“ภาษีเกลือ” ภาษีแห่งความ “แค้นใจ” ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ทำ ความเค็ม จาก ปลาซาดีน ฝรั่งเศษ บทความ ภาษีเกลือ
ภาพโปสการ์ดในศตวรรษที่สิบเก้าของการทำปลาซาร์ดีนเค็มในปูลิกองใกล้กับบาตซ์ - จาก Musee des Marais Salants (Batz-sur-Mer)

“ภาษีเกลือ” ภาษีแห่งความ “แค้นใจ” ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ก่อนมี ภาษีความเค็ม

ในประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องการเก็บ “ภาษีความเค็ม” รัฐมีจุดประสงค์ในการเก็บภาษีดังกล่าวก็เพื่อต้องการควบคุมปริมาณเกลือที่ประชาชนได้รับในแต่ละวันให้พอดีกับที่ร่างกายต้องการ เป็นการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานของเค็ม

เรื่องของภาษีความเค็มนี้ฟังดูเป็นเรื่องใหม่ และเป็นแนวคิดที่ยอมรับไม่ได้สำหรับใครหลาย ๆ คน แต่หากมองย้อนไปยังประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่าการเก็บภาษีของเค็ม ๆ นั้นเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วที่ประเทศฝรั่งเศสช่วงก่อนการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 โดยภาษีดังกล่าวเรียกกันว่า “กาแบลล์ (gabelle) ซึ่งหมายถึง “ภาษีเกลือ”

การเก็บภาษีเกลือกับประชาชนในประเทศฝรั่งเศสนั้น กษัตริย์ผู้ควบคุมอำนาจโดยเด็ดขาดของประเทศทรงมองว่าเป็นเรื่องที่ยุติธรรมที่สุด เพราะมีการกำหนดให้คนทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวย ต้องจ่ายภาษีเกลือในจำนวน 1.66 เปอร์เซ็นต์เท่ากันหมด (!?)

ที่แย่ไปมากกว่านั้นคือ ในเวลาต่อมาเมื่อราชสำนักต้องการใช้เงินเพื่อนำไปใช้ในการทำสงครามกับภายนอก จึงได้เรียกเก็บภาษีเกลือในจำนวนเงินที่มากขึ้น กระทั่งภาษีเกลือกลายเป็นรายได้หลักของราชสำนักในช่วงต่อมาคือสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 

ภาพแกะสลักไม้แสดงการตวงเกลือ – จาก Ordonnance de la Prévôté des Marchands de Paris ค.ศ. 1500 งานสะสมของแกรงเกอร์

เรื่องของ กาแบลล์ หรือเก็บภาษีเกลือที่เกิดขึ้นฟังแล้วดูไม่น่าพอใจเท่าไหร่ แต่สำหรับคนฝรั่งเศสแล้วไม่มีอะไรที่น่าแค้นใจไปกว่า “แซล ดู เดอวัวร์” หรือ “อากรเกลือ” ที่กำหนดให้ประชาชนที่มีอายุเกิน 8 ปี ซื้อเกลือปีละ 7 กิโลกรัม ซึ่งเกลือปริมาณมากขนาดนั้น ไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไรหมด นอกจากจะเอาไปหมักดอง แต่ในขณะเดียวกัน “อากรเกลือ” นี้ก็กำหนดให้ของหมักดองเป็นสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน! ใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับบทลงโทษอันร้ายแรง

ส่วนวิธีการเก็บภาษีฝรั่งเศสจะส่ง “กาเบอลู” หรือเจ้าหน้าที่เก็บภาษีเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กล่าวกันว่าเจ้าหน้าที่เก็บภาษีเหล่านี้ชอบใช้อำนาจในทางผิด ๆ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน จนในหลายครั้งหลายคราก็โดนชาวบ้านตอบโต้ด้วยการทำร้ายจนถึงขั้นฆ่าแกง ซึ่งหากในกรณีที่กาเบอลูตาย กษัตริย์ก็จะทรงส่งกองทัพไปกวาดล้างหมู่บ้านที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น

อย่างไรก็ดี ตลอดช่วงระยะเวลาการเก็บภาษีเกลือในฝรั่งเศสนั้นมีความเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดมากมาย เช่นมีการปรับให้มีการเก็บภาษีเกลือในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เป็นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำในประเทศ สร้างความเจ็บปวดใจให้เหล่าประชาชนเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งภายหลัง ค.ศ. 1789 หรือเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อราชวงศ์ของประเทศโดนโค่นล้มโดยพลังประชาชนแล้ว รัฐสภาก็ได้เห็นชอบให้ยกเลิกภาษีเกลือ พร้อมกับเรียกภาษีนี้ว่าเป็น “ภาษีชั่วร้าย”!!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Mark Kuriansky. ประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ. แปลจาก Salt: History of the World. แปลโดย. เรืองชัย รักศรีอักษร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2561