กระแส “L-pop” ทำคนไทยคลั่งเพลงลาวหนักหนา ก่อนหน้า K-pop หรือ J-pop นับร้อยปี

ลาวแคน (หรือลาวแพน) คือลาวเป่าแคน หรือขับฟ้อนในกรุงเทพฯ [ภาพและคำบรรยายภาพจาก “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน--สุจิตต์ วงษ์เทศ]

ไทยเป็นประเทศเสรีที่เปิดรับการค้า ประเพณี และวัฒนธรรมที่เข้ามาพร้อมกับคนต่างชาติมาเนิ่นนาน ความรู้วิทยาการด้านต่างๆ รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีหลายประการ คนไทยก็ได้แบบอย่างมาจากชาวต่างชาติไม่น้อย

แต่การที่คนไทยบางกลุ่มไปให้ “ความนิยม” กับวัฒนธรรมอื่นมากก็มักจะทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน รวมถึงรัฐเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา เหมือนกรณีของเด็กวัยรุ่นไปแห่แหนดาราต่างชาติ ซึ่งยุคนี้ก็ต้องเป็นดาราเกาหลีหรือศิลปิน K-pop ก่อนหน้านั้นไปหน่อยก็เป็นพวก J-pop หรือดารานักร้องญี่ปุ่น ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายเห็นเข้าก็จะต้องออกมาเตือนบรรดาวัยรุ่นให้รู้จักสำรวม มีความพอดี หรือแนะนำให้ไปสนใจคนไทยที่น่าแห่แหนมากกว่าคนต่างชาติก็มี

ตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งที่วงดังระดับนานาชาติจากเกาหลีอย่างวง “ดงบังชินกิ” เดินทางมาเยือนเมืองไทยจนเกิดกระแสฟีเวอร์ในบรรดาวัยรุ่นอย่างหนัก คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์ ที่ขณะนี้ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แต่ตอนนั้นท่านยังเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ ออกมาบอกว่า “ตนอยากฝากเตือนไปยังเด็กและเยาวชนด้วยว่า การชื่นชมหรือชื่นชอบศิลปินไม่ใช่เรื่องผิด ควรชื่นชอบแต่พองาม ไม่ควรหมกมุ่นมากเกินไป รวมทั้งไม่ควรฟุ้งเฟ้อ ซื้อสิ่งของที่มีราคาตามกระแสความนิยมมากเกินไป1

หรือ คุณคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในอดีตท่านเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติและอดีตสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาช่วงหลังรัฐประหารปี 49 ก็ออกมาพูดถึงปรากฏการณ์วัยรุ่นไทยคลั่งดาราเกาหลีว่า

ผมว่าวัยรุ่นหรือวัยเด็ก มีความนิยมอย่างหนึ่งเขาเรียกว่านิยมวีรบุรุษ แต่ปัญหาคือสังคมไทยในเวลานี้ขาดวีรบุรุษ ผมเชื่อว่าพี่เบิร์ดก็ดี เป็นวีรบุรุษในระดับหนึ่ง หรือว่านักการเมืองที่มีชื่อเสียง ที่มีการกระทำที่โดนใจประชาชน ก็สามารถจะเป็นวีรบุรุษได้ ผมเชื่อว่าคนอย่างคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ขึ้นมาเป็นวีรบุรุษได้ในระดับหนึ่ง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นวีรบุรุษได้ในระดับหนึ่ง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ก็เป็นวีรบุรุษได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือว่าเกิดอะไรขึ้นกับวีรบุรุษในสังคมไทย และสังคมไทยตอบแทนวีรบุรุษอย่างไร สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหนในจุดนี้ การส่งเสริมให้คนทำคุณงามความดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญก็คือว่าผู้ใหญ่แวดวงการเมือง แวดวงการบริหารประเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นตัวแบบเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างให้กับคนในประเทศคือคนรุ่นหลังมากน้อยแค่ไหน2

ปรากฏการณ์คนไทย (หรือคนสยามตามยุคสมัย) หลงไหลวัฒนธรรมต่างชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เห็นได้จากศิลปกรรมและวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของบ้านเราที่มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะจากประเทศ หรืออาณาจักรเพื่อนบ้าน ซึ่งแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงชื่นชมในศิลปะเขมรโบราณเป็นอย่างยิ่ง จนเคยมีพระราชดำริให้รื้อปราสาทเขมรมาไว้ในกรุงเทพฯ มาแล้ว ด้วยทรงเห็นว่า “จะเป็นเกียรติยศไปภายหน้า

แต่เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า ชาวบ้านชาวช่องพากันแห่แหน “วัฒนธรรมลาว” โดยเฉพาะดนตรีแบบลาว ก็ทำให้พระองค์ทรงไม่สบายพระราชหฤทัยแม้จะทรงเห็นว่า การมีวัฒนธรรมที่หลากหลายจะเป็น “เกียรติยศบ้านเมือง” แต่ก็ต้องยึด “ไทย” เป็นพื้น ดังพระบรมราชโอการ3ดำรัสแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า

เมืองไทยเป็นที่ประชุมชาวต่างเพศต่างภาษาใกล้ไกลมากด้วยกันมานานแล้ว การเล่นการฟ้อนรำขับร้องของภาษาอย่างต่างๆ เคยมีมาปะปนเป็นที่ดูเล่นฟังเล่นต่างๆ สำราญ เป็นเกียรติยศบ้านเมืองก็ดีอยู่ แต่ถ้าของเหล่านั้นคงอยู่ตามเพศตามภาษาของคนนั้นๆ ก็สมควร หรือไทยจะเลียนเอามาเล่นได้บ้าง ก็เป็นดีอยู่ว่าไทยเลียน ใครเลียนได้เหมือนหนึ่งพระเทศนามหาชาติว่าอย่างลาวก็ได้ ว่าอย่างมอญก็ได้ ว่าอย่างพม่าก็ได้ ว่าอย่างเขมรได้ก็เป็นดี แต่จะเอามาเป็นพื้นไม่ควร ต้องเอาอย่างไทยเป็นพื้น อย่างอื่นๆ ว่าเล่นได้แต่แหล่หนึ่งสองแหล่

กระแสความนิยมในดนตรีลาว หรือจะเรียกโดยอนุโลมตามสมัยปัจจุบันได้ว่า “L-pop” คงจะหนักหนาเอาการในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงขนาดที่นักดนตรีไทยต้องขายเครื่องไม้เครื่องมือทำกิน เพราะคนหันไปนิยม “ลาวแคน” กันเสียหมด ดังความที่ทรงบรรยายว่า

ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัวคือปี่พาทย์มโหรีเสภาครึ่งท่อน ปรบไก่สักรวาเพลงไก่ป่าเกี่ยวข้าวแลละครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่งทุกตำบลทั้งผู้ชายผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีไม่มีผู้ใดหา ต้องบอกขายเครื่องปี่พาทย์เครื่องมโหรี ในที่มีงานโกนจุกบวชนาคก็หาลาวแคนเล่นเสียหมดทุกแห่ง ราคาหางานหนึ่งแรงถึงสิบตำลึง สิบสองตำลึง

พระองค์ยังทรงเห็นว่า การที่ไทยไปเอาการละเล่นแบบลาวมาเป็น “พื้นเมือง” เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นลาว และยังทรงกังวลว่า การที่คนไทยหันไปเล่นลาวแคนยังมีผลทำให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลด้วย

การที่เป็นอย่างนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้งามไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทยๆ ไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร ตั้งแต่พากันเล่นลาวแคนมาอย่างเดียวก็กว่าสิบปีแล้ว จนการตกเป็นพื้นเมือง แลสังเกตดูการเล่นลาวแคนชุกชุมที่ไหน ฝนก็ตกน้อยร่วงโรยไป ถึงปีนี้ข้าวในนารอดตัวก็เพราะน้ำป่ามาช่วย

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการขอให้คนไทยงดการเล่นลาวแคนเสียสักหนึ่งถึงสองปี เพื่อดูว่า “ฟ้าฝนจะงามไม่งามอย่างไรต่อไปข้างหน้า” ผู้ใดมิฟังยังขืนเล่นลาวแคนอยู่ “จะให้เรียกภาษีให้แรง ใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกเจ้าของที่แลผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อ

ฟังดูแล้วน่าจะพอกล่าวได้ว่า K-pop ที่ว่าแน่ๆ ในสมัยนี้ ก็คงยังเทียบไม่ได้กับ “ลาวแคน” สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้รับความนิยมถึงขนาดนักดนตรีไทยตกอับต้องขายเครื่องมือทำมาหากินทิ้ง แถมยังมีผลถึงฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลอีก จนรัชกาลที่ 4 ต้องทรงสั่งห้ามเล่นจริงจังถึงขั้นกำหนดบทลงโทษมาแล้ว และแม้ว่าทุกวันนี้ คนไทย (ในเมือง) จะไม่นิยม “ลาวแคน” สักเท่าไร แต่มันก็ยังลงเหลือตกทอดอยู่ในแผ่นดินไทยมาได้อีกนับร้อยปีมาจนถึงปัจจุบัน

 


อ้างอิง:

1. “กระทรวงวัฒนธรรม ห่วงโจ๋ไทย คลั่ง”. กระปุกดอทคอม. <http://hilight.kapook.com/view/16414>

2. “ยามเฝ้าแผ่นดิน : กรี๊ด “ทงบังชินกิ” สะท้อนวันรุ่นไทยไร้ราก – เย้ยวาระฯ ต้านซื้อเสียงแค่คำหรู”. Manager Online. <http://www2.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9500000122888>

3. ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4.