หัวครู หัวใคร?

พระพรหมกับพระนารายณ์บูชาสทาศิวะห้าเศียร, วัดภู, จำปาศักดิ์, ประเทศลาว

ผมมิได้เป็นนักดนตรีหรือนักนาฏศิลป์ อย่างไรก็ตาม, ผมรักเรื่องทั้งสอง, โดยเฉพาะในด้านประเพณีความเชื่อและพิธีกรรม, ทำให้ผมสนใจมากในพิธีไหว้ครูและหัวครูที่ใช้ในพิธี

ในบรรดาหัวครูที่ไว้บนโต๊ะหมู่บูชามีหลายหัวที่ไม่เป็นปัญหา ใคร ๆ ก็รู้ว่าพระพรหม, พระอิศวร, พระนารายณ์ คือใคร ใครไปเที่ยวเทวสถาน Besaki บนไหล่ภูเขากุนุงอะกุงบนบาหลี, จะเห็นบัลลังก์มหึมาสามองค์, องค์ขวามีผ้าทิพกับฉัตรสีแดงสำหรับพระพรหม, องค์กลางสีขาวสำหรับพระอิศวรและองค์ซ้ายสีน้ำเงินสำหรับพระนารายณ์, ตรงกับหัวโขนโต๊ะหมู่บูชาครูสูงสุดของไทยไม่มีผิด

ส่วนหัวพิราป (ป่า) ผมเคยพยายามอธิบาย ว่าเป็นหัวไภรวะ (พระอิศวรปางดุ) ที่ชาวพื้นเมืองในอินเดียเรียกว่า Birappā (พ่อวีระ), ซึ่งจะถูกผิดอย่างไรผมยังไม่ทราบ

หัวฤษี มักมีมากกว่าหนึ่งหัว หัวหนึ่งน่าจะได้แก่ ภรถมุนีที่จดจำคัมภีร์นาฏยศาสตร์จากคำบอกเล่าของพระอิศวร หัวฤษีอีกหัวหนึ่งน่าจะได้แก่ อคัศตฺยฤษี (รามเกียรติ์ของไทยและภาษาทมิฬต่างเรียกว่า อขัตติ) ซึ่งเป็นแคระ (ใหญ่ไม่เท่านิ้วแม่โป้ง, แต่นำ้หนักเท่าเขาไกรลาส) มีหน้าที่เผยแพร่ไศวศาสน์ในดินแดนใต้เทือกเขาวินธยะ ตลอดจนชวาและอุษาคเนย์ทั้งหมด

ท่านถือหม้อน้ำ (กลศ) ตระเวนไปทั่ว หม้อน้ำหกที่ไหน, เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองและเกิดมีศิลปวัฒนธรรมที่นั่น

หัวครูที่ยังเป็นปัญหาอยู่, เห็นจะเหลือเพียงสองหัว, คือ ปัญจสิงขรกับพระคนธรรพ์, ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นใครกันแน่

ปัญจสิงขรคือใคร?

ปัญจสิงขร (เจ้าห้ายอด), คนไทยนับถือพุทธศาสนาจึงมักเข้าใจว่าท่านเป็นคนธรรพ์ตนหนึ่งที่มีบทบาทในพุทธประวัติ

เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญตบะทรมานตน, ปัญจสิงขรมาดีดพิณสามสายให้พระองค์ฟัง, สายหนึ่งตึงไปจึงขาด, สายหนึ่งหย่อนไปจึงดีดไม่เป็นเพลง, แต่อีกสายหนึ่งพอดี ๆ ไม่ตึง ไม่หย่อน, จึงดีดได้เพลงไพเราะ พระโพธิสัตว์จึงเข้าใจว่าพระองค์ควรดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา, คือปฏิบัติปานกลาง, ไม่สบายจนเกินไปและไม่ทรมานจนเกินไป

การที่คนไทยเชื่อดังนี้เป็นการดีอยู่แล้ว, เพราะเป็นที่พอใจของเจ้าของพุทธศาสนาและดนตรีไทย และเป็นการประสมประสานให้เข้ากันอย่างดี

อย่างไรก็ตาม, ผมสงสัยว่า เรื่องปัญจสิงขรมาดีดพิฒให้พระโพธิสัตว์ฟังน่าจะเป็นนิทานที่เกิดภายหลังเพื่ออธิบายมัชฌิมาปฏิปทา ตามหลักแล้ว, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เอง, ไม่จำเป็นต้องมีเทวดาหรือคนธรรพ์มาสอน

การที่ปัญจสิงขรมีพักตร์สีขาวเหมือนพระอิศวรและสวมชฎาห้ายอดไม่น่าเป็นการบังเอิญหรือไม่มีความหมาย ผมสงสัยว่าชฎาห้ายอดนี้หมายความว่าปัญจสิงขร แต่ก่อนมีห้าเศียรหรือห้าพักตร์

ใครเอ่ย, มีห้าเศียรหรือห้าพักตร์? คำตอบคือ สทาศิวะ (Sadāśiva) หรือ ปัญจานนะ (Pañcānana) ซึ่งนับถือกันว่าเป็นปางสูงสุดของพระอิศวร ที่รวมธาตุทั้งห้า (ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม และฟ้า) และทิศทั้งห้า (ออก, ตก, เหนือ, ใต้ และยอดฟ้า) องค์สทาศิวะนับเป็นองค์เชื่อมระหว่างโลกิยะกับโลกุตรธรรม ในเทวรูปมักสลักเพียงสี่เศียรในสี่ทิศ, คือ สัทโยชาตะ, วามเทวะ, อะโฆระ และตัตปุรุษะ ส่วนเศียรที่ห้า (อิศานะ) ที่อยู่บนสุดจะไม่สลักเพราะนับว่าเป็นโลกุตระ, คนและเทพต่างไม่เห็น

เทวรูปสี่พักตร์ในศิลปะไทยและเขมรที่เรียกว่า “พระพรหมสี่พักตร์” ที่จริงอาจจะเป็นสทาศิวะต่างหาก

น่าสงสัยว่าหัวปัญจสิงขรของศิลปินไทยอาจจะเป็นที่รวบรวมของปรัชญาพราหมณ์ฝ่ายไศวะสิทธันตะอย่างน่ามหัศจรรย์ ทางอินเดียเขายังจำคัมภีร์ไศวะสิทธันตะได้, แต่ศิลปินอินเดียลืมความสำคัญของ “ปัญจสิงขร” ในฐานะเป็นครูที่สื่อสารระหว่างโลกิยะกัลโลกุตรธรรม

พระคนธรรพ์ชื่ออะไร

คนธรรพ์ (Gandharva) เป็นชาวสวรรค์ชนิดหนึ่ง ในมหาภารตท่านว่า คนธรรพ์เป็นเทวดาผู้ชายที่เป็นนักดนตรีในอิทรโลก, คู่กับอัปสรที่เป็นนางรำยั่วยวนกามารมณ์และสร้างความงามให้พระอินทร์และชาวสวรรค์ทั้งหลาย

คนธรรพ์กับอัปสรมีความสำคัญในการบันดาลให้ฝนตก, (เกิดพายุฝนเมื่อไร, แสดงว่าสนุกกันใหญ่บนโลกพระอินทร์) และมีบทบาทสำคัญในการประสาทพรสวรรค์ในการเล่นดนตรีและการร่ายรำให้มนุษย์ ในขณะเดียวกันคนธรรพ์และอัปสรยังมีอันตรายเพราะอาจจะพามนุษย์ให้บ้าคลั่งก็เป็นได้

ในวนบรรพ์ของมหาภารตเล่าว่า เมื่อปาณฑพห้าพี่น้องถูกเนรเทศให้อยู่ป่า, พระอรชุนเสด็จขึ้นไปหาพระบิดา (พระอินทร์) บนอินทรโลก พระอินทร์บัญชาให้พระอรชุนเป็นศิษย์คนธรรพ์ตนหนึ่งชื่อ จิตรเสน เพื่อฝึกการร่ายรำทำเพลงดีเยี่ยงชาวสวรรค์ พระอรชุนกลับไปสู่มนุษยโลกก็ปลอมตนเป็นหญิงงามเมือง, ร่ายรำทำเพลงได้งามจนพวกเการพจับไม่ได้ว่าเป็นใคร ปาณฑพทั้งห้าจึงอยู่อย่างนิรนามครบตามสัญญาแล้วกลับเข้าชิงเมือง

ผมไม่มีหลักฐานว่า “พระคนธรรพ์” ของนักดนตรีไทยคือใคร, แต่ขอเสนออย่างคร่าว ๆ ว่าท่านน่าจะชื่อ จิตรเสน, เป็นครูดนตรีของพระอรชุนในมหาภารตยุทธ์, เป็นครูที่ประสาทพรทางการร่ายรำทำเพลงและยังฝากเสน่ห์ให้นักแสดง-นักดนตรี เป็นที่รักของคนดู-คนฟัง

สรุป

พิธีกรรมและความเชื่อของนักแสดง-นักดนตรีไทยซับซ้อนมาก, ประกอบด้วยของพื้นเมือง, ของฮินดูและของพุทธ, สมควรได้รับการวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ น่าเสียดายที่ผมมีความรู้เพียงผิว ๆ เผิน ๆ จึงวิเคราะห์ได้เพียงเท่านี้

ขอชวนนักคิดนักเขียนไทยอย่าได้ถือว่าเรื่องนี้เป็น “ของธรรมดา ๆ” มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ, น่าศึกษามาก, สมควรที่จะได้รับการวิเคราะห์จากคนไทยทุกคนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2561