รัชกาลที่ 6 ทรง “ปลื้ม” หม่อมเจ้าชัชวลิต-ลูกเลี้ยงทรงผนวชถวาย

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับหมู่ราชองครักษ์

รัชกาลที่ 6 ปลื้มพระราชหฤทัย หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์-ลูกเลี้ยง ทรงผนวชถวาย รับสั่งสึกแล้วจะพระราชทานบ้าน และอนุญาตให้แต่งงาน

ช่วงใกล้วันเข้าพรรษา พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัวทรงปรารภกับหม่อมเจ้าชัชวลิตว่า

“พวกหม่อมเจ้าที่ฉันเลี้ยงมา ไม่มีใครบวชอุทิศส่วนกุศลให้ฉันเลย คนที่มีเมียแล้วจะบวชอุทิศกุศลให้ฉัน ๆ ก็จะไม่ได้รับกุศลเต็มที่ เมียจะแบ่งเอาไปเสีย บัดนี้เหลือแต่เธอคนเดียว (ทรงหันพระพักตร์มาทางหม่อมเจ้าชัชวลิต แล้วทรงมีพระราชปุจฉาถามว่า) เธอจะบวชให้ฉันได้หรือไม่” หม่อมเจ้าชัชวลิตกราบบังคมทูลว่ายินดีฉลองพระเดชพระคุณ

บันทึกของ หม่อมเจ้าชัชวลิต วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2416 กล่าวว่า “เสวยกลางคืนวันนี้รับสั่งว่าอยากจะให้เราบวช เรารับจะบวช ทรงพระกรุณาใหญ่ถึงแก่เรียกว่าลูกเลี้ยง และจะพระราชทานขบวนแห่เท่าพระองค์เจ้า เมื่อขึ้นไปเล่นไพ่ยังอวดคนอื่น ๆ อีกว่า ลูกเลี้ยงเขาจะบวชให้ฉัน แลรับสั่งแก่เราว่าสึกมาแล้วจะพระราชทานบ้าน เมื่อมีบ้านแล้วจะแต่งงานก็ควร ความที่ท่านปลื้มว่าจะบวชถวายเลยอนุญาตหมด”

หม่อมเจ้าองค์นี้เป็นใคร? เหตุใดรัชกาลที่ 6 มีรับสั่งเรียกว่า “ลูกเลี้ยง”

หม่อมเจ้าชัชวลิต ทรงบันทึกพระประวัติขององค์ท่านเองไว้ดังนี้

หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ พระราชโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ (พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาค) กับหม่อมทองสุก เกษมสันต์ ประสูติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2437 ณ วังประตูสำราญราษฎร์

หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์

เมื่อชนมายุได้ 10 ปีปลาย เสด็จพ่อทรงดำเนินการให้โกนจุก เสด็จป้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภักตร์พิมลพรรณ กราบทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ถวายหม่อมเจ้าชัชวลิตเป็นมหาดเล็ก ทั้งนี้โดยมีพระประสงค์จะให้สมเด็จพระพันปีหลวงประทานพระบรมราชินีนุเคราะห์ในเรื่องแต่งตัวสำหรับเกษากันต์ สมเด็จพระปีหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้

เมื่อเกศากันต์เสร็จแล้ว สมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำหม่อมเจ้าชัชวลิตไปถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพ่อจึงทรงนำหม่อมเจ้าชัชวลิตไปถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชตามพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2448

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงอุปการะเลี้ยงดูเด็กไว้มากประมาณ 30 คน เด็ก ๆ เหล่านี้ข้าในกรมเรียกว่า “หม่อมเข้าและบุตรข้าราชการ” เด็ก ๆ ในพระอุปการะทั้งหมดได้รับพระราชทานทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค และการศึกษา และยังพระราชทานเงินค่าขนมอย่างต่ำเดือนละ 5 บาท อย่างสูงเดือนละ 30 บาท อาหารที่พระราชทานนั้นวันละ 3 เวลา ทั้งเช้า กลางวัน และเย็น สำหรับหม่อมเจ้านั้น มื้อกลางวันและมื้อกลางคืนทรงพระกรุณาให้มาร่วมโต๊ะเสวย

การศึกษานั้นทรงจัดให้ตามใจสมัคร สำหรับหม่อมเจ้าชัชวลิตทรงขอพระราชทานไปโรงเรียนวัดราชประดิษฐเพราะเห็นว่าอยู่ใกล้พระราชวังสราญรมย์ ต่อมาทรงขอพระราชทานย้ายมาโรงเรียนวัดมหาธาตุ

แต่มีวันหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้บุตรราชการคนหนึ่งซึ่งเรียนที่โรงเรียนวัดมหาธาตุอ่านหนังสือถวายให้ทรงสดับกลับอ่านไม่ออก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระราชวังสราญรมย์ ให้เด็ก ๆ ในพระอุปการะที่อยู่ในตามโรงเรียนวัดต่าง ๆ หรือยังไม่ได้เข้าโรงเรียนใดเข้าโรงเรียนที่ตั้งใหม่นี้

นอกจากเรียนหนังสือแล้ว โปรดให้หัดโขนด้วย หม่อมเจ้าชัชวลิตเป็นตัวพระ นอกจากโขนยังหัดแถวทหาร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารมหาดเล็กมาหัด เป็นอยู่อย่างนี้จนเสวยราชย์

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ตามคติในอดีต สมเด็จพระหน่อพุทธเจ้าเสด็จขึ้นครองราชย์ยังไม่ใช้คำนำพระปรมาธิภัยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จนกระทั่งได้ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษกแล้ว แต่คติสมัยใหม่เห็นว่าประเทศต้องไม่มีเวลาว่างพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ชั้นสูง และเสนาบดี จึงมีมติให้เฉลิมพระราชอิสริยยศว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไม่มี “พระบาท” ไม่มี “ธุลี” จนกว่าได้ทรงรับน้ำพระมูรธาภิเษก

เมื่อเสร็จพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว อัญเชิญ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” [รัชกาลที่ 6] ให้ประทับที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้านตะวันออก เข้าพระที่นั่งใน “ห้องไปรเวท” จัดพระปรัศว์ ด้านตะวันออกเป็นที่เสวย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ 1 หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ 1 หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ 1 หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ ร่วมโต๊ะเสวยด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง 4 คนนี้นอนที่พระปรัศว์องค์ที่เสวยนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่พระที่นั่งจักรีจนกระทั่งซ่อมแซมพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์เสร็จ จึงเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งองค์นั้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทั้ง 4 คนที่กล่าวแล้วนั้นเข้าไปอยู่ใกล้ที่ประทับ (ชื่อพระที่นั่งอะไรยังนึกไม่ออก แต่เรียนกันว่า “ห้องเขียว” )

ทั้ง 4 คนนี้มีหน้าที่ตามเสด็จทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วย การตามเสด็จนี้ผลัดกันเชิญหีบพระศรีและพระสุพรรณศรี (ข้าหลวงเดิม ซึ่งมหาดเล็กเชิญตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบันนี้) ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเข้าพระที่นั่งในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ 4 คนนี้เข้าไปนอนห้องโถงในพระองค์ที่นั่งองค์นั้น การรับใช้ใกล้ชิดพระองค์เป็นไปจนกระทั่งจัดระเบียบกรมมหาดเล็กหลวงใหม่ 3 คนนั้นไปรับราชการตามทำเนียบ ส่วนหม่อมเจ้าชัชวลิตตกเป็นคนหลักลอย ไม่มีตำแหน่งอะไรเลย นอกจากนั่งโต๊ะเสวยและรับใช้ทั่วไป

พ.ศ. 2461 หม่อมเจ้าชัชวลิตชนมายุได้ 24 ปี กราบบังคมทูลว่ายินดีฉลองพระเดชพระคุณ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปุจฉาถามว่า “เธอจะบวชให้ฉันได้หรือไม่”

ต่อจากที่กราบบังคมทูลว่าจะบวชฉลองพระเดชพระคุณแล้วไม่นาน หม่อมเจ้าชัชวลิตก็ได้รับพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งที่มุมถนนสามเสนและถนนราชวัตร ทิศตะวันออกจดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจดโรงไฟฟ้าหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกแถวชั้นเดียวริมถนนสามเสนตั้งแต่ถนนราชวัตรจดสะพานกิมเซ่งหลี พระราชทานด้วย ให้ปลูกเรือนให้มารดาอยู่ในที่ดินพระราชทานนั้นด้วย

เมื่อพระราชทานที่สามเสนทรงมีรับสั่งว่า “ฉันคอยมานานให้เธอขอเงินปลูกบ้าน เธอก็ไม่ขอ เพราะฉะนั้นให้ไปคิดแปลนมา”

นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่พระราชทานดังกล่าวแล้วนั้น ยังทรงบันทึกลงในบัญชีสำหรับให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่จะทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์พระราชทานเงินเลี้ยงชีพข้าราชบริพาธบางคน สำหรับหม่อมเจ้าชัชวลิตพระราชทานปีละ 12,000 บาท และได้พระราชทานพระบรมราโชบายที่พระราชทานเงินเลี้ยงชีพนี้ที่โต๊ะเสวยว่า

“ฉันได้ตัดทอนการศึกษาของพวกเธอโดยเอามาใช้ตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ให้เล่าเรียนก็บก ๆ พร่อง ๆ เมื่อฉันตายลงพวกเธอไม่มีความรู้จะหากิน ฉันจึงให้เงินเลี้ยงชีพนี้เป็นการทดแทนที่ฉันพร่าชีวิตพวกเธอ”

หม่อมเจ้าชัชวลิตทรวงผนวชในพุทธศักราช 2462 พร้อมกับ หม่อมเจ้าอีก 2 องค์ คือ หม่อมธัญญลักษณ์ สุขสวัสดิ์ 1 หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ 1 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นอุปัญชฌาชย์ทั้ง 3 องค์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์นั้นต่างกัน สำหรับหม่อมเจ้าชัชวลิตนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ทรงเป็น และเมื่อขอบรรพชาเป็นสามเณร พระญาณวราวรณ์ (ภายหลังเป็นสมเด็จพระสังหราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) ให้บรรพชา

ทรงผนวช พ.ศ. 2462

11 สิงหาคม 2465 หม่อมเจ้าชัชวลิตได้ทรงเสกสมรส จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน จ.ศ. 1922  วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2465 บันทึกว่า “เวลา 5.30 ล.ท. เสด็จออกพระที่นั่งอัมพรในการเษกสมรสระหว่าง หม่อมเจ้าชัชวลิต ในกรมหลวงพรหม กับ นางสาวคล้อง ณ ระนอง บุตรี พระประดิพัทธภูบาล คู่บ่าวสาวลงนามในสมุดทะเบียนแต่งงานเฉพาะพระพักตรแล้ว ทรงลงพระนามาภิธัยเป็นพยาน และโปรดพระราชทานเงินทุนแก่บ่าวสาว 1,600 บาทด้วย…”

 


ข้อมูลจาก จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 1 สิงหาคม 2517


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2562