ภาษาไทยอยู่ตระกูลไหนแน่?

การละเล่นของคนไทยสมัยก่อน จากหนังสือ Siam ของ Karl Döhring

ภาษาต่างๆ ในอุษาคเนย์นั้น นักภาษาศาสตร์จัดอยู่ในสามตระกูลใหญ่ๆ คือ

๑. Sino-Tibetan (จีน-ทิเบต)

๒. Austroasiatic (มอญ-เขมร)

๓. Austronesian (มลายู-ชวา-หมู่เกาะแปซิฟิก)

บางภาษาจัดได้อย่างไม่มีปัญหา เช่น ภาษาพม่า เป็น Sino-Tibetan ชัดๆ, ภาษากุย (สุรินทร์) เป็น Austroasiatic อย่างไม่ต้องสงสัย และภาษาตากาล็อก (ฟิลิปปินส์) เป็น Austronesian แน่ๆ

มีแต่สองภาษาเท่านั้นที่ดื้อต่อการจัด คือ เวียดนาม และไทย นักภาษาศาสตร์ทะเลาะกันใหญ่ในเรื่องสองภาษานี้มาช้านาน

ฝ่ายหนึ่งว่า เวียดนามต้องเป็น Sino-Tbetan เพราะมีการผันเสียง (Tones) และมีศัพท์มากมายพ้อง (Cognate) กับคำจีน

อีกฝ่ายหนึ่งว่า เวียดนามเป็นภาษา Austroasiatic (มอญ-เขมร) แต่ไปอยู่ประชิดเมืองจีนจึงเกิดเสียงผันและทับศัพท์คำจีนมากคำ

ภาษาไทย-ลาวตกในสภาพถกเถียงเช่นกัน

นักภาษาศาสตร์โดยมากเหมาว่าเป็น Sino-Tibetan เพราะมีการผันเสียง (มา-หม่า-ม่า-ม้า-หมา) คล้ายเสียงจีน และมีคำสำคัญๆ พ้องกับจีนหลายคำ อีกฝ่ายหนึ่งว่า ไทย-ลาวควรอยู่ในหมวด Austronesian (มลายู-ชวา-หมู่เกาะแปซิฟิก) ที่ไทย-ลาวมีการผันเสียง และมีคำพ้องกับจีนมากเป็นเพียงเพราะไทย-ลาวอยู่ประชิดจีนและทับศัพท์มา เพื่ออธิบายภาษาไทยนักภาษาศาสตร์ยังคิดตระกูลภาษาใหม่ขึ้นมา คือ Sino-Thai  ซึ่งใช้งานได้ชั่วระยะหนึ่ง

ผมไม่ได้เป็นนักภาษาศาสตร์มืออาชีพ ไม่เคยจบภาษาศาสตร์มา จึงไม่ต้องมีใครฟังเสียงผม อย่างไรก็ตามผมสนใจภาษามากและเคยสงสัยมานานแล้วว่าภาษาไทยควรจะจัดอยู่ในตระกูลใดแน่

ผมยอมรับว่า ไทยมีคำหลักๆ ไม่น้อยที่พ้องกับจีน เช่น เลขสามถึงสิบ, ไก่, หู, สวย ฯลฯ แต่ผมยังจับหลักภาษาบางหลัก และคำพ้องหลักๆ ที่ผิดจีน และตรงกับมลายูมากกว่า เช่น

จีนเรียงคำคุณศัพท์หน้าคำนาม (แป๊ะฮวย-ขาวดอก) แต่ไทยเรียงหลัง (ดอกขาว) ตรงกับมลายู

จีนมีคำเฉพาะเรียกดวงอาทิตย์ (ยิด) แต่ไทยเรียก “ตะวัน” ตรงกับมลายู “มะตาฮะริ” (ตาวัน)

ไทย “ตา” พ้องกับมลายู “มะตา”

“เดือน” (เลือน/ลืน) พ้องกับ “(บุ) หลัน”

สรรพนามบุรุษที่ ๑ ไทยว่า “กู” มลายูว่า “กู”

บุรุษที่๒ (เคารพ) ไทยว่า “ท่าน” มลายูว่า “ตวน”

ผมยอมรับว่า ข้อมูลเหล่านี้แม้จะน่าสนใจก็มีไม่มากพอที่จะผูกมัดทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ผมมีเหตุจะค้นสารานุกรม Encyclopedia Americana ฉบับล่าสุด (๑๙๙๔) ใต้หัวข้อ Languages of the World, หน้า ๗๓๖ มีข้อเสนอใหม่ดังนี้

Languages of Southeast Asia and Oceania. Five major language stocks occupy practically all of southern and eastern Asia and Oceania : Dravidian, Sino-Tibetan, Austroasiatic, Thai-Austronesian and Indo-Pacific.

ภาษาในอุษาคเนย์และมหาสมุทรแปซิฟิก

มีตระกูลภาษาห้าตระกูลใหญ่ๆ ที่แพร่เกือบทั่วเอเชียใต้, ตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก : ฑราวิทยัน, จีน-ทิเบต, ออสโตรเอเชียติก, ไทย-ออสโตรนีเซียน และอินโด-แปซิฟิก

Thai-Austronesian has two branches : Thai-Kadai and Austronesian. Thai-Kadai consists of the Thai group, long erroneously included in Sino-Tibetan, and the Kadai languages, spoken in southwestern China and in the interior of the island of Hainan off the southeast coast of Asia. Thai-Kadai is related to the large Austronesian family, sometimes called Malayo-Polynesian. The Austronesian languages extend from Madagascar off the southeast coast of Africa to Easter Island, the farthest east of the Polynesian Islands.

ไทย-ออสโตรนีเซียนมีสองสาขา คือ ไทย-กะได และออสโตรนีเซียน ไทย-กะไดประกอบด้วยกลุ่มไทยที่นานมาแล้วจัดผิดๆ ให้อยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต และกลุ่มภาษากะไดที่พูดกันในภาคตะวันตก (ตะวันออก?) เฉียงใต้ของจีน และใจกลางเกาะไหหลำ ไทย-กะไดเป็นญาติกับตระกูลใหญ่ออสโตรนีเซียนที่บางทีเรียกว่า “มลาโยโปลีนีเซียน” หมู่ภาษาออสโตรนีเซียนแพร่กระจายจากเกาะมาดากัสการ์นอกฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ตลอดถึงเกาะอีสเตอร์สุดตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก

ความเข้าใจใหม่นี้ไม่ได้เกิดจตากใครคนหนึ่งนั่งบนหอคอยงาช้างในมหาวิทยาลัยแล้วคิดเอาเองแล้วบัญญัติลงมา มันเกิดจากนักภาษาศาสตร์ชาวตะวันตก, โซเวียต และจีน แลกเปลี่ยนความรู้ที่สะสมกันมาราวแปดสิบปี แต่พูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะสงครามเย็นกีดกั้น นักวิชาการโลกตะวันออก-ตะวันตกเพิ่งเริ่มหันมาคบกันดีในทศวรรษ ๑๙๘๐ จึงเกิดความรู้ใหม่ความเข้าใจใหม่ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในสารานุกรม ๑๙๙๔

ผมไม่กล้าสรุปว่า ความรู้ใหม่นี้เป็น “คำตอบ” ที่จบขบวนคิด

ภาษาไทยมีความสัมพันธ์ซับซ้อนยิ่งกับภาษาประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตระกูล Austroasiatic (มอญ-เขมร) บทความสรุปในสารานุกรม ๑๙๙๔ ยังยอมรับว่า ตระกูลภาษา Austronesian กับ Austroasiatic น่าจะเป็นญาติกันทางใดทางหนึ่ง แต่นักภาษาศาสตร์ยังตีความไม่ออก

แน่นอนทีเดียว คนไทยไม่ควรเลิกสนใจศึกษาภาษจีนแต่สมควรจะหันมาให้ความสนใจภาษาประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาตระกูล Austroasiatic (มอญ-เขมร) และ Austronesian (มลายู-ชวา-หมู่เกาะแปซิฟิก)

ทั้งนี้ยังอาจจะมีผลต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์ เพราะหากภาษาไทยอยู่ในตระกูล Austronesian จริง ก็น่าจะหมายความว่าคนไทยคงเข้ามาอยู่ในอุษาคเนย์แล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไล่เลี่ยกับชาวอินโดนีเซียและชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

ไม่ใช่หนีเจ๊กลงมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ดังนัก “รักชาติ” เสนอ


ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2546