“สมุด” สร้างชาติไทยได้อย่างไร ?

(จากซ้าย) ปกสมุดยุครณรงค์เรื่องสุขอนามัย, ปกสมุดสัญลักษณ์ต่าง ๆ ปกเป็นภาพธงชาติ ตราเสมาธรรมจักร พระบรมรูปรัชกาลที่ 8 และรัฐธรรมนูญ, ปกสมุดมีสุภาษิตและภาพ

“สมุด” ของที่ดูพื้น ๆ ธรรมดา ๆ ใช้งานอะไรไปไม่ได้มากกว่าการจดบันทึกนั้น เมื่อลองพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของสมุดในเมืองไทยแล้วก็กลับพบว่า สมุดนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงในเรื่องของรูปร่างหน้าตาที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดสมัย แต่เป็นเรื่องของหน้าที่การใช้งานด้วย เพราะดูเหมือนว่าตั้งแต่ในอดีตนั้น สมุดจะมีบทบาทที่มากไปกว่าการใช้จดบันทึก

เรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสมุดที่ใช้กันในเมืองไทยนี้ วิน เลขะธรรม ได้เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549 มีใจความว่า แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นที่คนไทยยังใช้สมุดข่อย ซึ่งมีลักษณะเป็นกระดาษยาวพับทบไปมา มีกรรมวิธีทำที่ยากเย็น จึงเป็นของที่หายาก ไม่นิยมใช้หัดเขียน ใช้เป็นตำราในการอ่านเรียนเท่านั้น สิ่งที่คนไทยสมัยโบราณใช้จดบันทึกจริง ๆ ก็คือแผ่นกระดานดำ มีอุปกรณ์การเขียนก็คือ ดินสอพอง

ปกสมุดฝรั่ง ในช่วงแรกที่เผยแพร่เข้ามาในสยาม

ในเวลาต่อมาได้เริ่มมีการก่อตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และเกิดพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นพร้อมกับการเรียนการสอนแบบใหม่ที่สร้างความจำเป็นให้นักเรียนต้องจดบันทึก เป็นเหตุให้มีการผลิต “สมุดฝรั่ง” ที่แพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยในยุคนั้นขึ้นมาใช้ โดยสมุดของไทยทำเลียนแบบฝรั่งในยุคแรกนี้มีลักษณะลวดลายหน้าปกคล้ายสมุดฝรั่งของแท้ แต่ต่อมาก็ได้ปรับเปลี่ยนโดยเปลี่ยนจากลวดลายเป็นการให้ความรู้ โดยการพิมพ์ข้อความสุภาษิตสอนใจไทยและคำพังเพยลงบนปก

ข้อความที่ปกสมุดนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังเช่นในยุคที่เกิดโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ฯลฯ ระบาดในเมืองไทย ก็พบว่า สมุดได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรณรงค์ทางด้านสุขอนามัย โดยมีการพิมพ์ข้อความแนะนำการป้องกันโรคไว้ที่ปกหลังของสมุด

จากนั้นในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ปกสมุดถูกปรับเปลี่ยนให้แสดงรูปและคำขวัญปลุกใจให้ประชาชนเข้าร่วมกิจการทางการเมืองอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิมพ์สัญลักษณ์แผนที่ประเทศไทย, พระบรมรูปรัชกาลที่ 7, รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2476, ภาพธงชาติ, ตราเสมาธรรมจักร, พระบรมรูปรัชกาลที่ 8 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2478 อีกทั้งต่อมาในยุคที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการพิมพ์หลักการการบำรุงชาติและเศรษฐกิจซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในยุคนั้น ไว้ที่หลังปก ดังข้อความต่อไปนี้

  1. เราเป็นคนไทย เราต้องรักชาติไทยของเรา
  2. เราเป็นคนไทย เราต้องนับถือพระพุทธศาสนา
  3. เราเป็นคนไทย เราต้องรักพระมหากษัตริย์
  4. เราเป็นคนไทย เราต้องเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ
  5. เราเป็นคนไทย เราต้องป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ
  6. เราเป็นคนไทย เราต้องรักใคร่คนไทยด้วยกัน
  7. เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยอุปการะคนไทย
  8. เราเป็นคนไทย เราต้องเชื่อความรู้คนไทย
  9. เราเป็นคนไทย เราต้องไม่ดูถูกคนไทย
  10. เราเป็นคนไทย เราต้องเล่าเรียนหาความรู้
  11. เราเป็นคนไทย เราต้องประกอบอาชีพ
  12. เราเป็นคนไทย เราต้องมีมานะอดทน
  13. เราเป็นคนไทย เราต้องเป็นทหารที่กล้าหาญ
  14. เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยซื้อของที่คนไทยขาย
  15. เราเป็นคนไทย เราต้องช่วยใช้ของที่คนไทยทำ

เราปฏิบัติตามนี้ไม่ได้ก็ตายเสียดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ลวดลายการพิมพ์บนปกสมุดนั้นได้ถูกผลิตในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบเนื้อเรื่องในวรรณคดี พุทธประวัติ วีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็แสดงให้เห็นว่า หน้าที่ของสมุดในประเทศไทยแต่เดิมมานี้ ไม่ได้มีเพียงไว้เขียนบันทึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสั่งสอน กล่อมเกลาจิตใจ หรือกระทั่งปลุกใจก็ดี


อ้างอิง :

วิน เลขะธรรม. “ปกสมุดที่ให้มากกว่าความเป็นปก”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2549)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561