ที่มาของราชทินนาม “พระยาทุกขราษฎร์” จากพระสำแดงวิชาช่วยสู้ทัพพม่า สึกมารับราชการ

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีชาวสยาม (จากหนังสือ The Land of the White Elephant เขียนโดย Frank Vincent) [มีการตกแต่งภาพ]

ในบรรดาราชทินนามต่างๆ มีอยู่ราชทินนามหนึ่งซึ่งค่อนข้างแปลก คือมีแทบจะทุกเมือง ได้แก่ ราชทินนาม ทุกขราษฎร์ ยังไม่พบหลักเกณฑ์ว่าเป็นตำแหน่งขึ้นกับใคร เท่าที่พบเก่าที่สุดในรัชกาลพระเจ้าตากสินมหาราช มีตำแหน่งพระยาทุกขราษฎร์ (ในหนังสือมหามุขมาตยานุกูลวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ กล่าวว่า ครั้งกรุงธนบุรีมีตำแหน่งเจ้าพระยาทุกขราษฎร์ [พยอม] เมืองนครศรีธรรมราช) ที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม)

ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชเล่าว่า เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 พม่าลงไปตีเมืองชุมพร เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองกรมการเมืองพัทลุงได้ข่าวว่าเมืองทั้งสามเสียแก่ข้าศึกแล้ว ก็ปรึกษากันว่าจะยกครอบครัวหนี แต่มีพระรูปหนึ่งชื่อมหาช่วย เป็นเจ้าอธิการวัดในแขวงเมืองพัทลุงไม่ยอมหนี สำแดงวิชาเวทมนตร์ลงเลขยันต์ตะกรุดประเจียดมงคลให้แก่กรมการนายบ้านชาวเมืองทั้งปวง

คนเหล่านั้นก็นิยมยินดีถือมั่นเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องป้องกันศาสตราวุธ พาให้ใจกล้าขึ้นถึงอาจสู้รบด้วยพม่าได้ กรมการจึงจัดพลได้พันเศษ แล้วเชิญท่านมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหาม (นัยหนึ่งว่าขี่ช้างมาในกองทัพด้วย) ยกกองทัพออกมาตั้งคอยรบทัพพม่าอยู่กลางทางห่างเมืองพัทลุง พระมหาช่วยมีปืน 2 กระบอก ยัดดินส่งให้ศิษย์เดินยิงมาหน้าช้าง พม่าข้าศึกดูเห็นกองทัพใหญ่ยกมาก็แตกหนีไป

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชดำริเห็นว่า พระมหาช่วยเป็นผู้ที่ได้รับราชการมีความชอบมาก แต่ถ้าจะพิจารณาไปข้างหน้าที่สมณะก็เห็นว่ามัวหมองอยู่ จึงให้สึกออกจากบรรพชิตแล้วตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ทำราชการฝ่ายฆราวาส

นอกจากนี้ ในพงศาวดารเมืองล้านช้างกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2371 เมื่อคราวตีเมืองเวียงจันทน์ ก็ออกชื่อ พระยาทุกขราษฎร์ เมืองนครราชสีมา

ราชทินนาม ทุกขราษฎร์ นี้คงจะได้แต่งตั้งต่อๆ กันมาอีกหลายคนและหลายเมือง ได้ตรวจดูในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ตอนที่ทรงพระกรุณาโปรดตั้งแต่งข้าราชการ มีข้อความตอนหนึ่งว่า แล้วได้ตั้งตำแหน่งทุกขราษฎร์หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือด้วยทั้งสิ้น

ดังนี้แสดงว่าตำแหน่งทุกขราษฎร์มีทั้งใต้และเหนือ บางทีตำแหน่งนี้จะมีฐานะเป็นกรมการเมือง เพราะได้พบในพระราชพงศาวดารกรุงสยามหน้า 734 สมัยกรุงธนบุรีได้ออกนาม ‘พระยาทุกขราชกรมการ’ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็น ‘พระยาทุกขราษฎร์’ นั่นเอง

แต่ต่อมาในสมัยหลัง ตำแหน่งนี้ดูจะลดความสำคัญลงเพราะเหลือเพียงบรรดาศักดิ์หลวงเท่านั้น และปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดราชทินนามนี้ ดังมีหลักฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 2396 วันหนึ่งเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งเฉพาะพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ว่า

ชื่อหลวงทุกขราษฎร์ที่เรียกมาแต่ก่อนๆ นั้นหาชอบกลไม่ฟังดูเป็นทีประหนึ่งกระทำทุกข์ให้แก่อาณาประชาราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามใหม่ ด้วยพระราชหฤทัยจะมิให้นักปราชญ์ผู้มีปัญญาวิชารู้ภาษามคธสันสกฤตตริตรองละเอียดตำหนิติเตียนคนโบราณได้ จึงเปลี่ยนราชทินนามใหม่เป็น หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ หรือจะว่าแต่ หลวงบรรเทาทุกข์ เท่านั้นก็พอจะฟังได้…

 


หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน. สนพ. มติชน, 2559.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560