ย่างกุ้ง “แบนมอเตอร์ไซค์” ไม่ใช่เพราะลูกสาว “เนวิน” ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยว

(ซ้าย) นายพลเนวิน อดีตผู้นำพม่า (ภาพจาก AFP) ประกอบกับฉากหลัง เป็นภาพบรรยากาศวันสงกรานต์ ในพม่าปี 2559 (ภาพโดย องค์ บรรจุน)
(ซ้าย) นายพลเนวิน อดีตผู้นำพม่า (ภาพจาก AFP) ประกอบกับฉากหลัง เป็นภาพบรรยากาศวันสงกรานต์ ในพม่าปี 2559 (ภาพโดย องค์ บรรจุน)

หนึ่งในภาพที่คุ้นเคยตามท้องถนนของเมืองใหญ่ในย่านอุษาคเนย์ คือภาพของมอเตอร์ไซค์จำนวนมากที่ออกันเต็มตามสี่แยกไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ ฮานอย หรือจากาตาร์ แต่ภาพเหล่านี้จะไม่พบเห็นใน “ย่างกุ้ง” อดีตเมืองหลวงของพม่า หรือเมียนมาร์ ที่รัฐบาลได้สั่งห้ามชาวบ้านขับขี่มอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่ปี 1989 (พ.ศ. 2532)[1]

แต่ด้วยความที่ยุคนั้นเมียนมาร์ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ชาวบ้านไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเปิดเผย ทำให้คำสั่งห้ามขับขี่มอเตอร์ไซค์ในย่างกุ้งถูกลือไปต่างๆ นานา ดังที่ องค์ บรรจุน ได้อธิบายไว้ในบทความ “วินมอเตอร์ไซค์ในเมียนมาร์” ของศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2559 ว่า

ในสังคมเมียนมาร์เต็มไปด้วยข่าวลือมากมาย โดยเฉพาะยุคก่อนหน้าที่ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของสังคมตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา จึงต้องใช้การ ‘กระซิบซึ่ง ประวัติศาสตร์กระซิบ (Whisper History) ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นข้อมูลด้านลบทางฟากรัฐบาลทหาร แม้ในยุคประชาธิปไตยที่มี อองซาน ซูจี เป็นประมุขแห่งรัฐภายใต้ร่มเงาอำนาจเดิม สังคมเมียนมาร์จึงยังคงดำเนินไปบนความไม่แน่นอน

และอย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้สังคมเมียนมาร์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยข่าวลือ ทั้งเพื่อตอบคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ ทั้งเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตที่อาจพลิกผันไปตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่แน่ไม่นอน”

องค์ กล่าวว่า ข่าวลือเกี่ยวกับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในเมียนมาร์เมื่อราว 4-5 ปีก่อนมีอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องรัฐบาลออกคำสั่งยึดรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ซื้อและนำเข้าจากต่างประเทศทุกคัน ยกเว้นรถที่ซื้อจากรัฐบาลทหารเท่านั้น ข่าวนี้ ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นพากันขายรถทิ้ง แต่ความจริงรัฐบาลเพียงต้องการขึ้นทะเบียนรถทั้งหมดให้ถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการลักลอบขโมยรถจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย

หรืออย่างการ “แบนมอเตอร์ไซค์” ในย่างกุ้งนั้น องค์เล่าว่า เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปยังย่างกุ้งเมื่อปี 2553 คนขับรถตู้ได้เล่าถึงสาเหตุของการแบนว่าเป็นเพราะ

มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับเฉี่ยวถูกลูกสาวนายพลเนวิน [อดีตประธานาธิบดีเมียนมาร์]แต่นั้นมาเนวินก็สั่งห้ามขับขี่มอเตอร์ไซค์ในย่างกุ้งเด็ดขาด…”

แต่ องค์กล่าวว่าจากการสอบถามผู้รู้หลายท่านต่อเรื่องนี้ได้รับข้อมูลว่า เหตุที่ห้ามใช้รถมอเตอร์ไซค์ในเมืองย่างกุ้ง ก็เนื่องจากการจราจรติดขัดและเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ ดังนั้นข่าวลือในหมู่ประชาชนที่จงเกลียดจงชังผู้ปกครองอธรรมจึงเป็นคนละเรื่องกัน”

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) มีความพยายามที่จะให้รัฐบาลผ่อนคลายความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎเกณฑ์นี้ในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้งลง โดยมีการเสนอให้มียกเว้นข้อบังคับดังกล่าวในย่านชานเมือง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าว การบริการขนส่งสาธารณะยังไม่สะดวกสบายนัก ซึ่งก็ต้องรอดูว่า ทางสภาย่างกุ้งจะเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่[2]

อัปเดตข้อมูล ณ 2565 : The Irrawaddy รายงานเมื่อ พ.ย. 2564 ว่า ผู้ปกครองที่เป็นทหารนำระเบียบใหม่ขึ้นมาใช้ในบางพื้นที่ในเมียนมา รวมถึงบางเมืองในย่างกุ้งด้วย ระเบียบใหม่นี้ห้ามผู้ชายขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมกันสองคน และไม่อนุญาตให้ผู้ชายซ้อนท้ายผู้หญิงที่ขี่มอเตอร์ไซค์ รายงานข่าวเผยว่า ระเบียบใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจำกัดการเคลื่อนไหวต่อต้านโดยพลเมือง


เชิงอรรถ :

[1] “What’s fueling Yangon’s motorbike ban?”. The Global New Light of Myanmar. <http://www.globalnewlightofmyanmar.com/whats-fuelling-yangons-motorbike-ban/>

[2] “Hluttaw mulls partial lifting of Yangon motorbike ban”. Myanmar Times. <http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/yangon/22960-hluttaw-mulls-partial-lifting-of-yangon-motorbike-ban.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559