อุดมคติใหม่ของ “ศิลปะคณะราษฎร” กับ ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

“ศิลปะคณะราษฎร” คือประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของพัฒนาการ “ศิลปะสมัยใหม่” ในไทย ซึ่งหากดูในเชิงรูปแบบทั่วไป ก็มิได้แตกต่างจากกระแสโดยรวมของ “ศิลปะสมัยใหม่” ในไทยยุคก่อนหน้ามากนักกล่าวคือ ยังเป็นรูปแบบศิลปะที่เน้นความเหมือนจริง (Realistic Art) ตามหลักวิชา นิยมเขียนภาพเหมือนจริง ปั้นรูปเหมือนบุคคล เน้นความถูกต้องของกายวิภาค แสงเงา และทัศนียวิทยาที่ถูกต้อง

แต่ลักษณะพิเศษที่ทำให้ต้องแยกนิยามออกมาเฉพาะก็คือ ภายใต้รูปแบบงานศิลปะแนวเหมือนจริงนั้น “ศิลปะคณะราษฎร” เกิดขึ้นบนฐานคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อการเมือง”

“ศิลปะคณะราษฎร” ถูกสร้างภายใต้บริบททางสังคมและการเมืองช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็น 15 ปีที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้อำนาจและการนำของ “คณะราษฎร” ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทแทนที่กลุ่มอำนาจเก่า (กษัตริย์, เจ้านายเชื้อพระวงศ์ และขุนนางหัวอนุรักษนิยม)

(ภาพจากหนังสือ 100 ปี นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)

รอยต่อทางการเมืองครั้งสำคัญดังกล่าว เต็มไปด้วยจุดเปลี่ยนทางอำนาจ ความคิด ความเชื่อ รสนิยม ตลอดจนอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย ที่เกิดจากทั้งปัจจัยระดับโลกและระดับภายในประเทศ ซึ่งมีงานศึกษามากมายจนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบาย ณ ที่นี้

แต่โดยสรุปคือ ยุคสมัยนี้นำมาซึ่ง “จิตวิญญาณใหม่” ที่แตกต่างจากยุคก่อนหน้าและยุคหลังจากนั้นอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญต่อการเกิด “อุดมคติใหม่ทางศิลปะ” ที่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรนิยามเป็นยุคสมัยย่อยทางศิลปะออกเป็นอีกยุคหนึ่ง

อุดมคติใหม่ของ “ศิลปะคณะราษฎร” ที่ถูกสร้างขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้กงล้อประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในไทยหมุนไปในรูปแบบดังที่เรารับรู้ในปัจจุบัน

สำคัญที่สุดคือ ด้วยจิตวิญญาณใหม่นี้เองที่เป็นพลังผลักดันเบื้องหลังให้ ศิลป์ พีระศรี สามารถแสดงศักยภาพทางศิลปะที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ท่านสามารถผลักดันแนวคิดและผลงานต่างๆ มากมาย

(จากบทความเรื่อง “ศิลปะคณะราษฎร 2475-2490” ใน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ. สนพ.มติชน.2552.)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 15 กันยายน พ.ศ.2561