“นางร้องไห้” ในราชสำนัก เป็นการร้องอย่างมีท่วงทำนองและบทร้อง ไม่ใช่ร้องไห้ธรรมดา

พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

การมี “นางร้องไห้” เป็นธรรมเนียมหนึ่งในราชสำนัก ซึ่ง ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ได้กล่าวในหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย” ว่า อาจได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากชนชาติมอญที่มีสัมพันธ์กับไทยมานาน ซึ่งในประเพณีมอญจะมีพวกรับจ้างร้องไห้ มีเสียงร้องทำนองโอดครวญ จนนำมาตั้งเป็นชื่อทำนองเพลงว่า “มอญร้องไห้”

ที่มาของธรรมเนียมมอญกล่าวกันว่ามาจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ทำให้พุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุอรหันต์พากันร้องไห้ระงม ภายหลังจึงกลายเป็นประเพณีสืบมาว่า เมื่อบิดามารดา หรือครูบาอาจารย์ตายไป ลูกหลานและศิษย์ต้องไปร้องไห้แสดงความกตัญญูกตเวที

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมอญบางท่านกล่าวว่า มอญไม่มีการรับจ้างร้อง น่าจะเป็นการนำธรรมเนียมจีนมาปน ส่วนของมอญจริงๆ นั้น ญาติผู้ตายจะเป็นผู้ร้องเพื่อพรรณาคุณงามความดีของผู้ตาย โดยร้องแบบสะอึกสะอื้นในคอเบาๆไม่ร้องไห้โฮ ไม่มีน้ำตา ดังนั้นญาติพี่น้องใกล้ชิดเท่านั้นจะเป็นผู้ร้อง

ส่วนในฝั่งไทยนั้นปรากฏหลักฐานในคำให้การของขุนหลวงหาวัด ที่ได้อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่ามีการเกณฑ์นางสนมกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งจะร้องไห้ไปควบคู่กับการประโคมมโหรีปี่พาทย์ อันเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

สำหรับวิธีการร้องนั้น ดร.นนทพร กล่าวว่า ต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใช้นางพระสนม นางพระกำนัลหรือผู้ที่ได้ถวายตัว มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์

ครั้งสุดท้ายที่มีนางร้องไห้ตามพระราชประเพณี คืองานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดนางร้องไห้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี โดยให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องให้ตามบท ในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ ยาม สองยาม สามยาม มีเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมคนสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นเสียงร้องนำ

แต่หลังจากงานพระบรมศพในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้ไปเนื่องจากความไม่เหมาะสมหลายประการ ตั้งแต่การร้องระหว่างการประโคมพระบรมศพ ที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นการ “ให้รู้สึกรกหูเสียจริงๆ” และการร้องก็ซ้ำไปซ้ำมาไม่เป็นการร้องไห้จริงๆ กับทั้งยังส่งเสียงรบกวนเวลาที่พระกำลังถวายพระธรรมเทศนา บวกกับความประพฤติของนางร้องไห้เองที่ขาดความเคารพในกาลเทศะ จนพระองค์ทรงกล่าวว่า

ฉันเองโดนเข้าอย่างนั้น ก็โกรธและต้องสั่งให้หยุดเหมือนกัน”


อ้างอิง: “ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย” ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง), ตุลาคม 2559

screen-shot-2016-10-26-at-11-57-32-am