ข้อสันนิษฐาน สำนวน “นกสองหัว” มาจากตราแผ่นดินของรัสเซีย หรือสัญลักษณ์ของฟอลคอน?

ตราแผ่นดิน รัสเซีย นกสองหัว
ตราแผ่นดินขนาดย่อของจักรวรรดิรัสเซีย (ฉากหลังเป็นภาพวิหารเซนต์เบซิล โดย Рисунок: К. О. Брож)

อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้เคยเล่าไว้ในศิลปวัฒนธรรม เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า “นกสองหัว” สำนวนไทย ที่แปลว่า การทำตัวฝักใฝ่อยู่สองฝ่ายที่ไม่ค่อยถูกกัน เปรียบว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่จริงใจกับใคร และไม่น่าไว้วางใจนั้น น่าจะมีที่มาจาก ตรานกอินทรีสองหัว ซึ่งเป็นตราแผ่นดินของรัสเซียที่ใช้มาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิ

ปราชญ์เมืองเพชรให้เหตุผลในครั้งนั้นว่า คำคำนี้น่าจะเป็นคำใหม่ เพราะไม่ค่อยเห็นในเอกสารเก่าๆ และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่ได้อธิบายอะไรไว้ จึงเป็นไปได้ว่า สำนวนนี้เพิ่งมีมาเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 5 หลัง “ซาเรวิช” หรือพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 สมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมารเสด็จมาเมืองไทย (หรือสยามตามนามสมัยนั้น) ซึ่งทางราชสำนักไทยก็ได้ทำการต้อนรับพระองค์อย่างยิ่งใหญ่

อาจารย์ล้อมเชื่อว่า การประดับประดาถนนในสมัยนั้นน่าจะต้องตกแต่งด้วยผืนธงที่มีตราแผ่นดินของรัสเซียประกอบ ทำให้ตรา “นกสองหัว” ถูกพบเห็นโดยประชาชนชาวไทยอย่างแพร่หลาย และอาจถูกใช้เป็นสำนวนเป็นลำดับต่อมา

แต่พอถึงปี 2555 อาจารย์ล้อมเล่าว่า ท่านได้ไปพบสำนวนนี้เข้าในเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งมาก่อนที่ซาเรวิชจะเสด็จมาเมืองไทยแน่ๆ ดังนั้นการสันนิษฐานของท่านว่า สำนวนไทย “นกสองหัว” มาจากการที่คนไทยได้เห็นตราแผ่นดินของรัสเซียน่าจะไม่ถูก คนไทยน่าจะได้เห็นตรานี้มานานตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยเฉพาะในสมัยของพระนารายณ์ที่มีบาทหลวงเข้ามาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และตรานกสองหัวก็อาจถูกใช้ในบรรดาชาวคริสต์เพื่อบ่งบอกว่าเป็นคนเข้ารีตเหมือนกัน คนไทยสมัยนั้นจึงให้สมญาพวกเข้ารีตว่าเป็นนกสองหัวนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังเห็นว่าข้อสันนิษฐานของอาจารย์ล้อมมีข้อน่าสงสัย เพราะสัญลักษณ์นกสองหัว แม้จะเป็นที่แพร่หลายในยุโรปและเอเชียกลางอยู่มาก แต่ในทางตะวันตกสัญลักษณ์นี้มักใช้ในฝ่ายอาณาจักรมากกว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายศาสนจักร ต่างจากฝ่ายออร์โธดอกซ์ที่มักใช้สัญลักษณ์นี้ในทางศาสนาด้วย จึงไม่น่าที่บรรดาบาทหลวงที่มาจากโลกตะวันตกอย่างฝรั่งเศสจะเอาสัญลักษณ์นกสองหัวมาให้คนที่เข้ารีตใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเป็นพวกเดียวกัน

แต่ความเป็นไปได้ที่สัญลักษณ์นกสองหัวจะเข้ามาในยุคพระนารายณ์ก็มีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้มาพร้อมกับบาทหลวงคาทอลิก หากเป็น “ออกญาวิไชเยนทร์” หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็จะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชื่อตระกูลของท่านก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “นกอินทรี” และท่านยังเป็นชาวกรีก ไม่ว่าท่านจะนับถือออร์โธดอกซ์หรือไม่ ก็ย่อมคุ้นเคยกับสัญลักษณ์นี้เป็นอย่างดี เนื่องจากมันเป็นสัญลักษณ์ที่แพร่หลายในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางมานาน และเป็นตราสัญลักษณ์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ซึ่ง “เคย” มีศูนย์กลางอยู่บนดินแดนของชาวกรีก ก่อนที่รัฐอื่นๆ โดยเฉพาะรัสเซีย จะนำไปใช้เพื่อสื่อถึงความสืบเนื่องจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกอันยิ่งใหญ่

ดังนั้น หากออกญาวิไชเยนทร์จะหาสัญลักษณ์ประจำตัวสักอันจึงน่าจะมองหา “นกอินทรี” ซึ่งสื่อถึงรากตระกูลของท่านได้ดี และสัญลักษณ์นกอินทรีสองหัวแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็อยู่ในข่ายที่เป็นไปได้ หากท่านออกญาจะถูกเรียกว่าเป็นพวกนกสองหัว ด้วยเหตุนี้ และคำๆ นี้ จะถูกใช้สื่อความหมายเชิงลบในสมัยต่อๆ มาก็ฟังดูเข้าเค้าอยู่เหมือนกัน แต่! นั่นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะยืนยันเป็นข้อสรุปได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565