รัชกาลที่ 5 กับ “อีเบส” ทำไม “อีเบส” เป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่พระองค์ต้องระวัง

เจ้านายฝ่ายใน รัชกาลที่ 5 มี สุนัขทรงเลี้ยง หมอบอยู่
ภาพประกอบเนื้อหา - พระรูปหมู่เจ้านายฝ่ายใน (แถวหน้าจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐสารี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี (แถวหลังจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในภาพมีสุนัขทรงเลี้ยงหมอบอยู่ชิดติดกับกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี มีความเป็นไปได้สูงว่าคือ “อีเบส”

ย้อนดูข้อมูลเรื่อง รัชกาลที่ 5 กับ “อีเบส” ทำไมเป็น สุนัขทรงเลี้ยง ที่พระองค์ต้องระวัง

“—เวลาไปไหนกลับมาเร่งรวังตัว อาจจะโผนขึ้นถึงหน้าอกนอนหงายทั้งยืนด้วยความคิดถึง แลกระโดดขึ้นลงบนตักตะกุยตะกายจนเลือดออก—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวถึงอากัปกิริยาที่แสดงความคิดถึงเจ้าของของ “อีเบส” สุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งจะโปรดพระราชทานให้ พระองค์เจ้านภาพรประภา (กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี) ไปทรงเลี้ยงต่อจากพระองค์

และเพื่อให้เจ้าของใหม่รู้จักและเลี้ยงอีเบสง่ายขึ้น จึงทรงต้องอธิบายถึงอุปนิสัยใจคอความชอบและความต้องการของอีเบสให้พระองค์เจ้านภาพรประภารู้อย่างละเอียด

อีเบสเป็นสุนัขพันธุ์เทอร์เรียเพศเมีย สีขาวบริสุทธิ์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานอีเบสให้กรมหลวงทิพยรัตนฯ ไปทรงเลี้ยงต่อ แม้จะทรงรักและมีพระเมตตาต่ออีเบส และอีเบสเองก็จงรักภักดีต่อพระองค์เหลือล้น ดังที่ทรงเล่าถึงกิริยาที่อีเบสแสดงต่อพระองค์เวลาทรงตื่นพระบรรทม

“—เวลาฉันตื่นนอน ต้องให้คนยึดไว้เสียให้แน่นจนความดีใจนั้นซาลงแล้วจึงปล่อย—”

ทรงสรุปอุปนิสัยของอีเบสคือ “—สันดานยินดีแรง—”

แต่การที่ต้องทรงยอมพระราชทานอีเบสให้กรมหลวงทิพยรัตนฯ ก็เพราะอุปนิสัยอีเบสเป็นสุนัขที่ชอบอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของตลอดเวลา แต่ทรงไม่ใคร่มีเวลาให้ และครั้นจะนำอีเบสมาอยู่ใกล้ๆ ก็ทรงทนเสียงเห่าของอีเบสไม่ไหว “—เหลือที่จะทนทานทีเดียว ร้องอยู่นึกอไรไม่ออก—ข้อนี้จึงเอาไว้ไม่ได้ เพราะไม่มีเวลาอยู่กับมันเสมอ ถ้าอยู่ด้วยเสมอแล้วก็ไม่มีความลำบากในเรื่องนี้—”

แม้จะทรงเห็นว่ากรมหลวงทิพยรัตนฯ ทรงมีเวลาที่จะอยู่ใกล้ชิดอีเบส แต่ก็ทรงเป็นห่วงทรงเกรง “—สันดานยินดีแรง—” ของอีเบสจะทำความเดือดร้อนวุ่นวายให้กรมหลวงทิพยรัตนฯ จึงทรงบอกถึงวิธีการที่จะปราบปรามอีเบสว่า “—ยังมีไม้อยู่ข้างๆ อีกอันหนึ่ง ถ้าวุ่นเหลือเกินต้องเฆี่ยน—”

แต่ก็ยังทรงเป็นห่วงและสงสารเกรงอีเบสจะถูกตี จึงทรงแนะนำว่า “—มันรักฉันเหลือเกิน อย่าเพ่อเฆี่ยนเลยดีกว่า จนมันรักแล้ว ถ้ายังทำฤทธิอยู่จึงค่อยปราบปราม—”

แม้จะทรงบอกถึงอุปนิสัยใจคอของอีเบสให้กรมหลวงทิพยรัตนฯ ทรงทราบแล้ว ยังมีพระราชหัตถเลขาแนะนำคุณสมบัติบางประการ ตลอดจนวิธีเลี้ยงอีเบสให้กรมหลวงทิพยรัตนฯ ทรงทราบ เช่น

ความฉลาด “—รับรองว่าอีเบสนี้ฉลาดเป็นแน่ เดี๋ยวนี้รู้ภาษากว่าอ้ายปรินซ์เสียแล้ว ทั้งอ่อนกว่า—”

ความไม่บ้าไม่ฟู้ “—รับรองว่าไม่บ้าไม่ฟู้เช่นอีทองวิกหรืออีเซส—”

ความแข็งแรง “—หมาตัวนี้แข็งแรงที่สุดตั้งแต่ได้เห็นมา—คำที่ว่าแรงนี้ไม่ใช่โดยดึงดัน แรงโดยกล้ามเนื้อยาว กระโดดได้สูงถึง 4 ศอก—”

การเห่าเสียงดังมาก “—เห่าหรือร้องไม่ใช่เสียงแก้วหูแตก เป็นเสียงหลอดเปิดควันเวลาหมอกลง—”

แต่ก็ทรงแก้แทนอีเบสว่า ที่จริงอีเบสไม่ใช่เป็นหมาช่างเห่าที่เห่าเพราะมีเพื่อนหมานำเห่า “—แต่มีอ้ายปรินซ์เป็นบ้าจี้อยู่ด้วย สารพัดที่จะเห่าพอเห่าขึ้นแล้วอีนี่ปล่อยโครมออกไปด้วยทุกที—”

เป็นหมาไม่ดุนอกจากจะตกใจหรือดุตามอย่างหมาอื่น “—ดูเหมือนจะเป็นเพราะตกใจ เมื่อแรกๆ มาแลดุเอาอย่างไอ้ปรินซ์บ้าง—”

เป็นหมากินจุ “—หมาตัวนี้ตกลามมาก—”

นอกจากจะทรงบอกเล่าคุณสมบัติของ “อีเบส” สุนัขทรงเลี้ยง แล้ว ยังทรงแนะนำการเลี้ยงอีเบสไว้หลายข้ออีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “รัชกาลที่ 5 กับสุนัขทรงเลี้ยง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2559