ทำไมต้องโยนไม้ขีดไฟให้เสือสมิง

จิตรกรรม เสือ ไล่กัด คน
เสือ วัดบางขุนเทียนใน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร

“เสือสมิง” คือคนที่แปลงตัวเป็นเสือได้เพราะการปลุกเสกด้วยเวทย์มนต์

อันนี้หมอบรัดเลย์กับอาจารย์ทัดบอกไว้ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 หน้า 747 นับเป็นคำนิยามที่น่าสนใจมาก

ส่วนหนังสือชื่อ หุบ-ผา-ห้วย-ป่า-เขา ที่ผมอ่านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กล่าวในหน้า 74 ว่า เสือสมิง หาใช่เสือจริง ๆ ไม่

หากแต่เป็นผีป่า ผีโป่ง หรือแม่หมด หมอผี และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีอิทธิฤทธิ์สามารถแปลงตนเป็นเสือได้

ทว่า ชาวป่าบางคนก็ว่า เสือสมิง คือเสือจริงๆ ที่ถูกคนฆ่าตายแล้วกลายเป็นเสือสมิง แปลงตัวมาหลอกคนไปกินเสียบ่อย ๆ

ตกลงเล่มนี้ว่าเป็นได้ทั้งสองอย่าง….

หุบ-ผา-ห้วย-ป่า-เขา นี่เขียนโดย ขุมทอง เทวราช เขษมบรรณกิจพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2502

เป็นหนังสือสุดยอดประทับใจของผมเล่มหนึ่ง เพราะทำให้ผมจินตนาการต่อไปยังเรื่องลึกลับต่าง ๆ อีกมากมาย

อยากเป็นรพินทร์ ไพรวัลย์ แต่ไม่เคยเป็นได้ เพราะไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ คือ เพชรพระอุมา ของพนมเทียน เลย ได้แต่ดูปกสวย ๆ และดูหนัง

แถมไม่เคยเข้าป่าอีกด้วย แล้วจะไปเจอเสือสมิงได้อย่างไร

คุณอู๊ด – ดารณี รังศาสตร์ เอาอัลบั้มภาพของคุณพ่อมาให้ก๊อปปี้ เพื่อทำสมุดภาพนนทบุรี เมื่อวันก่อน คือเมื่อวันพฤหัสที่ 8 พ.ย. 2561

ผมชวนคุยถามว่างานอดิเรกคือชอบทำอะไรบ้าง เธอตอบว่าเดินป่า

“เคยเจอเสือสมิงบ้างไหม” ผมแหย่เล่น ๆ

คุณอู๊ดบอกว่าไม่เคยเจอ

แต่ช่างภาพที่ชื่อพิชญ์ เยาวภิรมย์ ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ เปรยขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ต้องโยนไม้ขีดไฟให้จุด” ว่าแล้วก็หันไปยุ่งกับการถ่ายภาพต่อไป

จิตรกรรม เสือ
เสือ วัดม่วง อ.บางปะหัน อยุธยา เอนกถ่าย ซีดี00050-154-อัง25มค48

ผมนึกสงสัยในใจว่า ไม้ขีดไฟมาเกี่ยวกับเสือสมิงตรงไหน (หว่า) แต่ก็แกล้งอมภูมิ ทำเป็นรู้ คิดว่าเรื่องนี้น่าจะพอค้นได้

อาจจะอยู่ในหนังสือ ร.5 เสด็จประพาสจันทบุรี เพราะทรงเล่าเรื่องเสือสมิงที่จันทบุรี และผมเคยดึงมาเขียนในหนังสือ นิทานมิบ

หรืออาจอยู่ในหนังสือชื่อ อมตะนิทานไทย ของ ยุทธ เดชคำรณ สำนักพิมพ์คลังวิทยา พิมพ์เมื่อปี 2521 ผมเพิ่งไปซื้อมาอ่าน เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลา 2561 ก่อนเดินต่อไปซื้อกล้องตัวใหม่

อีกประการหนึ่ง เขากำลังรีบทำงาน จะไปชวนคุยเล่น จะทำให้เขาเสียเวลาเปล่า กลับมาบ้านลองค้นหนังสือที่กล่าวมาพลิกดู ก็ไม่พบเรื่องไม้ขีดไฟทั้งสองเล่ม

มีแต่เรื่องน้ำมนต์สำหรับแปลงตัวเป็นเสือ ลูกศิษย์ไปลักของอาจารย์มาแอบทาตัว เลยกลายเป็นเสือสมิง….

ดูท่าผมจะจนปัญญาเสียแล้ว…. แต่เป็นเรื่องแปลกมากนะ หรือพระเจ้าจะมีจริง ?

จึงดลบันดาลให้ผมหยิบหนังสือปกขาวเล่มหนึ่งมาอ่านในวันรุ่งขึ้น คือ วันศุกร์ที่ 9 พ.ย. 2561

หนังสือเล่มนี้ลูก ๆ ของนายมนูญ วัชรานันท์ (พ.ศ. 2469-2551) พิมพ์ให้พ่อผู้เป็นที่รัก

ข้างในมีนิทาน และเกร็ดชีวิตสนุก ๆ มากมาย และในหน้า 80 ผมพบว่ามีนิทานเรื่องเสือสมิง (กับไม้ขีดไฟ) !!!!

เสือสมิง คือ เสือผีที่แปลงร่างเป็นคนได้แล้วมาล่อคนไปกิน…. นี่คือคำนิยามของเสือสมิง ฉบับคุณมนูญเล่าให้ลูก ๆ ฟัง

เวลาเล่านิทาน ผมเข้าใจว่า คุณมนูญจะสมมติตัวเป็นนายพรานให้สมจริงสมจังด้วย จึงบอกว่า วันหนึ่งได้เข้าป่ากับพวกพราน และได้ไปเจอเสือสมิง…..

เสือสมิงชอบหิ้วย่าม หรือห่อผ้าติดมากับตัวเสมอ นี่เป็นลักษณะสำคัญอันหนึ่งของเสือสมิง

เพราะย่ามหรือห่อผ้าที่ว่านั้น จริงแท้คือหัวใจที่แยกออกจากตัวของมัน….

คืนหนึ่ง ขณะนายพรานออกไปนั่งห้างยิงสัตว์ ก็มีชายคนหนึ่งเดินสะพายย่ามมา

“มาหน่อย ลงมาคุยกันหน่อยเถอะ…” เสียงชายแปลกหน้าตะโกนเรียก

นายพรานคิดว่าเป็นคนหลงทางมา ต้องการหาเพื่อนฝูงอยู่ด้วย จึงโยนไม้ขีดไฟลงไปให้…

“เอ้า ! งั้นช่วยจุดไฟหน่อย” นายพรานส่งเสียงลงไป

ปรากฏว่า ชายคนนั้นรับไม้ขีดไฟไปแล้วไม่สามารถจุดไฟได้…. ก็เพราะมือของมันก็คือ อุ้งตีนเสือ อย่างไรเล่า

อุ้งตีนเสือใหญ่ เทอะทะ จะหยิบก้านไม้ขีดเล็ก ๆ มาจุดได้อย่างไร…. นายพรานจึงบอกพรรคพวกให้เล็งปืนไปที่ย่ามของชายแปลกหน้า

ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !
ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง ! ปัง !

เฮ้ย เฮ้ย เฮ้ย ! พอ พอ พอ ! มันชักจะมากเกินจริงไปแล้ว ! อันนี้ผมพากย์เอง

แล้วทันใดนั้นชายแปลกหน้า ก็กลายร่างเป็นเสือ นอนตายอยู่ตรงนั้น

นี่แหละคือคำตอบ เรื่องเสือสมิงกับไม้ขีดไฟ

ขอขอบคุณลูกๆ ของคุณมนูญที่ทำให้ผมหมดข้อสงสัย และนอนยืดอกตอบใครต่อไปได้สมกับมาดชายชาตรี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2561