ศิราภรณ์นางอัปสรนครวัดทำจากอะไร???

หลายท่านคงเคยสงสัยว่าศิราภรณ์นางอัปสรนครวัดที่มียอดดอกไม้กลมเรียงซ้อนลดหลั่นกันสามยอดทำจากอะไร อาจเคยคิดเช่นเดียวกันว่าแน่ล่ะ ไฮโซกันขนาดนั้นต้องทำจากทองคำฝังเพชรพลอยมีราคา แต่ในที่นี้ขอเสนอว่าศิราภรณ์ดังกล่าวน่าจะตกแต่งด้วยวัสดุที่เราเองก็คาดไม่ถึงกันอย่าง “ขนนกกระเต็น” (Kingfisher)

ข้อเสนอนี้เริ่มต้นแกะรอยจากบันทึกของราชทูตจีนโจวต้ากวาน ผู้เดินทางมายังเมืองพระนครของกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 1839 – 1840 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าศรีนทรวรมัน กล่าวถึงของป่าอันเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาในขณะนั้นไปยังจีนว่า “ผลิตผลที่ละเอียดก็มีขนนกกระเต็น งาช้าง นอแรด ขี้ผึ้ง ส่วนผลผลิตที่หยาบก็มีกรักขี กระวาน รง ครั่ง น้ำมันกะเบา” และกล่าวถึงการจับ “ผลิตผลที่ละเอียด” อย่าง “ขนนกกระเต็น” ไว้ดังนี้

“นกกระเต็นนั้นค่อนข้างจับยาก ในดงทึบมีบึงและในบึงมีปลา นกกระเต็นบินออกจากดงเพื่อหาปลาเป็นอาหาร ชาวพื้นเมืองเอาใบไม้คลุมร่างของตนไว้แล้วนั่งอยู่ริมน้ำ มีกรงใส่นกกระเต็นตัวเมียไว้หนึ่งตัวเป็นนางนกต่อ และมือถือร่างแหเล็กๆ ไว้ คอยให้นกมาก็ครอบร่างแหลงไป วันหนึ่งๆ จับได้ 3 หรือ 5 ตัว บางวันทั้งวันจับไม่ได้เลยก็มีเหมือนกัน”

ก่อนหน้านั้นไม่นานเอกสารจีนยังกล่าวว่าใน พ.ศ. 1834 ละโว้ได้ส่งขนนกกระเต็นเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการสำคัญรวมกับทองคำ งาช้าง นกกระเรียน นกแก้วห้าสี นอระมาด และอำพันทองด้วย

แล้วจีนเอาขนนกระเต็นไปทำอะไร ?

จีนชื่นชมในความเลื่อมพรายระยับดับดิ้นของขนนกกระเต็นสีฟ้าสดใสมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน เพราะนอกจากสีฟ้าสดจะเป็นสียอดนิยมของจีนมาช้านานแล้ว นกกระเต็นยังไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของจีนจึงต้องนำเข้ามาจากต่างแดนทั้งในฐานะสินค้าส่งออกและบรรณาการ ทำให้เป็นสินค้าหายากและมีราคาแพง ชนชั้นสูงจีนนิยมนำขนนกกระเต็นมาประดับศิราภรณ์ เครื่องประดับ หรือประณีตศิลป์ต่างๆ เช่น พัด หรือฉากกั้นห้อง ที่เห็นเป็นสีฟ้าๆ ในศิราภรณ์อุปรากรจีนสมัยก่อนก็ใช้ขนนกกระเต็นหาใช่การลงยาราชาวดีสีฟ้าไม่ วิธีการคือตัดขนนกกระเต็นเป็นชิ้นๆ ให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้วจึงติดกาวลงบนตัวเรือนศิราภรณ์หรือเครื่องประดับที่ทำจากโลหะ เรียกงานเครื่องประดับหรือประณีตศิลป์ประดับขนนกกระเต็นว่า “เตี่ยนชุ่ย” (點翠, Tian-tsui)

“ความแพง” ของขนนกกระเต็นเห็นได้จากบทกวีเสียดสีในสมัยราชวงศ์ถังว่า “เธอคนสวยนั่งอยู่ในห้องแต่งตัว ผมเธอเต็มไปด้วยไข่มุกและขนนกกระเต็น หากในเครื่องประดับรูปเมฆทั้งสองเธอสวมเงินภาษีที่มาจากหลายตำบล” แต่ความแพงของขนนกกินปลาอย่างนกกระเต็นนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้อาณาจักรกัมพูชามั่งคั่ง กล่าวกันว่าขนนกกระเต็นจากกัมพูชามีมูลค่ามากและเป็นที่ต้องการมากที่สุด รายได้จากการค้าขนนกกระเต็นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมกัมพูชานับร้อยปี ชีวิตของนกกระเต็นน้อยๆ จำนวนนับไม่ถ้วนจึงทับถมกันเป็นส่วนหนึ่งของทุนรอนในก่อสร้างปราสาทต่างๆ ในเมืองพระนครอย่างปราสาทนครวัด

ช่วงระยะเวลาของการสร้างปราสาทนครวัดในรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ตรงกับช่วงปลายสมัยราชวงศ์ซ่งของจีนซึ่งปรากฏหลักฐานของ “เตี่ยนซุ่ย” ในจิตรกรรมจีนชัดเจนอย่างพระสาทิสลักษณ์ของพระจักรพรรดินีเฉาในพระจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง เป็นไปได้ที่ราชสำนักกัมพูชาขณะนั้นอาจเห็นดีเห็นงามทำตามอย่างจีน ไปตัดเอาขนนกกระเต็นที่ส่งเป็นสินค้าออกมาประดับศิราภรณ์เจ้านายฝ่ายในของตนบ้าง ดังปรากฏให้เห็นในศิราภรณ์นางอัปสรตั้งแต่ศิลปะนครวัดจนถึงตอนต้นของศิลปะหลังบายน ที่รายละเอียดของการแกะสลักกลีบดอกไม้ใกล้เคียงกับปิ่นดอกไม้ขนนกกระเต็นในสมัยราชวงศ์ชิง

การประดับศิราภรณ์ดัวยขนนกกระเต็นเสื่อมสลายไปพร้อมกับการสิ้นสุดของเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่ ส่วนศิราภรณ์และเครื่องประดับขนนกกระเต็นหรือ “เตี่ยนซุ่ย” ยังได้รับความนิยมสืบมาทั้งในราชสำนักและหมู่ผู้ดีมีอันจะกินของจีนจนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง และคงเสื่อมสลายไปพร้อมกับการปฏิวัติวัฒนธรรม

(ขอบพระคุณ เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom)

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2559