทั้งสองคือเจ้าพระยาจักรีและอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งในการรบบาง ครั้งเมื่อทัพพม่ายกมาตี เจ้าพระยาจักรีผู้นำทหารไทยฝ่ายป้องกันเมือง ก็จะถามทหารฝ่ายข่าวว่าใครเป็นผู้นำทัพ ถ้าคำตอบว่าเป็นอะแซหวุ่นกี้นำทัพเข้าตีเอง ท่านก็จะออกทำศึกด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นแม่ทัพรองๆ ลงมาก็จะให้ทหารที่มีฝีมือไว้ใจได้ออกรับ

มีอยู่คราวหนึ่งเป็นศึกใหญ่ พม่าทุ่มพลเป็นจำนวนมากเข้าโจมตี เจ้าพระยาจักรีกำลังเล่นหมากรุกเพลิดเพลินอยู่ เมื่อได้รับรายงานว่ากำลังพม่ายกมามากแต่ไม่ใช่อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำ จึงสั่งทหารว่า “จัดรับกันไปก่อน ประเดี๋ยวหมากแผ่นนี้จบแล้วจะออกไปดู” ซึ่งก็สามารถป้องกันเมืองได้ทุกครั้ง นี่แสดงให้เห็นว่าในหมู่ทหารแม้ขณะปฏิบัติการรบ ก็ยังมีหมากรุกเป็นเครื่องคลายเครียด คลายเหงา และนิยมกันทุกชั้นยศ อย่างไรก็ตาม ศึกครั้งนี้กองทัพไทยไม่สามารถยันกองทัพพม่าได้ นานนัก จำเป็นต้องถอยทัพกลับกรุงธนบุรีด้วยสาเหตุ หลายๆ ประการแต่ที่สำคัญ คือ

1. กองทัพพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น เป็นทัพ ใหญ่มีกำลังพลมากมายมหาศาล เหนือกว่าฝ่ายไทยหลายเท่านัก ผู้นำทัพคืออะแซหวุ่นกี้ ขุนศึกผู้มีความเชี่ยวชาญในการรบที่เฉียบแหลม ทำศึกมาตั้งแต่หนุ่มจนเข้าวัยชรา จึงมีประสบการณ์และความชํ่าชองในยุทธวิธีสูงยิ่ง ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าจึงอยูใ่นฐานะเสียเปรียบ ต้องตั้งรับแต่เพียง อย่างเดียว

2. เมืองพิษณุโลกมีแม่นํ้าผ่ากลาง เป็นลักษณะชัยภูมิที่เรียกกันว่าเมืองอกแตก ไม่เหมาะที่จะตั้งรับศึกใหญ่ เพราะ เกิดความยุ่งยากล่าช้าในการสับเปลี่ยนกำลังคน เสบียง อาหารและการขนส่งอุปกรณ์ช่วยรบอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการยากในการระมัดระวังข้าศึกที่มีกำลังเหนือกว่า ถ้าหากถูกโจมตีด้วยกำลังทางนํ้าก็จะพะวงศึกหลายด้าน ฝ่ายตั้งรับที่มีกำลังน้อยยากที่จะรับมือได้

3. กองทัพไทยในคราวนั้นค่อนข้างอุ้ยอ้าย เพราะไม่ ได้มีเฉพาะกองกำลังรบล้วนๆ แต่มีผู้คนที่อพยพมาจาก สุโขทัย สวรรคโลก พิชัย ทุ่งยั้ง อุตรดิตถ ์ พรหมพิราม และอีกหลายชุมชนในละแวกใกล้เคียงเมืองพิษณุโลก ซึ่งประกอบด้วยสตรี เด็ก คนสูงอายุ ที่ไม่อาจใช้เป็นกำลังรบได้ และกองทัพต้องให้ความคุ้มครอง ทำให้ต้องเสียกำลังพลไปอีกส่วนหนึ่ง อาหารที่มีอยู่จำกัด แต่ต้องเลี้ยงคนจำนวนมากจึงมีไม่พอในระยะยาว เพราะการรบคราวนั้น ทางกรุงธนบุรีไม่ได้คำนึงถึงเสบียงอาหาร เพียงตั้งใจจะกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ไปไว้ทีเมืองหลวง เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์เดิมก็ตั้งใจ อย่างนั้น แต่ศึกมาเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ จึงต้องติดพันไม่มีโอกาสจัดส่งผู้อพยพไปกรุงธนบุรีไดทั้นตามแผนเดิม จึงเกิดขาดแคลนเสบียงลงอย่างช่วยไม่ได้ กองทัพไทยจึงต้องตีฝ่าวงล้อมขุนศึกเฒ่าแห่งเมืองหงสาวดีกลับกรุงธนบุรีหลังจากถูกล้อมอยู่เป็นแรมเดือน

ออกนอกเรื่องหมากรุกไปไกลเล็กน้อย แต่เห็นว่าเป็นประวัติศาสตร์การรบที่สำคัญครั้งหนึ่งของคนไทยสมัยกรุงธนบุรี เป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นหลังควรระลึกถึงบุญคุณของท่านเหล่านั้นไว้ เพราะเป็นผู้ที่ช่วยปกป้องและจัดการ บ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นปึกแผ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองสงบเย็นลงแล้ว กีฬาหมากรุกก็กลับมาครื้นเครงกันอีกครั้งหนึ่งทั้งที่วัง ที่วัด และแหล่งชุมชนน้อยใหญ่ทั่วทุกหัวเมือง

โดยเฉพาะตาม วังต่างๆ ที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ก็จัดให้มีสำนักหมากรุกหรือซุ้มหมากรุกของตนเอง เล่นกันในกลุ่มระหว่างบ่าวไพร่ บางคราวก็แข่งขันกับสำนักอื่น วังอื่น ตัวหมากรุกก็ได้ประดิษฐ์ให้ดูแล้วสวยงามน่าจับต้อง วัสดุที่นำมาทำตัวหมากเดิมเป็นไม้ ก็เปลี่ยนเป็นงาแกะสลักงดงาม มีศิลปะทรงคุณค่า ส่วนตามวัดตามบ้านก็ใช้ลูกหมากรุกที่ทำด้วยไม้กันเป็นพื้น เบี้ยใช้เปลือกหอยทะเลอย่างเดิม ตัวหมากรุกชุดงาแกะสลักนั้นถึงกับประกวดประชันความงามวิจิตรกันขึ้นในหมู่เจ้านายและขุนนางชั้นสูง ความนิยมเช่นนี้มีมาจนกระทั่งถึงวาระการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระมหากษัตริย์ไทยสมัยนี้ นับตั้งแต่องค์ปฐมบรมกษัตริย์มาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เชื่อว่าทรงหมากรุกเป็นทุก พระองค์ เพียงแต่ว่าพระองค์ใดจะโปรดมากน้อยแค่ไหน เท่านั้นเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์สุภาษิตเพื่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์จะ ได้น้อมนำเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยทรงเปรียบความว่า ชีวิตที่จะต้องก้าวเดินไปข้างหน้านั้นมีอุปสรรคสิ่งอันตรายอยู่รอบด้าน ต้องคอยระมัดระวังและรู้เท่าทัน จึงจะเอาตัวรอดได้ เหมือนการเล่นหมากรุกที่ต้องรอบคอบ รู้เขารู้เรา เมื่อถึงคราวจะต้องสูญเสียก็จำต้องเสียทุกครั้ง เมื่อมีการเคลื่อนไหวก็ต้องคิดหาหนทางก้าวหน้า ดังพระราชนิพนธ์

“หมากรุกขาดขุนเป็นบุญของเบี้ย

ไม่รู้ที่ได้เสียจะตกตากด

ม้าดีมีพยศจะเชื่องเหมือนฬา

ใครอยากจะไปหน้าจะตกกลับหลัง

ความจริงจังอยู่กับคนพวกมาก

ตกที่ลำบากต้องทำใจเหมือนนํ้า

อยากเดินคํ่าๆ ต้องคลำหาทาง

ต้องรู้ทั้งหัวทั้งหางจึงจะจับถนัด

ตกแต้มติดขัดต้องยอมให้กินเปล่า

คิดจะเดินทางยาวต้องคิดถึงเรือ”

สมเด็จพระวันรัต (จ่าย)
สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) รับนิมนต์เพื่อเป็นคู่ซ้อมหมากรุกให้สมเด็จพระปิยมหาราช

เล่ากันว่าสมเด็จพระปิยมหาราชนั้น โปรดกีฬาหมากรุก อยู่มาก จึงมีนักหมากรุกฝีมือเยี่ยมในรัชสมัยนี้หลายคน ทั้งเจ้านาย ขุนนางและพระสงฆ์ ว่ากันว่าสมเด็จพระวันรัต (จ่าย) วัดมหาธาตุนั้น รับนิมนต์เข้าวังบ่อยๆ เพื่อเป็นคู่ซ้อมให้พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงหมากรุกด้วย เพราะสมเด็จพระวันรัตรูปนี้มีฝีมือในการเล่นหมากรุกชนิดเยี่ยมยุทธ์ผู้หนึ่ง เป็นผู้นำวิธีการไล่ม้าเม็ดหรือมวยเม็ดที่เรียกว่า “กระรอกไต่ราว” มาใช้ก่อนใครจนแพร่หลายเป็นแบบอย่างที่ยกย่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ในรัชกาลที่ 6 เจ้านายและ ขุนนางนิยมเล่นหมากรุกกันแพร่หลายออกไปอย่างมาก มีสำนักหมากรุกที่มีชื่อในท้องที่หลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ และในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว ปี พ.ศ. 2473 ได้มีการแข่งขันหมากรุกทำนองชิงแชมป์แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าพระยาอรรคเทวินทร์เป็นผู้ชนะเลิศ นับเป็นแชมป์หมากรุกที่เป็นทางการคนแรกของประเทศไทย

พอถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลังปี พ.ศ. 2475 เจ้านายและขุนนางชั้นสูงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำการขัดขวางต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของคณะผู้ก่อการ จึงถูกลิดรอนสิทธิ์และจำกัดอำนาจบางประการ จนหลายพระองค์ทรงอึดอัดพระทัยต้องเสด็จไปประทับในต่างประเทศ วังต่างๆ และบ้านขุนนางที่มีอำนาจอยู่ก่อนหน้านั้นก็เงียบเหงา ร่วงโรยไร้ความหมายลง

คณะก่อการแม้อาจนิยมชมชอบ กีฬาหมากรุกกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะต้องคอยห่วงรูปแบบการปกครองใหม่ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอำนาจของตนเอง ของคณะและมีบางคนเหมือนกันที่คิดถึงประเทศชาติ ส่วนใหญ่จึงเครียดและเคร่งขรึม บ้านเมืองแม้จะมีความหวังใหม่ในสายตาของกลุ่มผู้ก่อการ แต่ลึกๆ แล้วเงียบเหงาซบเซา จนบางกลุ่มเห็นว่ามันสิ้นหวังเอาเลยทีเดียว นักหมากรุกที่เคยครึกครื้นเฮฮากันก่อนหน้านั้น ก็ต้องเก็บลูกเข้าลิ้นชักยุบสำนักปิดสมาคมไป

จนถึงปี พ.ศ. 2483 หมากรุกเริ่มแพร่หลายออกสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ประชาธิปไตยยังอยู่ในชั้นอนุบาล โดยในปีนี้ได้มีการแข่งขันชิงแชมป์หมากรุกแห่งประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง ปรากฏว่า นายผล สุขา เป็นผู้ชนะเลิศ หลังปีนี้แล้วนางสาวสยามที่ผู้คนทั้งโลกเยินยอกันว่ายิ้มสวยก็ถูกญี่ปุ่นขืนใจ แรกๆ ดูเธอก็ปวดใจขมขื่น แต่ไม่นานก็เคลิบเคลิ้มหลงใหลไปกับแสงศิวิไลซ์ เลิกกินหมาก กินพลู ปลดชายกระเบนออกแล้วนุ่งซิ่นสวมหมวก ในเวลาถัดมาเพียงเล็กน้อย ฝรั่งก็เข้ามาหมายจะแย่งเธอไปจากญี่ปุ่น ซึ่งเธอก็ไม่ปฏิเสธ ขณะที่มือซ้ายโอบกอดญี่ปุ่นอยู่ มือขวาก็เช็กแฮนด์กับฝรั่ง แล้วไม่นานทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งต่างก็กลับบ้าน ทิ้งเธอให้ผจญชะตากรรม ต้องต่อสู้กับความอดอยากขาดแคลน แม้ปัจจัยสี่ก็มีไม่พอบริโภค

นั่น คือเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กระทบกระเทือนคนไทยเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หมากรุกในยุคนี้ต้องหยุดการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปถึง 20 ปีเต็มๆ เพิ่งมา เริ่มกันอีกทีในปี พ.ศ. 2503 โดยเทศบาลกรุงเทพฯ เป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีการแข่งขันขึ้น เรียกกันว่าการแข่งขันท้องสนามหลวง ราวๆ ช่วงเดือนเมษายนของทุกปีปรากฏว่า นายสม บรมสุข เป็นแชมเปี้ยนติดต่อกันมาหลายปี จากนั้นก็มีนักหมากรุกมือดีรุ่นใหม่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นแชมป์สืบต่อกันมา การแข่งขันและสถานที่แข่งขันก็เปลี่ยนไป จนมาถึงยุคแข่งขันชิงแชมป์ขุนทองคำ และรายการอื่นๆ อีกหลายรายการ ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

มีเรื่องชวนให้คิดถึงความเป็นมาของ หมากรุกไทย บางประการ เช่น

การนับ

ไม่ว่าศักดิ์เรือ ม้า โคน เม็ด เบี้ยหงาย ไปจนถึงศักดิ์ กระดานที่เป็นกฎการเล่น หมากรุกไทย นั้น เราได้มาจากไหน หรือคิดค้นประยุกต์กันขึ้นมาเอง เพราะไม่ว่าต้นกำเนิดคือ จตุรงค์ หรือที่แพร่หลายออกไปยังประเทศต่างๆ ไม่มีที่ใด นับกันไม่ว่าศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น แพ้ก็แพ้ เสมอก็เสมอ เป็นการ ยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ใช่การหาเสมอหรือทำให้เสมอ โดยการนับไปจนครบศักดิ์ต่างๆ ตามกติกาของไทยเรา

เป้าหมายหรือธงชัยของเบี้ย

ในจตุรงค์เดิม หมากรุกสากลหรือหมากรุกฝรั่ง ความหวังอันสูงสุดของพลทหารแนวหน้าหรือเบี้ย ที่อุตส่าห์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายบุกขึ้นไปเพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่มีอำนาจ สูงสุดของกองทัพ คือ ควีน เรือ หรือกำลังตัวใหญ่อื่นๆ แล้วแต่ความปรารถนาที่จะเป็น เมื่อฟันฝ่าไปถึงตาบนสุด ของฝ่ายตน หรือตาแรกฐานที่ตั้งกำลังตัวโตฝ่ายตรงข้าม แต่พลทหารหรือเบี้ยของไทยเราหามีความหวังเช่นนั้นไม่ เป้าหมายสูงสุดของทหารเดนตายพวกนี้ ขอเพียงแค่ได้เป็นเม็ดระดับหัวหมู่ก็ถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด ไม่มีโอกาสที่จะก้าวไกลไปกว่านั้นอีกแล้ว และกองกำลังที่หยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีของเหล่าพลทหารเสี่ยงตายหน่วยนี้ จะได้รับการ ติดยศเป็นหัวหมู่ทันทีที่สามารถไปยืนบนตาที่ 6 ของ ฝ่ายตน หรือตาที่ 3 ฐานเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามได้ นี่ก็เช่นเดียวกันเป็นกติกาที่ใช้เฉพาะ หมากรุกไทย เท่านั้น

ปัญหาที่น่าศึกษาอีกปัญหาหนึ่งคือ หมากรุกเปลี่ยนจากชื่อจตุรงค์มาเป็น “หมากรุก” ตั้งแต่เมื่อใด ใครตั้งชื่อใหม่เพราะเหตุใด รวมทั้งการเรียกชื่อตัวหมากรุกต่างๆ ที่ ผิดไปจากเดิม เช่น เรือเดิมคือช้าง โคนเดิมคือรถ เม็ดเดิมคือมนตรี และเบี้ยแทนทหารไพร่พลแนวหน้า

ดังกล่าวแล้วว่า หมากรุกในสมัยสุโขทัยและแม้ใน รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา ยังคงเรียกว่าจตุรงค์อยู่ เราอาจมองย้อนอดีตของหมากรุก เพื่อค้นหาข้อสันนิษฐานจุดการเปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น การเปลี่ยนชื่อตัวหมากรุก ทั้งหมดน่าจะปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว เช่น ขุนแทนของเดิมคือพระราชา สุโขทัยเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพ่อขุนหรือขุน เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชในจารึกว่า “…ขุนผู้ใดไหว้ดีพลี ถูกเมืองนี้เที่ยง ไหว้บ่ดีพลีบ่ถูกเมืองนี้หาย…” โคนของเดิม เป็นหน่วยรบที่ใช้ม้า หรือรถลากโดยกำลังคนคล้ายๆ เหล่ายานเกราะหรือยานยนต์ พอเข้ามาในประเทศไทย หน่วยรบเช่นนี้ของเราไม่มี มีแต่กองกำลังคนเดินเท้า ไทยจึงเปลี่ยนเป็นหน่วยรบกำลังคนล้วนๆ จึงเรียกคนหรือโคน เพราะ สระ โ – ะ ลดรูปและสระออในสมัยสุโขทัยนั้นใช้สับสนปนเปกันอยู่กับสระโอ เช่น คนชื่อนิคมเรียกนิโคม แม่นํ้าโขงเรียกแม่นํ้าของ

สำหรับตำแหน่งนี้ในบางแห่งว่าเดิมเป็นเหล่าช้างก็มี ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและสถานภาพแต่อย่างใด พลทหารเดินเท้าหรือกองหน้านั้นไม่ได้เปลี่ยนหน้าที่ แต่เปลี่ยนชื่อไปเรียกตามวัสดุที่นำมาใช้เป็นตัวหมากรุกว่าเบี้ย เพราะนิยมใช้เปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนในสมัยสุโขทัยแทนทหารราบ ส่วนเม็ดนั้นของเดิมคือมนตรีหรือเสนาบดีผู้ใหญ่ เมื่อออกไปสู่อาหรับก็ยังคงเป็นมนตรีผู้ใกล้ชิดพระราชาอยู่ แต่พอไปถึงยุโรป ฝรั่งเศส เปลี่ยนไปเป็นพระราชินีหรือควีน เพราะเห็นว่า ผู้ใกล้ชิดพระราชามากที่สุดคือพระราชินีนั่นเอง แต่พระราชินีหรือควีนในระยะแรกๆ เมื่อเปลี่ยนมาจากมนตรี ใหม่ๆ ก็มิได้มีอำนาจอะไรมากนัก คงมีศักดิ์เท่ามนตรีเดิม ครั้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวยุโรปเห็นว่า พระราชินีบางพระองค์ทรงอำนาจเหนือพระราชาก็มี จึงสถาปนาพระนางขึ้นเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในกระดานหมากรุก สำหรับเม็ดของไทยนั้นเปลี่ยนจากมนตรีมาเป็นเม็ดแต่เมื่อใดยากที่จะเดา

ชื่อจตุรงค์เปลี่ยนมาเป็นหมากรุกแต่เมื่อใด ข้อนี้มีสิ่งที่ควรคิดอยู่ว่าแม้เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นๆ นั้น คนไทยยังเรียกหมากรุกว่าจตุรงค์อยู่ ยังไม่รู้จักคำว่าหมากรุก เมื่อมาถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง หลังจากคน ไทยเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ คือพ่อค้าอาหรับ และทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสแล้ว เชื่อว่าคนต่างแดนที่ เข้ามาในประเทศไทยช่วงนี้ คงได้นำหมากรุกตามแบบที่พวกเขาเล่นกันอยู่เข้ามาด้วย และหมากรุกที่เผยแพร่อยู่ทั่วตะวันออกกลางและยุโรปในยุคนั้น ตัวหมากที่มีอำนาจมากที่สุดคือเรือ เรียกตามภาษาเดิมว่ารุค เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุประจำปีของอาหรับ ซึ่งได้เก็บราชสาส์นของพระเจ้านิเซโฟรัส จักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซน ไทน์ (อาณาจักรโรมันตะวันออก) ที่มีถึงกษัตริย์ฮารุนแห่ง อาหรับในทำนองทวงคืนเครื่องราชบรรณาการของกษัตริย์ ก่อนหน้านั้น มีเนื้อความว่า

“…จักรพรรดินี (พระนางไอรีน) ซึ่งเราได้สืบราชบัลลังก์ต่ออยู่ในขณะนี้นั้น ทรงเห็นว่าท่านเป็นรุค ขณะที่ ทรงเปรียบพระนางเองว่าทรงเป็นเพียงเบี้ย เพราะฉะนั้น พระนางจึงต้องส่งบรรณาการมากกว่าสองเท่าที่ควรจะส่งมาให้ท่าน ทั้งนี้เป็นเพราะความอ่อนแอและความหวาดกลัวของผู้หญิง อย่างไรก็ตามเมื่อท่านทราบเรื่องนี้แล้ว ขอให้ท่านจงคืนเงินทั้งหมดที่เคยรับไปจากพระนางให้แก่เราโดยทันที และถ้าหากท่านรีรอที่จะปฏิบัติแล้ว หนี้ของเราจะต้องชำระกันด้วยดาบ…”

กษัตริย์ฮารุนทรงตอบโดยเขียนข้อความลงบนแผ่น หลังของพระราชสาส์น ที่รับจากจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ ส่งกลับไป มีใจความว่า

“…ในนามของพระผู้เป็นเจ้าพระผู้ทรงไว้ซึ่งความเมตตาและสง่างาม จากฮารุนผู้เป็นนายแห่งความซื่อสัตย์ ถึงสุนัขแห่งโรม นิเซโฟรัส เราได้อ่านสาส์นและเข้าใจเจตจำนงของคนถ่อยอย่างเจ้าแล้ว สำหรับคำตอบของเรานั้น เจ้าจะได้เห็นแทนการได้ยิน…”

จริงอย่างคำพูด กษัตริย์ฮารุนกรีธาทัพเข้าโจมตีไบแซนไทน์เมืองหลวงโรมันตะวันออกทันที ทำลายล้าง บ้านเมืองต่างๆ ตามรายทางไปจนถึงเมืองหลวง กองทัพกษัตริย์นิเซโฟรัสไม่อาจต้านทานได้ จึงขอเจรจาสงบศึกในที่สุด

ในอินเดียตอนใต้ก็เรียกเรือว่าโรคะ ในสมัยสุโขทัย และอยุธยาตอนต้นคนไทยเราเรียกเรือว่าโรคะหรือรุค หรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ แต่หลังจากการติดต่อกับอาหรับ และยุโรปแล้ว ไทยเราคงจะได้ประยุกต์จตุรงค์เดิม กับ หมากรุกจากต่างประเทศที่เผยแพร่เข้ามาใหม่นี้ แล้วตั้งชื่อใหม่สั้นๆ แต่ฟังดูรัดกุมและดุดันแบบคำพยางค์เดียวโดดๆ ของไทยว่า “รุก” ตามตัวหมากสำคัญที่ชาวต่างชาติเขาเรียกขานกัน ส่วนคำว่า “หมาก” นั้นเป็นคำไทยโบราณแปลว่าการละเล่น เมื่อเรียกรวมกันจึงเป็น “หมาก รุก” และน่าเชื่อว่าการนับศักดิ์ต่างๆ การเปลี่ยนสภาพจากเบี้ยควํ่าเป็นเบี้ยหงายหรือเม็ด เมื่อพลทหารราบเดินไป ถึงจุดๆ หนึ่ง ตลอดทั้งการเปลี่ยนแปลงการเดินของโคน หรือหน่วยรถรบเดิม จากการเดินแบบตาโป่งมาเป็นการเดินของโคนอย่างเช่นในปัจจุบัน ก็น่าจะเริ่มต้นแต่ช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน

เหล่านี้คือวิวัฒนาการของ หมากรุกไทย ที่สืบทอดสั่งสมกันมานานไม่น้อยกว่า 600-700 ปี และคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน แต่คงจะได้มีการปรับเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ หลายครั้งหลายคราว จนถึงจุดที่ตรงกับทัศนคติ อุปนิสัย ที่คนไทยทุกคนยอมรับ นั่นคือรูปแบบและลักษณะของ หมากรุกไทย ที่เราท่านเล่นกันอยู่ในทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2560