“หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์” ขุนนางสยาม แต่มีราชทินนามภาษาอังกฤษ สมัย ร.5

เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) สมุหนายกสมัยธนบุรี เจ้าพระยาจักรี คนสุดท้าย ภาพวาด ฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ 6
เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) สมุหนายกสมัยธนบุรี ผู้ใช้นามเจ้าพระยาจักรีเป็นคนสุดท้าย (ภาพเดิมคือภาพวาดฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 6)

หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์ ขุนนางสยาม แต่มี “ราชทินนาม” ภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

หากใครเคยได้อ่านพระราชพงศาวดารหรือจดหมายเหตุโบราณของไทยที่กล่าวถึงขุนนางคนต่าง ๆ ในสยามแล้ว อาจจะเคยเกิดความสับสนงุนงงอยู่บ้างว่าทำไมในประวัติศาสตร์จึงกล่าวถึงบุคคลที่มีราชทินนามเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นคนเดียวกันหรือไม่อย่างไร?

อันที่จริงแล้ว ราชทินนาม ของขุนนางอาจมีซ้ำกันได้ เนื่องจากราชทินนามโดยส่วนมากก็คือนามที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ตั้งตามตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นหากขุนนางมีตำแหน่งหน้าที่การงานเดียวกันก็หมายความว่าจะมีราชทินนามเหมือนกันด้วย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดการพระราชทานราชทินนามแก่ ขุนนางสยาม นี้เป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานบ่งชี้แน่ชัด หากแต่มีข้อสันนิษฐานจากพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ไว้อยู่ 2 ประการ ดังนี้

1.ชื่อเดิมของขุนนางไทยฟังไม่ไพเราะ ไม่สมฐานะการเป็นมหาดเล็ก

เนื่องจากพบว่าในอดีต ชาวไทยมีธรรมเนียมการตั้งชื่อลูกให้น่าเกลียด เช่น นายแมว นายหมา นายหนู ตามความเชื่อที่ว่าหากตั้งชื่อลูกน่าเกลียด ผีก็จะเกลียดและไม่เอาไปใช้ในเมืองผี ดังนั้นเมื่อกษัตริย์ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งแล้ว จึงได้พระราชทานชื่อให้เสียใหม่

2. เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว

เป็นธรรมเนียมมาแต่อดีตที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานราชทินนามต่อท้ายนามชั้นบรรดาศักดิ์แก่ขุนนางที่มีความดีความชอบ หรือมีความสามารถในทางใดทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ขุนวิจิตรอักษร ซึ่งหมายถึง ผู้มีความสามารถในการอักษร หรือ พระปราบพลแสน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ปราบพ่ายพลลงได้เป็นจำนวนมาก เป็นต้น

นอกจากนี้ในบางครั้งก็ยังพบว่าราชทินนามอาจไม่ได้ตั้งตามความสามารถเท่านั้น แต่อาจตั้งตามชื่อบุคคลสำคัญในคัมภีร์ไสยศาสตร์ ในเนื้อเรื่องทางพุทธศาสนา หรือแม้แต่คุณลักษณะของขุนนางคนนั้น ๆ

ดังเช่นในสมัยของรัชกาลที่ 4 ซึ่งปรากฏว่ามีข้าราชการที่ได้รับพระราชทานราชทินนามแปลก ๆ อยู่หลายคน เช่น ขุนศรีธนนชัย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นขุนศรีประชานนท์, หรือขุนซุกซนสังฆกรณ์ ราชทินนามอันมีที่มาจากความขี้ฟ้องของข้าราชการคนนั้น

พระยาบำเรอบริรักษ์ (เมฆ บุนนาค) จางวางมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัย ร.4

เรื่องราชทินนามแปลกนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่กระทั่งในสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชทินนามและบรรดาศักดิ์นิยมตั้งให้เกี่ยวข้องกับงานของขุนนางเป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่ามีหน้าที่และตำแหน่งใหม่เพิ่มมาจากในยุคก่อนอยู่หลายตำแหน่ง จึงทำให้มีราชทินนามใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามไปด้วย ราชทินนามใหม่ ๆ ในยุคนี้บ้างก็อาจฟังแล้วไม่คุ้นหูเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชทินนามที่ใช้ภาษาอังกฤษมาตั้ง อย่าง หลวงการ์เดนกิจบริรักษ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้กับเจ้ากรมสวนสราญรมย์ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

ส.พลายน้อย. ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ “ข้าราชการ” ทหารและพลเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2561