พิเภกที่เป็นไส้ศึก สะท้อนถึงศึกชิงอำนาจในราชสำนักอยุธยา!!!???

พิเภก ยักษ์ไส้ศึก รามเกียรติ์
พิเภก ออกจากลงกา มาสวามิภักดิ์ พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

มารซื่อชื่อ “พิเภก” เป็นยักษ์ทรยศไส้ศึก ที่มาอยู่ฝ่ายพระราม

พิเภก เป็นทั้งหน่วยข่าวกรองประหนึ่ง CIA หรือเสนาธิการทางด้านการรบ พอๆ กับขงเบ้งเลยทีเดียว เมื่อดูจาก 13 ศึก พิเภกช่วยวางแผนการบทั้งนั้น ตั้งแต่ 1.ศึกกุมภกรรณ 2. ศึกอินทรชิต 3. ศึกสหัสเดชะ 4.ศึกแสงอาทิตย์ 5.ศึกทศกัณฐ์ 6.ศึกท้าวสัทธาสูร 7.ศึกวิรุณจำบัง 8.ศึกทศกัณฐ์ 9.ศึกทศกัณฐ์ 10.ศึกท้าวอัศกรรณ 11. ศึกท้าวเพทาสูร 12.ศึกสุริยาภพ และ 13. ศึกบรรลัยจักร

พิเภกนี่เอง ที่เป็นพลังเงียบที่ชี้ขาดในการกันระหว่างกรุงอโยธยาและกรุงลงกา ทำให้มารต้องแพ้ย่อยยับทุกครั้งไป ท้ายสุดพิเภกก็ได้ครองกรุงลงกาต่อจากทศกัณฐ์ และบทบาทของพิเภกที่เป็นไส้ศึก ยังสะท้อนถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ไทย? ดังที่ อ.จันทร์ฉาย ภัคอธิคม เขียนวิเคราะห์ไว้ในบทความเรื่อง พิเภก พิชิตคนพาลอภิบาลคนดี หรือ “ผู้ทรยศ” ตอน 2 ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2542 ดังนี้ (เว้นวรรคและจัดย่อหน้าใหม่โดยกอง บก.ออนไลน์)

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงกลายเป็น “โหราตาศึก” ของพม่า

พิเภก เป็นไส้ศึก ประพฤติตนเป็น “โหราตาศึก” เพราะมีความสัมพันธ์อันร้าวฉานกับทศกัณฐ์ผู้เป็นเจ้าเหนือหัวและเป็นพระเชษฐาร่วมอุทร

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้แต่งรามเกียรติ์คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และบรรดาผู้แต่งท่านอื่น ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการ ทันเห็นความล่มจมของกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 และคงจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเสียกรุงครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112 เป็นอย่างดี ต้องการให้วรรณคดีเป็นสื่อสำคัญสอนให้ตระหนักถึงมหันตภัยของการมีไส้ศึก อันเป็นต้นเหตุของการล่มจมของกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง

ผู้แต่งคงต้องการชี้ให้เห็นสัจธรรมและโน้มน้าวให้เรียนรู้บทเรียนจากอดีตว่า การเสียกรุง 2 ครั้ง เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ฉันพี่น้องแตกร้าวจนนำไปสู่การประพฤติตนเป็นไส้ศึก

พิเภกเป็นกระจกเงาฉายให้เห็นความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระมหินทราธิราชกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา

สมเด็จพระมหาธรรมราชาผู้ครองหัวเมืองเหนือ ตกเป็นที่สงสัยระแวงว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่าหงสาวดีมากเกินควร กรุงศรีอยุธยาจำเป็นต้องตัดไฟตัดแต่ต้นลม ด้วยการคิดกำจัดสมเด็จพระมหาธรรมราชา ด้วยความเกรงกลัวราชภัย สมเด็จพระมหาธรรมราชายิ่งใกล้ชิดพม่า ความสัมพันธ์อันแตกร้าวนั้น ได้พัฒนาไปจนถึงขั้นที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องทรงพึ่งพม่า เป็นไส้ศึกชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ชักนำกองทัพพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงกลายเป็น “โหราตาศึก” ของพม่า ในการทำสงครามพิชิตกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2112

สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดีหรือบุเรงนอง ได้โปรดให้ตั้งพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา

บทบาทของพิเภกแตกต่างอย่างไรจากบทบาทของสมเด็จพระมหาธรรมราชา?

ในการเสียกรุงครั้งที่ 2 พิเภกก็เป็นกระจกเงาฉายให้เห็นความเป็นจริงทางการเมืองในพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยความแตกแยกภายในพระราชวงศ์ เป็นการแบ่งฝ่ายระหว่างพี่น้องคือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายขึ้นในแวดวงเจ้านาย ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ความแตกแยกระหว่างพี่น้องเกิดขึ้นเสมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

พิเภก ออกจากลงกามาสวามิภักดิ์พระราม ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรู ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แก่นเรื่องไส้ศึกของรามเกียรติ์

ในบทความเดียวกันนี้อ.จันทร์ฉาย เขียนถึงแก่นเรื่องไส้ศึกของรามเกียรติ์ดังนี้

คติการเป็นไส้ศึกตามรามเกียรติ์ แสดงผลที่ดูจะผิดไปจากคตินิยมไส้ศึกแบบไทย และผิดจากความเข้าใจของคนไทย ในเชิงประวัติศาสตร์ ผู้แต่งรามเกียรติ์ได้เชิดชูบทบาทพิเภก

การเป็นไส้ศึกเป็นแก่นเรื่องหลักแก่นเรื่องหนึ่งของรามเกียรติ์ ผู้แต่งคงจะมีจุดประสงค์ที่จะแสดงมหันตโทษของการเป็นไส้ศึกผู้ทรยศต่อแผ่นดิน แต่การที่รามเกียรติ์กำหนดให้พิเภกเป็นไส้ศึก “ล้างวงศ์” สุริยวงศ์ยักษ์แล้วยังได้ดี พระรามมิได้ฆ่าพิเภก กลับอภิเษก “มอบเมือง” ลงกาให้พิเภกครอบครองนั้น ถือเป็นเค้าโครงเรื่อง (Plot) ที่หักล้างคตินิยมไทยที่ถือว่า ข้าศึกย่อมไม่ไว้ใจไส้ศึก เสร็จศึกเมื่อใด ต้องฆ่าไส้ศึกทิ้งทันที มิให้เป็นเยี่ยงอย่างว่าเป็นไส้ศึกแล้วได้ดีมีอำนาจ

แก่นเรื่องไส้ศึกของรามเกียรติ์ที่กำหนดให้พิเภกเป็นไส้ศึกแล้วได้ดีครอบครองกรุงลงกานั้น ได้ทำให้ผู้แต่งไม่สมประสงค์ที่จะชี้มหันตโทษของการเป็นไส้ศึก หรือแม้ผู้แต่งจะตั้งใจแนะว่า แม้การเป็นไส้ศึกอาจมีโทษมหันต์ แต่บางครั้งการเป็นไส้ศึกดังกรณีพิเภก ก็เป็นความจำเป็นและไม่ถือว่าเป็นการทรยศต่อแผ่นดิน เพราะเป็นไส้ศึกเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและหลักธรรม ความประสงค์ของผู้แต่งเช่นนั้นก็ยากนักที่จะได้ผล เพราะผู้อ่านทั่วไปจะสามารถเข้าใจความประสงค์อันสลับซับซ้อนของผู้แต่งได้มากน้อยเพียงใดเป็นข้อควรสงสัย

โดยปกติวิสัย ผู้ศึกษาหรือผู้อ่านย่อมมีความรู้สึกนึกคิดทันทีว่า การเป็นไส้ศึกอาจให้คุณประโยชน์มหาศาลดังกรณีพิเภก กรณีพิเภกยังฉายให้เห็นตัวอย่างครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือ การที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงเป็นไส้ศึก แล้วพม่าบำเหน็จรางวัลด้วยการ “มอบเมือง”  กรุงศรีอยุธยาให้ครอบครอง ความตั้งใจของผู้แต่งรามเกียรติ์ที่จะแสดงมหันตภัยของการเป็นไส้ศึกจึงอาจจะไม่โดดเด่นเท่าการแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์มหาศาลของการเป็นไส้ศึก รามเกียรติแสดงคุณมากกว่าโทษของการเป็นไส้ศึก แม้จะมีจุดประสงค์แสดงโทษมากกว่าคุณของการเป็นไส้ศึกก็ตาม

แก่นเรื่องไส้ศึกขัดแย้งกับเค้าโครงเรื่อง โดยความพลั้งเผลอหรือความตั้งใจของผู้แต่ง?

ภาพประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างพี่น้องแบบพิเภกกับทศกัณฐ์เป็นแต่เพียงการฉายภาพประวัติศาสตร์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นทำนองให้ตระหนักว่า ความแตกแยกในชนชั้นผู้ปกครอง โดยเฉพาะในหมู่พี่น้อง คือเบื้องต้นมูลฐานของความล่มจมสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน รามเกียรติ์ต้องการให้คนไทยจดจำเป็นบทเรียนพึงละเว้น ทั้งนี้ควรคำนึงด้วยว่า รามเกียรติ์เป็นบทละครที่เป็นพระราชนิพนธ์แต่งเมื่อการการเสียกรุงครั้งที่ 2 ยังอยู่ในความทรงจำของชนชั้นปกครองร่วมสมัย

รามเกียรติ์ได้แสดงให้เห็นทั้งภาพความรักความจงรักภักดีในมวลหมู่พี่น้องวงศาคณาญาติ และแสดงภาพพี่น้องแตกแยกกันให้เห็นชัดเจนเป็นอุทาหรณ์ทางการเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2561