“คาร์ล กุสตาฟ จุง” จิตแพทย์ผู้มอง UFO เป็นเทวตำนานสมัยใหม่ เสนอทฤษฎีตรงข้าม “ฟรอยด์”

สืบเนื่องมาแต่ศิลปวัฒนธรรมฉบับที่เพิ่งผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ว่ามีสถานภาพทางเศรษฐกิจ ครอบครัว และมีความมุ่งมั่นในงานค้นคว้าทางวิชาการสูงมาก เช่นเดียวกับ คาร์ล กุสตาฟ จุง โดยทั้งคู่มีฐานะเศรษฐกิจดีมาก ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องทำมาหากิน ฐานะการเงินมั่งคั่ง ทำให้ทั้งคู่ทุ่มเทงานทางวิชาการได้อย่างเต็มที่

“เทพย์ สาริกบุตร” นักโหราศาสตร์ชั้นครู ผู้เคยให้ฤกษ์คณะรัฐประหารจนต้องหนีบวช?

อย่างไรก็ดี งานค้นคว้าทางวิชาการของจุงมีมาก กว้างขวางและลุ่มลึก โดยเฉพาะเรื่องชีวิตจิตใจมนุษย์ ในที่นี้จะนำมาเล่าเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น อันอาจไม่ถูกใจบางท่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของจุง ซึ่งต้องขออภัย

จุง คือ คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) เป็นชาวสวิส เกิดที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๕ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ณ ชนบทบ้านเกิดในซูริก รวมอายุได้ ๘๕ ปี ในช่วงชีวิตที่ค่อนข้างยาวนี้นั้น จุงไม่เคยอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นเลย อาศัยอยู่ที่ซูริกตลอดเวลา กระนั้นก็ตามจุงเป็นนักคิดที่มีชีวิตอยู่ข้ามช่วงศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ อันเป็นช่วงสำคัญที่โลกชุกชุมด้วยนักปราชญ์และคนฉลาดในสาขาวิชาการต่างๆ เป็นอันมาก ตัวจุงเองก็เป็นนักวิชาการคนหนึ่ง ที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก

หลังจากเรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบาเซล ในเมืองซูริกแล้ว จุงได้ใช้ชีวิตแบบแพทย์และนักจิตวิทยา
ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ไปศึกษาวิชาประสาทวิทยาในสำนักของ ฌอง ชาโกต์ ในปารีส สำนักสะกดจิตที่นองซี สกูล ในฝรั่งเศส กับสำนักฮิพโพลิต เบิร์นไฮ ในเยอรมนี โดยก่อนหน้านั้นเคยสนใจการสะกดจิตแบบเมสเมอร์มาก่อน

เป็นที่เข้าใจได้ว่า จุงหันมาเป็นจิตแพทย์ น่าจะได้แรงจูงใจอย่างมากจากจิตแพทย์ ๒ ท่านที่มีชื่อเสียงเด่นมากในสมัยนั้น คือ เอมิล เครปเปลิน กับ ยูยีน บรอยเออร์ ซึ่งมีฐานะเป็นครูของจุงโดยตรงอีกด้วย

จุงเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องมาก และสนใจสรรพวิชาการต่างๆ หลายสาขา คือ จิตวิทยา จิตบำบัด จิต
เวชศาสตร์ พุทธศาสนานิกายมหายาน เทววิทยา ศิลปกรรม วรรณกรรม การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) ดาราศาสตร์ จิตวิญญาณ ความเป็นทิพย์ต่างๆ (โทรจิต หูทิพย์ ตาทิพย์) โยคะ หมอดู (fortune telling) และทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) กับจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytic Psychology) ซึ่งเป็นหลักจิตวิทยาที่จุงคิดค้นขึ้นเอง

จุงสนใจไม่เว้นแม้แต่เรื่องจานบิน หรือ ยูเอฟโอ (Unidentified Flying Object) ที่คนส่วนใหญ่สงสัยว่าเป็นยานมาจากโลกอื่น แต่จุงวิเคราะห์ว่ามาจากจิตใจส่วนลึกของผู้เห็นจานบินนั้นนั่นเอง

จุงมีผลงานเป็นอันมาก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เช่น

Modern Man in Search of a Soul.

Psychological Types.

Contribution to Analytic Psychology. และ

The Discovered Self. เป็นต้น

ผลงานหนังสือบางส่วนของจุง
ผลงานหนังสือบางส่วนของจุง

โดยประมาณปี ๑๙๐๗ จุงได้พบกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (๑๘๕๖-๑๙๓๙) เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังมาก มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเวียนนา กับกำลังขยายเป็นสมาคมจิตวิเคราะห์นานาชาติอยู่พอดี

จุงได้สนทนากับฟรอยด์นานหลายชั่วโมงและถูกคอกันมาก จนฟรอยด์หวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า จุงผู้นี้นี่แหละจะเป็นผู้สืบสานนำพาสมาคมจิตวิเคราะห์นานาชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง จุงในสายตาของฟรอยด์ คือคนหนุ่มไฟแรง ฉลาดเฉลียว และมีความรู้กว้างขวาง (จุงอายุน้อยกว่าฟรอยด์ ๒๐ ปี) หลังจากนั้นไม่นานจุงก็ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมจิตวิเคราะห์นานาชาติ โดยการหนุนส่งของฟรอยด์

จุงมีเวลาทำงานร่วมกับฟรอยด์อยู่นานประมาณ ๕ ปี (๑๙๐๗-๑๒) ในปี ๑๙๑๐ มีการประชุมจิตวิเคราะห์นานาชาติ ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมที่ได้รับความสำเร็จมากที่สุด มีผลงานทางวิชาการรวบรวมได้ถึง ๕ เล่ม หลังจากการประชุมครั้งนี้ไม่นาน จุงก็มีความเห็นต่างทางวิชาการกับฟรอยด์ และนำไปสู่การแตกแยกที่ไม่อาจประสานกันได้อีก

ความเห็นต่างที่สำคัญก็คือ จุงละทิ้งองค์ความรู้พื้นฐานทางจิตวิเคราะห์ที่ฟรอยด์ได้ค้นคว้ามาตั้งแต่ต้น โดยหันไปเสริมองค์ความรู้ทางปรัชญาตะวันออก พุทธศาสนาลัทธิมหายาน เข้าไปในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะเรื่องของกรรมเก่าหรือคุณสมบัติตกทอด ข้ามภพชาติในจิตไร้สำนึกที่จุงเรียกว่า Collective unconscious

จุงและภรรยา เอ็มมา จุง
จุงและภรรยา เอ็มมา จุง

เมื่อความเห็นต่างทางวิชาการไม่อาจประนีประนอมกันได้ จุงก็แยกมาตั้งทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytic Psychology) ซึ่งเรียกชื่อคล้ายๆกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของฟรอยด์ แต่ทั้ง ๒ ทฤษฎีมีเนื้อหาและสาระสำคัญแตกต่างกัน เช่น จุงให้ความสำคัญกับคุณสมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ (Inherited) เป็นพลังผลักดันพฤติกรรมมนุษย์ ต่างจากฟรอยด์ที่เชื่อว่าพลังเซ็กซ์ (Psychosexual impulse) ที่พัฒนามาตามขั้นตอนจากทารกสู่ผู้ใหญ่ (Psychosexual development) เป็นตัวการสำคัญ

กรณีจิตไร้สำนึก ฟรอยด์ถือว่าเป็นแหล่งรวมของประสบการณ์เดิมๆ ที่ผ่านเลยมาแล้วและลืมไปแล้ว กับปรารถนาที่ต้องห้ามต่างๆ นั้น มักจะปรากฏขึ้นในความฝันโดยเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ได้ แต่จุงกลับให้ความสำคัญกับสมบัติบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดข้ามภพ-ชาติ โดยมาชุมนุมอยู่ในส่วนลึกของจิตและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ จุงเรียกว่า Collective unconscious คือ เป็นอะไรที่ซับซ้อน เป็น “ปม” หรือ “ปมใจ” ชัดเจนอยู่ในจิต (Psyche) หรือบุคลิกภาพของคนๆ นั้น

จิต หรือไซคี ตามความเห็นโดยสรุปของจุง ประกอบด้วยระบบต่างๆ หลายระบบ เช่น

ระบบตัวตน อัตตา หรือระบบเซลฟ์ (Self) เป็นระบบที่เป็นหลักผลักดันให้มนุษย์มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์ (Completeness) ส่วนระบบชาโดว์ (Shadow) นั่นคือส่วนของความเป็นสัตว์ เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของชีวิตระดับต่ำ

ระบบอนิมา (Anima) กับอนิมัส (Animus) อย่างแรกเป็นชิ้นส่วนของความเป็นหญิงในชายและอย่างหลังเป็นชิ้นส่วนของความเป็นชายในหญิง (คล้ายๆ กับว่าชายจริง หญิงแท้เต็มๆ ไม่มีในโลก)

ระบบเพอร์โซนา (Persona) คือหน้ากากมนุษย์ที่ใช้ปกปิดซ่อนเร้นความคิดความเห็นและความรู้สึกไว้ไม่ให้ใครเห็น จึงคล้ายๆ กับว่า ใครที่มีเพอร์โซนาหนา จะเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมาได้น้อย เป็นต้น

ว่ากันว่า จิตวิทยาวิเคราะห์ของจุง สลับซับซ้อนเข้าใจค่อนข้างยาก เพราะรวมองค์ความรู้ลัทธิมหายานเข้าไปด้วย เช่น เรื่องของความบันดาลใจ เรื่องของจิตวิญญาณ ทรานส์เซนเดนซี (Transcendency) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเรื่องของจานบิน หรือ ยูเอฟโอ ที่จุงเชื่อว่าเป็นเทวตำนานสมัยใหม่ที่ปรากฏขึ้นในท้องฟ้า

สำหรับการบำบัดจิตแบบจุงนั้น น่าสนใจมาก จุงให้ความสำคัญกับการรู้ตัวของผู้ป่วยในภาวะปัจจุบันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ (Here and Now) ก่อน จากนั้นผู้รักษาจะช่วยให้กำลังใจผู้ป่วยเผชิญกับปัญหาอย่างกล้าหาญ จนผู้ป่วยสามารถจำแนกแยกแยะ วิเคราะห์สังเคราะห์ปัญหาได้เอง ส่วนความในใจอันซับซ้อนของผู้ป่วยหรือของบุคคล หรือของสังคมนั้น ย่อมได้จากความฝันและแฟนตาซีของพวกเขาเหล่านั้น รวมทั้งจากภาพจิตรกรรม งานวรรณกรรม เรื่องเล่า ตำนาน และบทเพลงต่างๆ ด้วย

ส่วนความฝันในความเห็นของจุงนั้น มิใช่เพียงการสนองความปรารถนาของผู้ฝันเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถสำแดงความคิดสร้างสรรค์ ความหวาดกลัวและความวิตกกังวลของผู้ฝัน นอกจากนี้ความฝันยังมีอำนาจในเชิงพยากรณ์อีกด้วย

เรื่องราวของ คาร์ล กุสตาฟ จุง ยังมีอีกมาก จะหาโอกาสนำมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่งถ้าเป็นไปได้


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2559