เปิดแผนลอบสังหาร “รัสปูติน” จอมตัณหา ผู้นำความเสื่อมทรามสู่รัสเซีย

รัสปูติน
รัสปูติน (ภาพมีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มเติมจากต้นฉบับ)

กริกอรี รัสปูติน (Grigory Rasputin) ผู้วิเศษแห่งราชสำนักโรมานอฟ เนื่องจากเขาเสียชีวิตจากการลอบสังหารในวันที่ 30 ธันวาคม 1916 แต่บางตำราอาจจะระบุว่าเป็นวันที่ 17 ธันวาคม ซึ่งนั่นเป็นเพราะสมัยนู่นที่ รัสเซีย เขายังใช้ปฏิทินแบบจูเลียนอยู่ หลังการปฏิวัติจึงเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียนเหมือนชาวบ้านเขา

ที่บอกว่า รัสปูติน เป็นจอมตัณหา ผู้เขียนไม่ได้แต่งขึ้นเอง แต่คำว่า “รัสปูติน” ในภาษารัสเซียแปลได้ว่า “จอมตัณหา” ซึ่งเขาได้ฉายานี้มาตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อเดิมเต็มๆ ของเขาจริงๆ แล้วคือ “Grigory Yefimovich Novykh” แต่พฤติกรรมอันลือชื่อของเขาได้กลายมาเป็นนามสกุลของเขาเองในภายหลัง

ตอนเขาอายุได้ 18 ปี เขาได้เข้าหานิกายที่ชื่อว่า “Khlysty” (ไม่ได้บวช) ซึ่งเป็นนิกายที่เชื่อในการทรมานตัวเอง และแสดงศรัทธาต่อพระเจ้าด้วยพิธีกรรมที่โน้มนำจิตเข้าสู่ภวังค์ แต่ รัสปูติน ไปไกลกว่านั้นโดยเขาเสนอว่า คนจะเข้าใกล้พระเจ้าได้มากที่สุดเมื่อคนๆ นั้นรู้สึกได้ถึง การปราศจากกิเลสตัณหาอันศักดิ์สิทธิ์” และคนที่จะเข้าถึงภาวะดังกล่าวได้ก็จะต้องผ่านการร่วมเพศแบบมาราธอนจนหมดความกระหายทางเพศไปเอง

รัสปูติน เข้าสู่ราชสำนักของรัสเซียได้ส่วนหนึ่งก็เพราะราชสำนักสมัยนั่นนิยมชมชอบเรื่องไสยศาสตร์เป็นอย่างมาก ชื่อเสียงของ รัสปูติน ที่ว่ากันว่า หากใครเพียงได้รับสัมผัสลูบไล้จากเขาก็จะทำให้หายจากการป่วยไข้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากราชสำนักเป็นอย่างดี

เมื่อมกุฎราชกุมารอเล็กซี รัชทายาทของซาร์นิโคลัสที่ 2 และซารินาอเล็กซานดรา ซึ่งป่วยด้วยอาการเลือดไหลไม่หยุดเกิดมีอาการกำเริบขึ้นมา ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มียาที่ได้ผลดี รัสปูติน จึงถูกซารินาอเล็กซานดราเรียกไปเข้าเฝ้า และได้มีโอกาสสร้างความประทับใจต่อหน้าพระพักตร์ ด้วยการทำให้รัชทายาทพ้นจากความเจ็บปวดได้สำเร็จ (ว่ากันว่าน่าจะใช้การสะกดจิต) เขาจึงกลายเป็นที่โปรดปรานของราชสำนักขึ้นมาทันที

นับแต่นั่นมา รัสปูติน ก็กลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงต่อราชสำนักและการดำเนินนโยบายของรัฐ และแม้ว่าจะมีผู้ถวายฎีการ้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ รัสปูติน ทั้งเรื่องขี้เมา และมักมากในกาม ชอบฉวยโอกาสสมสู่กับหญิงที่มาพัวพันไม่เลือกหน้า แต่ด้วยความรักต่อพระชายาและพระโอรส ซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงเลือกที่จะเพิกเฉย

เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ตัดสินพระทัยเสด็จไปร่วมทัพในแนวหน้าในปี 1915 และมอบหมายให้ ซารินาอเล็กซานดรา เป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่ซารินาอเล็กซานดราทรงกังวลกับพระอาการของรัชทายาทเป็นอย่างมากจึงมอบหมายให้ รัสปูติน ในฐานะที่ปรึกษาเป็นผู้ดูแลกิจการของรัฐแทน

รัสปูติน ซึ่งเป็นที่เกลียดชังของทั้งสมาชิกราชวงศ์ และชนชั้นสูงหลายรายอยู่ก่อนแล้ว และเคยถูกลอบสังหารมาแล้วหลายครั้ง การที่เขาได้โอกาสเข้ามาก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองโดยตรง จึงยิ่งทำให้ความเกลียดชังต่อตัวเขาหนักหนายิ่งขึ้น

เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yussoupov) พระสวามีในพระนัดดาของพระเจ้าซาร์ ได้กลายมาเป็นผู้นำในการวางแผนลอบสังหาร รัสปูติน ด้วยพระองค์เองเพื่อยุติความฉาวโฉ่ของราชสำนัก พระองค์ทรงรู้จักมักคุ้นกับ รัสปูติน อยู่แล้ว จึงเชิญให้ รัสปูติน มาเข้าเฝ้า ณ พระราชวังของพระองค์ในคืนวันที่  30 ธันวาคม (บางแหล่งระบุว่าเป็นวันที่ 29)

เจ้าชายเฟลิกซ์ต้อนรับรัสปูตินด้วยเค้กและไวน์ที่ใส่ยาพิษเอาไว้ล่วงหน้า รัสปูติน เพลิดเพลินกับอาหารและไวน์อย่างเต็มที่ โดยที่พิษที่ใส่เอาไว้ไม่ได้ทำให้เขาเจ็บป่วยประการใด ระหว่างที่เจ้าชายเฟลิกซ์กำลังเล่นกีตาร์และร้องเพลงขับกล่อมรัสปูตินอยู่นั้น พระองค์จึงได้คว้าปืนยิงเข้าใส่รัสปูติน 

รัสปูติน กรีดร้องและดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งชีวิต เขาพยายามเข้าทำร้ายเจ้าชายเฟลิกซ์ ก่อนที่หลายคนที่ร่วมวางแผนซึ่งตอนแรกไปซุ่มตัวอยู่ที่ชั้นบนจะวิ่งลงมาดูเหตุการณ์ และหนึ่งในผู้วางแผนซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น วลาดิเมียร์ พูริชเควิช (Vladimir Purishkevich) ผู้นำฝ่ายขวาของรัฐสภารัสเซีย ก็ได้กระหน่ำยิงเข้าใส่รัสปูตินไปหลายนัด และมีนัดนึงเข้าที่ศีรษะพอดี

ภาพถ่ายจาก Edvard Radzinsky ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Rasputin: The Last Word” เป็นศพที่อ้างว่าเป็นของ รัสปูติน ซึ่งน่าจะถูกทิ้งลงแม่น้ำอันหนาวเหน็บโดยยังมีชีวิตอยู่ (AFP PHOTO / HO)
ภาพถ่ายจาก Edvard Radzinsky ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Rasputin: The Last Word” เป็นศพที่อ้างว่าเป็นของ รัสปูติน ซึ่งน่าจะถูกทิ้งลงแม่น้ำอันหนาวเหน็บโดยยังมีชีวิตอยู่ (AFP PHOTO / HO)

ดร.สตานิลัส ลาโซเวิร์ต (Dr Stanislaus Lazovert) หมอซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแผนการได้เข้าไปดูร่างของ รัสปูติน ที่ล้มกองอยู่และประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้ว จากนั้นพวกเขาก็ได้ห่อร่างของ รัสปูติน พาไปยังแม่น้ำเนวา (Neva) ที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไป แล้วก็นำเอาร่างที่ห่อไว้ของ รัสปูติน จับยัดลงไปในโพรงน้ำแข็ง เมื่อภายหลังมีการค้นพบห่อร่างของเขา ปรากฏว่าเขาน่าจะยังมีชีวิตขณะที่โยนลงน้ำและพยายามดิ้นรนให้พ้นจากใต้ผืนน้ำแข็งแต่ไม่สำเร็จจึงจมน้ำตาย

ก่อนจะจากกัน ผู้เขียนต้องขอบอกไว้ก่อนว่านี่เป็นเพียงสำนวนหนึ่งของตำนานว่าด้วยความตายของ รัสปูติน ซึ่งยังมีอยู่อีกหลายสำนวนแล้วแต่ปากคำของพยานที่ให้การไม่ได้ต้องตรงกันทั้งหมด อย่างเรื่องการวางยาแล้วไม่ตาย ก็มีอีกสำนวนอ้างว่า ดร.ลาโซเวิร์ต ที่ได้รับมอบหมายให้วางยา จริงๆ แล้วไม่ได้วางยา เพราะไม่อาจผิดคำสาบานในฐานะแพทย์ได้ รัสปูติน ถึงได้ไม่ตายหลังกินอาหารและไวน์เข้าไปจำนวนมาก

ส่วนเรื่องที่ว่าเขาจมน้ำตายก็มีผู้แย้งว่าถ้าเข้ายังไม่ตายก่อนถูกโยนลงแม่น้ำจริงก็ต้องมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเขากลืนน้ำเข้าไป แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ว่า เขาจึงน่าจะตายไปแล้วตั้งแต่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะอย่างที่ ดร.ลาโซเลิร์ต บอกในตอนแรก

ด้วยเหตุที่การฆาตกรรมเกิดขึ้นในแวดวงชนชั้นสูง มีการวางแผนและการทำลายหลักฐานเป็นขั้นเป็นตอน การเข้าถึงหลักฐานชั้นต้นก็มีอย่างจำกัด การตายของ กริกอรี รัสปูติน จึงมีลักษณะเป็นตำนานบอกเล่าซึ่งมีมากสำนวนตามแต่คนที่มีส่วนพัวพันจะกล่าวอ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Grigori Rasputin Murdered”. Richard Cavendish. History Today, December 2016.

“Grigory Yefimovich Rasputin”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Grigory-Yefimovich-Rasputin>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2559