“เซนต์คาเบรียล” โรงเรียนน้องของอัสสัมชัญ

นักเรียนยุคแรก ๆ ยืนอยู่ที่หน้าตึกมาร์ติน เดอ ตูร์ส หรือเมื่อก่อนเรียกว่าตึกแดง ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

โรงเรียนเซนต์คาเบรียล หรือโรงเรียนวิถีคริสต์ชายล้วนที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน กรุงเทพมหานครฯ นี้มีประวัติมาอย่างยาวนาน ซึ่งที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนอาจต้องย้อนไปไกลนับร้อยปีเมื่อคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก หรือที่รู้จักกันว่า “คริสตัง” ได้ถูกเผยแผ่เข้ามาในดินแดนสยาม

“คริสตัง” ถูกเผยแผ่เข้ามาในดินแดนสยามตั้งแต่ช่วงก่อนแผ่นดินของพระนารายณ์มหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังคงมีการเผยแผ่เรื่อยมาจนถึงในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในยุคนี้พบว่ากลุ่มคนที่หลักที่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็คือคณะสงฆ์มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส

นอกจากนี้ก็ยังพบว่าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ได้มีการก่อสร้างวัดคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามชุมชนต่าง ๆ อยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น วัดอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนบางรัก ย่านอาศัยของชาวจีนจำนวนมาก หรือวัดนักบุญฟรังซัวซาเวียร์ (วัดชาวญวน) และวัดคอนเซ็ปชัญ (วัดชาวเขมร) ศูนย์กลางชุมชนบ้านญวนสามเสน

การเผยแผ่คริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกดำเนินอยู่เรื่อยมาและยิ่งดูเหมือนจะมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 3 เมื่อสังฆราชปาลเลกัวร์ (Bishop Pallegoix) ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะสงฆ์มิชชันนารีต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ให้เป็นประมุขของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย โดยสังฆราชปาลเลกัวร์ได้เข้ามาประจำอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ

ในขณะที่สังฆราชปาลเลกัวร์ได้เดินทางมาอาศัยที่วัดคอนเซ็ปชัญนั้นปรากฏว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าฟ้ามงกุฎ หรือต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาสซึ่งอยู่ติดกันกับวัดคอนเซ็ปชัญ เป็นโอกาสที่ทำให้สังฆราชปาลเลกัวร์และเจ้าฟ้ามงกุฎได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน ส่งผลให้เกิดความราบรื่นต่อการเผยแผ่คริสตศาสนา

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดการศึกษาแผนใหม่ในประเทศไทยเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับมีการจัดตั้งโรงเรียนในหลายแห่ง ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่โรงเรียนอัสสัมชัญได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์มิชชันนารีฝรั่งเศส นำโดยบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์

โรงเรียนอัสสัมชัญเริ่มต้นการเรียนการสอนปีแรกพร้อมกับนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 33 คน แต่แล้วก็กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีต่อมา คือ 130 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ได้ติดต่อกับขอบุคลากรมาช่วยงานในโรงเรียนจากภราดาเซนต์คาเบรียลที่ฝรั่งเศส ซึ่งคณะภราดาเซนต์คาเบรียลรวมแล้วทั้งหมด 9 รูปนำโดยภราดามาร์ติน เดอตูร์ส ค่อยทยอยเดินทางมายังเมืองไทยและดูแลงานในโรงเรียนอัสสัมชัญแทนที่บาทหลวงกอลมเบต์

กิจการโรงเรียนอัสสัมชัญภายใต้การดูแลของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เห็นได้จากจำนวนนักเรียนที่มากขึ้น จนกระทั่งภราดามาร์ตินและคณะที่ปรึกษามีความเห็นพ้องกันที่จะเปิดโรงเรียนแห่งใหม่เพื่อรองรับนักเรียน ในขณะเดียวกันบาทหลวงบรัวซาต์ เจ้าอาวาสวัดเซนต์ฟรังซัวซาเวียร์ ก็ได้เสนอที่ดินติดกับวัดภายใต้กรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิกให้

ด้วยเห็นถึงเหตุเหมาะสมทั้ง 2 ประการนี้ภราดามาร์ตินซึ่งได้ดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญอยู่ในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญสาขา 2 ขึ้น แต่เนื่องจากว่ากระทรวงศึกษาธิการของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกำหนดห้ามให้โรงเรียนใด ๆ ใช้ชื่อซ้ำกัน ทำให้ภราดามาร์ตินเลือกที่จะใช้ชื่อ “โรงเรียนเซนต์คาเบรียล” แทน ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว จึงได้มีโรงเรียนอัสสัมชัญสาขาอื่น ๆ เช่นอัสสัมชัญศรีราชา หรืออัสสัมชัญธนบุรี เกิดขึ้น

นักเรียนยุคแรก ๆ ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล บางคนใส่กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนฝรั่ง บางคนที่มีเชื้อสายจีนก็ใส่กางเกงจีนขายาวและเสื้อกุยเฮง บางคนมีเชื้อสายเวียดนามก็นุ่งกางเกงขาก๊วยสีขาวหรือกางเกงดำยาวแค่น่อง นักเรียนที่เป็นมุสลิมก็ใส่กางเกงขายาวหรือนุ่งโสร่ง สวมหมวกแบบอิสลาม บางคนใส่โจงกระเบนซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายสมัยนิยมไทยยุคนั้น ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแบบ นักเรียนจึงสามารถแต่งตัวตามเสื้อผ้าที่หาได้มาโรงเรียนได้ (ภาพจาก อสีตยวัสสาภิสมโภช หนังสือที่ระลึก 80 ปีเซนต์คาเบรียล. 2543)

อย่างไรก็ตาม หากนับลำดับสาขาโรงเรียนอัสสัมชัญแล้ว ก็อาจพูดได้ว่าเซนคาเบรียลก็คืออัสสัมชัญ สาขา 2 หรืออัสสัมชัญสาขาสามเสน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463 โดยมีภราดามาร์ตินย้ายจากโรงเรียนอัสสัมชัญมาเป็นอธิการคนแรก


อ้างอิง

ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า – โรงเรียนเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547