คลายข้อสงสัย คนกรุงศรีอยุธยา “หน้าตา” เป็นอย่างไร?

จิตรกรรม สมุดข่อย ชาวต่างชาติ นั่งสำเภา มาติดต่อ กับ คนกรุงศรีอยุธยา อยุธยา
นักเดินทางหลายชาติบนเรือสำเภาที่มาติดต่อการค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอยุธยา (ภาพจากหนังสือ สมุดข่อย จัดพิมพ์โดย โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2542)

มีคติโบราณบอกว่า “ไทยเล็ก เจ๊กดำ” คบไม่ได้ แสดงว่าคนไทยทั่วไปไม่ใช่คนตัวเล็ก แต่รูปร่างจะใหญ่ขนาดไหน? ไม่มีเกณฑ์กำหนดแน่นอน แล้วหน้าตาของ คนกรุงศรีอยุธยา สมัยก่อนเป็นอย่างไร?

อธิบายยาก แต่มีข้อหน้าสังเกตว่าควรคล้ายพระพักตร์พระพุทธเจ้ารูปแบบ “อู่ทอง” คือหน้าเหลี่ยม ริมฝีปากหนา เป็นต้น

ประเด็นนี้มีข้อยืนยันอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์บอกว่า

“วงหน้าของชาวสยามทั้งชายและหญิง กระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด)  มากกว่าที่จะเป็นรูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายไปทางเหนือโหนกแก้ม แล้วทันใดก็ถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง อนึ่งนัยน์ตาซึ่งหางตาค่อนข้างจะยกสูงขึ้นไปข้างบนนั้นเล็ก และไม่สู้แจ่มใสไวแววนัก และตาขาวซึ่งควรจะขาวนั้นก็ออกเหลือง ๆ แก้มของพวกเขานั้นตอบ ค่าที่โหนกแก้มสูงเกินไปนั่นเอง ปากนั้นกว้าง ริมฝีปากซีด ๆ และฟันดำ ผิวนั้นหยาบ สีน้ำตาลปนแดง”

ที่ลาลูแบร์บอกว่าชาวบ้านยุคอยุธยาทั้งผู้หญิงและผู้ชายฟันดำทั้งนั้น ข้อนี้เป็นรสนิยมของผู้คนยุคนั้นอย่างแท้จริงว่าเป็นสเน่ห์อย่างยิ่ง ดังมีกาพย์โคลงนิราศธารโสกของเจ้าฟ้ากุ้ง ยกย่องหญิงงามต้องมีฟันดำอย่างสีนิล ดังนี้

๏พิศฟันรันเรียงเรียบ   เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล
พาทีพี่ได้ยิน   ลิ้นบ่กระด้างช่างเจรจา
๏ชมทันต์รันเรียบริ้ว   เรียมถวิล
ระเบียบเรียบแสงนิล   ย่องย้อย
พาทีพี่ฟังยิน   พจนาตถ์
ลิ้นเล่ห์เสนาะเพราะถ้วย   กล่าวเกลี้ยงเสียงใสฯ

ที่ว่าฟันดำอย่างสีนิลนี้ไม่ใช่ย้อมสีดำ แต่เพราะกินหมากกินพลูเป็นประจำ นิยมเคี้ยวหมากพลูกันตั้งแต่รุ่นสาวรุ่นหนุ่มจนถึงแก่เฒ่า

ประเพณีเคี้ยวหมากเคี้ยวพลูจนฟันดำเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ทีเดียว มีเอกสารจีนโบราณบันทึกว่าราวสองพันปีมาแล้ว กลุ่มชนพวกหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์นิยมให้ฟันดำ

ชาวอยุธยายกย่องคนมีใบหูใหญ่ด้วยเชื่อว่าอายุยืน ลาลูแบร์รู้สึกประหลาดที่ชาวสยามในอยุธยามีใบหูใหญ่ จึงเขียนบันทึกว่า

“ชาวสยามนั้นมีจมูกสั้นและปลายมน และใบหูนั้นใหญ่กว่าใบหูของพวกเรา คนมีใบหูใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากขึ้นเท่านั้น ด้วยว่าเป็นรสนิยมของชาวต่างชาติบ้างบูรพทิศ สังเกตได้จากตุ๊กตากระเบื้องหรือวัสดุอย่างอื่นที่ได้มาจากภูมิภาคนั้นเถิด แต่การนิยมมีใบหูใหญ่นี้ยังมีทรรศนะแตกต่างกันอยู่ในหมู่ชาวตะวันออก ลางพวกก็นิยมดึงติ่งหูให้ยืดยาวลงมาโดยมิได้เจาะติ่งหูด้วยหมุดให้กว้าง ๆ ขึ้น โดยเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นไปทีละน้อย

ในประเทศลาวนั้นนิยมเบิกหูกันให้กว้างจนแทบว่าจะเอากำปั้น (poing ) ยัดเข้าไปได้ และติ่งหูนั้นย้อยยืดลงมาจรดบ่า ชาวสยามมีใบหูใหญ่กว่าของพวกเราเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ หาได้มีการดัดแปลงไม่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ไพร่ฟ้าประชากร และข้าวปลาอาหาร”. จากหนังสือ “อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วยวิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์มติชน. 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561