วันนี้มี “อุตุฯ” แจ้งฤดูหนาวมา แล้วคน(จีน)โบราณรู้ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ภาพเขียน หญิงชาวจีน ศตวรรษที่ 19
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพเขียนหญิงชาวจีน เขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก Walters Art Museum ไฟล์ public domain)

สมัยนี้เรามี “กรมอุตุนิยมวิทยา” ที่ประกาศแจ้งเตือนแต่ละ “ฤดูกาล” ว่า ฝนกำลังหมด หนาวกำลังมา แต่คนเมื่อหลายพันปีก่อนรู้ฤดูที่เปลี่ยนแปลง โดยสังเกตความสัมพันธ์ของ โลก-ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ แบ่งสภาพอากาศทั้งปีเป็น 24 ตามการโคจรของดวงอาทิตย์

เดือน ปี ฤดูกาล สัมพันธ์กับจักรวาล

ในสังคมเก่าของจีน การทำนาเป็นอาชีพหลักของประชาชน ซึ่งต้องสอดคล้องกับฤดูกาล คนจีนโบราณจึงพยายามศึกษาวิถีแห่งฤดูกาล เพื่อใช้ทำปฏิทินเป็นเครื่องบอกเวลา แต่ที่สำคัญคือการกำหนดการกสิกรรมให้ฤดูกาล และใช้บอกวันเทศกาลให้แน่นอนด้วย เพราะเทศกาลจีนในยุคแรกเกี่ยวเนื่องกับฤดูกาลและการเกษตร

การเฝ้าสังเกตของนักดาราศาสตร์จีนพบว่า เดือน ปี ฤดูกาล ในแต่ละปี เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างโลก กับดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์  เดือนเป็นไปตามอิทธิพลของดวงจันทร์ ฤดูเป็นไปตามอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ส่วนปีมี 2 แบบ คือรอบปีสุริยคติกับรอบปีจันทรคติ ซึ่งปีปฏิทินจีนเก่าใช้ทั้ง 2 แบบควบกัน

เดือนเกิดจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ กินเวลาประมาณ 29 ½ วัน ปฏิทินจีนจึงมีเดือนใหญ่ 30 วัน เดือนเล็กมี 29 วัน เดือนมี 29 หรือ 30 วัน ต้องคำนวณอย่างละเอียดไม่มีหลักตายตัวอย่างปฏิทินไทยซึ่งถือเดือนคู่เป็นเดือนเต็มมี 30 วัน เดือนคี่เป็นเดือนขาดมี 29 วัน

ส่วนฤดูกาลเกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยแกนโลกทำมุมเอียง 23 ½ องศากับแนวซึ่งตั้งฉากกับวิถีโคจรของโลก พร้อมกับการหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้ส่วนต่างๆ ของโลกหมุนเวียนกันรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากน้อยต่างกัน เกิดเป็นฤดูกาล

ภาพแสดงการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก (ภาพจาก www.wikipedia.org)

พื้นที่เกือบทั้งหมดของประเทศจีนอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือ 1 ปี มี 4 ฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว) แต่ละฤดูแบ่งเป็นกาลย่อยตามลักษณะดินฟ้าอากาศได้อีก 6 ช่วง แต่ละกินเวลาประมาณ 15 วัน รวม 1 ปี มีสภาวะอากาศ 24 ปักษ์ (ช่วงย่อยของฤดู)  เมื่อครบ 4 ฤดู 24 ปักษ์ 365 วัน เป็น 1 รอบปีสุริยคติ

ตำแหน่งของโลกบนเส้นสุริยวิถีใน 24 ปักษ์ (ภาพจากหนังสือประเพณีและการเซ่นไหว้)

24 ปักษ์ในแต่ละปี มีอะไรบ้าง?

หลิวจั๋ว (พ.ศ. 1087-1151) นักดาราศาสตร์สมัยราชวงศ์สุย (พ.ศ. 960-1161) แบ่งเส้นสุริยวิถีเป็น 24 ช่วง มีระยะห่างเท่าๆ กัน ช่วงละ 15 องศาตามดาราศาสตร์ตามปัจจุบัน เมื่อดวงอาทิตย์ (ที่ถูกคือโลก) โคจรมาถึงจุดต่อของแต่ละช่วงก็เข้าสู่ปักษ์ใหม่ รายละเอียดดังนี้

  1. หลิบชุน-เริ่มฤดูใบไม้ผลิ โลกโคจรมาถึงจุด 315 องศา ในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ อากาศเริ่มคลายหนาว หิมะเริ่มละลาย

2. อู๋จุ้ย-น้ำฝน เริ่มมีฝนตก โลกโคจรมาถึงจุด 330 องศา ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์

3. เก็งเต๊ก-สัตว์จำศีลสะดุ้ง เพราะเสียงฝนตกฟ้าร้องทำให้สัตว์จำศีลในฤดูหนาวสะดุ้งตื่นออกมาใช้ชีวิตปกติ เหมาะแก่การหว่านไถ โลกโคจรมาถึงจุด 345 องศา ในวันที่ 5-6 มีนาคม

4. ชุงฮุง-กึ่งใบไม้ผลิ เพราะโลกโคจรมาถึงจุด 0 องศา ในวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม วันนั้นเป็นวันกึ่งกลางฤดูใบไม้ผลิพอดี กลางคืนกลางวันยาวเท่ากัน อากาศหายหนาวเย็นสบาย ศัพท์บัญญัติดาราศาสตร์เรียกว่า “วสันตวิษุวัต” หรือ Vernal Equinox (วิษุวัต หรือ Equinox แปลว่า จุดราตรีเสมอภาค เพราะดวงอาทิตย์โคจรมาถึงจุดที่กลางวัน-กลางคืนบนโลกยาวเท่ากัน)

5. เช็งเม้ง-แจ่มใส  บรรยกาศสดชื่นแจ่มใส ต้นเขียว ดอกไม้ออกดอก โลกโคจรมาถึงจุด 15 องศา ในวันที่ 4-5 เมษายน

6. ก๊กอู้-ฝนธัญชาติ ฝนตกมากหล่อเลี้ยงพืชพรรณธัญญาหารทั้งหลาย โลกโคจรมาถึงจุด 30 องศา ในวันที่ 20-21 เมษายน

7. หลิบเห่-เริ่มฤดูร้อน โลกโคจรมาถึงจุด 45 องศา ในวันที่ 5-6 พฤษภาคม

8. เสียวมั่ว-รวงน้อย ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ออกรวง โลกโคจรมาถึงจุด 60 องศา ในวันที่ 21-22 พฤษภาคม

9. หมั่งเจ้ง-ปลูกธัญชาติที่มีเมล็ดหรือฝักเป็นขน ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ที่ออกรวงในปักษ์ก่อนหน้าสุกแล้วให้รีบเก็บเกี่ยว และปลูกธัญชาติที่มีขน เช่น ข้าวฟาง, เกาเหลียง, ข้าวโพด เพราะถ้าปลูกไม่ทันปักษ์นี้จะไม่ได้ผล โลกโคจรมาถึงจุด 75 องศา ในวันที่ 6-7 มิถุนายน

10. เห่จี่-จุดสูงสุดของฤดูร้อน กลางวันยาวสุด ศัพท์บัญญัติดาราศาสตร์เรียกว่า “ครีษมายัน” (Summer Solstice คือ จุดสูงสุดทางเหนือในฤดูร้อน กลางวันจะยาวที่สุด) โลกโคจรมาถึงจุด 90 องศา ในวันที่ 21-22 มิถุนายน

11. เสียวซู่-ร้อนน้อย แต่ความจริงร้อนมาก เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 105 องศา ในวันที่ 7-8 กรกฎาคม

12. ไต่ซู่-ร้อนมาก อากาศร้อนที่สุดในรอบปี เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 120 องศา ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม

13. หลิบชิว-เริ่มฤดูใบไม่ร่วง หรือเริ่มศารท เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 135 องศา ในวันที่ 7-8 สิงหาคม

14. ชู้ซู่-ร้อยคลาย เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 150 องศา ในวันที่ 23-24 สิงหาคม

15. แปะโหล่ว-น้ำค้างขาว ปักษ์นี้น้ำค้างตกเป็นสีขาวจับไปทั่ว เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 165 องศา ในวันที่ 8-9 กันยายน

16. ชิวฮุง-กึ่งฤดูใบไม่ร่วง โลกโคจรมาถึงจุด 180 องศา ในวันที่ 23-24 กันยายน เป็นวันกึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วงพอดี กลางคืนกลางวันยาวเท่ากัน ศัพท์บัญญัติดาราศาสตร์เรียกว่า “ศารทวิษุวัติ” หรือ “Autumnal Equinox”

  1. หั่งโหล่ว-น้ำค้างยะเยือก อากาศเย็นมากจนน้ำค้างเกือบแข็ง เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 195 องศา ในวันที่ 8-9 ตุลาคม

18. ซวงกั่ง-น้ำค้างแข็งตก อากาศหนาวจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็งจับอยู่ทั่วไป เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 210 องศา ในวันที่ 23-24 ตุลาคม

19. หลิบตัง-เริ่มฤดูหนาว เมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 225 องศา ในวันที่ 7-8 พฤศจิกายน

20. เซียวเสาะ-หิมะน้อย เริ่มมีหิมะตก เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 240 องศา ในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน

21. ไต่เสาะ-หิมะมาก ช่วงนี้หิมะตกหนัก เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 255 องศา ในวันที่ 7-8 ธันวาคม

22. ตังจี่-จุดสูงสุดของฤดูหนาว กลางคืนยาวสุด ศัพท์บัญญัติดาราศาสตร์เรียกว่า “เหมายัน” หรือ “Winter Solstice” เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 270 องศา ในวันที่ 22-23 ธันวาคม

23. เซียวฮั้ง-หนาวน้อย แต่ความจริงหนาวมาก เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 285 องศา ในวันที่ 5-6 มกราคม

24. ไต่ฮั้ง-หนาวมาก อากาศหนาวจัด เริ่มเมื่อโลกโคจรมาถึงจุด 300 องศา ในวันที่ 20-21 มกราคม

ชื่อปักษ์ย่อยทั้ง 24 ปักษ์ ออกเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋ว เพื่อให้ท่านสังเกตเห็นได้ง่ายว่าชื่อบางปักษ์กับเทศกาลจีนนั้นตรงกัน คล้ายกัน เช่น เช็งเม้ง, ตังจี่ ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนักดาราศาสตร์โบราณที่พยายามศึกษาวิถีแห่ง “ฤดูกาล” เพื่อกำหนดการกสิกรรมให้ฤดูกาล และใช้บอกวันเทศกาลเป็นสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2561