“กุมารี” เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงก่อนมีระดู

กุมารี เทพเจ้า ผู้มีชีวิต ร่วมพิธี ใน เมืองละลิตปุระ ใกล้กับ กรุงกาฐมาณฑุ
ภาพ “กุมารี” เทพเจ้าผู้มีชีวิตระหว่างร่วมพิธีในเมืองละลิตปุระ (Lalitpur) ใกล้กับกรุงกาฐมาณฑุ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2016 (AFP PHOTO / PRAKASH MATHEMA)

กุมารี เทพเจ้าบนโลกของชาวเนปาลซึ่งได้รับการนับถือจากทั้งชาวฮินดูและชาวพุทธ เป็นเทพเจ้าในร่างของเด็กหญิงก่อนมีระดู ที่ชาวฮินดูเชื่อว่ากุมารีคือร่างประทับของ เจ้าแม่ทุรคา ขณะเดียวกัน เด็กสาวผู้เป็นกุมารีก็เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ มาจากวรรณะศากยะ (ระบบวรรณะเฉพาะถิ่นในเนปาล) ในชุมชน ชาวเนวาร์ (Newar) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลศากยะเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า

ชาวเนวาร์ เป็นชาวท้องถิ่นในหุบเขากาฐมาณฑุซึ่งมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและโดดเด่นยาวนานหลายร้อยปี โดยเดิมทีชาวเนวาร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ขณะนี้การนับถือพุทธและฮินดูในบรรดาชาวเนวาร์มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และประชากรรวมของชาวเนวาร์ก็มีจำนวนไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมดในหุบเขากาฐมาณฑุ

เมื่อมีการเฟ้นหา กุมารี องค์ใหม่ โดยปกติบรรดาพ่อแม่ของเด็กๆ จะเป็นผู้ผลักดันลูกๆ สู่กระบวนการคัดเลือก ซึ่งการได้ที่ลูกหลานได้เป็นกุมารีถือว่าเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลสำหรับชาวศากยะ แต่ก็ต้องแลกกับการห่างจากลูกเป็นเวลา 7-8 ปี

เด็กสาวจะต้องถูกตรวจสอบดวงชะตา และตรวจร่างกายว่าไม่ตำหนิ รอยแผลใดๆ และยังต้องมีลักษณะครบ 32 ประการของพระโพธิสัตว์ เด็กที่ได้รับเลือกมักมีอายุน้อยตั้งแต่ 2-3 ขวบ เธอจะถูกกักตัวอยู่ในวิหารจนกว่าเธอจะถึงวัยมีระดู โดยเธอจะมีโอกาสได้ออกจากวิหารเฉพาะเมื่อมีศาสนพิธีสำคัญเท่านั้น และการเดินทางเธอจะต้องถูกแบกหามตลอดเวลา เนื่องจากเท้าของเธอจะสัมผัสกับพื้นไม่ได้

กุมารีจะได้รับการดูแลอย่างดีไม่ให้เธอได้รับบาดเจ็บเลือดออก เนื่องจากเชื่อกันว่าหากเธอมีบาดแผล วิญญาณเทพเจ้าจะออกจากร่างของเธอ ด้วยเลือดถือเป็นสื่อกลางของวิญญาณเจ้าแม่ และเมื่อกุมารีเริ่มเติบใหญ่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนถึงการมีระดูเป็นครั้งแรกเธอจะถูกปลดจากตำแหน่งและไปใช้ชีวิตอย่างหญิงสาวธรรมดา

มีความเชื่อกันว่า หากกุมารีได้รับอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย หรือหากเธอร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว เมื่อนั้นจะเกิดภัยพิบัติขึ้นกับประเทศ การทำให้เธอกับสู่ภาวะสมดุลถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ

เหล่ากุมารี (กุมารีมิได้มีแต่เฉพาะกุมารีหลวงในกาฐมาณฑุ แต่ยังมีการตั้งกุมารีตามแต่ละท้องถิ่นด้วย) ยังคงมีความสำคัญทั้งในทางสังคมและการเมืองของเนปาล ชาวเนปาลเชื่อกันว่า การที่ระบบกษัตริย์ของเนปาลล่มสลายลงก็ด้วย กุมารีเกิดป่วยด้วยอาการของโรคผิวหนัง (ซึ่งทำให้เธอขาดจากความเป็นกุมารีไปด้วย) ทำให้ขณะนั้นไม่มีวิญญาณเทพเจ้าประจำเมืองช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ของเนปาลเอาไว้

เมื่อเข้าถึงยุคสาธารณรัฐ ผู้นำรัฐบาลก็ยังต้องได้รับพรจากกุมารี หาไม่แล้ว หายนะก็อาจเกิดกับรัฐบาลนั้น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลที่ไม่ได้รับพรจากกุมารียังถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรม และต้องประสบกับความล้มเหลวในท้ายที่สุด

เมื่อกุมารีพ้นจากตำแหน่ง การมีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากมนุษย์ปกติเป็นเวลาหลายปี สร้างความลำบากให้กับกุมารีวัยเกษียณที่จะต้องมาเริ่มหัดเดิน เรียนรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นใหม่ในช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความเชื่อในหมู่ชาวบ้านว่า ชายคนใดแต่งงานกับอดีตกุมารีพวกเขาจะต้องอายุสั้นราวกับพวกเธอเป็น “คนกินผัว”

แต่จากปากคำของอดีตกุมารีอย่าง รัชมิลา ศากยะ (Rashmila Shakya) ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 32 ปี และเคยรับตำแหน่งเป็นกุมารีในช่วงวัย 4-12 ปี แสดงให้เห็นว่า ความเชื่ออันเป็นลางร้ายดังกล่าวมิได้กระทบต่อชีวิตของพวกเธอแต่อย่างใด

“มันเป็นแค่ความเชื่อทางไสยศาสตร์” อดีตเทพเจ้าในร่างมนุษย์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “อดีตกุมารีต่างก็แต่งงานกันทั้งนั้นแหละ อย่างฉันก็เพิ่งจะเข้าพิธีวิวาห์เมื่อหกเดือนก่อน เรื่องนี้ก็แค่เรื่องลือกันปากต่อปากเท่านั้น” ศากยะ กล่าวกับ ABC News สื่ออเมริกัน

กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่า ประเพณีการตั้งกุมารีเป็นการละเมิดสิทธิเด็กเนื่องจากมีการควบคุมเสรีภาพของเด็กอย่างเข้มข้น และยังตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ (แม้จะมีการสอนพิเศษในกับกุมารีถึงวิหารในระยะหลัง) ทำให้มีการยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกาในปี 2005 เพื่อพิจารณาว่าประเพณีดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

แต่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งในปี 2008 ให้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลย้ำไปที่ความสำคัญของประเพณีและความเชื่อ เหนือหลักการคุ้มครองเด็ก ทำให้ประเพณีการตั้งกุมารียังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และความสำคัญของกุมารียิ่งทวีขึ้นไปอีก เมื่อประเทศต้องประสบกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2015 เนื่องจากชาวบ้านต่างต้องการที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“The Living Goddess of Nepal”. History Today. <http://www.historytoday.com/isabella-tree/living-goddess-nepal>

“This 7-Year-Old Nepali Girl Is Worshipped as a Living Goddess on Earth”. abc News. <http://abcnews.go.com/International/year-nepali-girl-worshiped-living-goddess-earth/story?id=41803837>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบเมื่อ ค.ศ. 2019