“นายกรัฐมนตรี” มาจากไหน? ทำไมเรียกว่า “นายกรัฐมนตรี” ?

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ผิณ ชุณหวัน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ผิณ ชุณหวัน เมื่อปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับตุลาคม ปี 1953)

“นายกรัฐมนตรี” หรือ “หัวหน้าผู้บริหารประเทศ” มีมาแต่อดีต เพียงแต่ยังไม่มีใครคิดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้เท่านั้น เช่น จีนใช้คำว่า “ไจ๊เสี่ยง” หรือ “มหาอุปราช” วรรณคดีสามก๊ก โจโฉ ก็เป็นดำรงตำแหน่งดังกล่าว, อินเดีย วรรณคดีเรื่องกามนิต – วาสิฏฐี ใช้คำว่า “ประธานมนตรี” ไทยเราก็ใช้คำว่าอัครมหาเสนาบดี, อัครมหาเสนาภิมุข, สมุหนายก, ประธานกรรมการราษฎร ฯลฯ

แล้วคำว่านายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์ขึ้น!!

ชาติแรกที่คิดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2163 ทรงมีพระราชดำริให้หาผู้สมควรได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ช่วยดูราชพระราชภารกิจแทนพระองค์ จึงทรงแต่งตั้งรองสมเด็จพระสังฆราช คาร์ดินัล เดอร์ ริเชอลิเอร์ (Cardinal de Richelieu) ให้เป็นผู้ช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งประเทศในนามรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และให้เรียกตำแหน่งนี้ว่า Premiers หมายถึงผู้ที่สามารถเข้าถึงพระองค์อย่างใกล้ชิดเป็นคนแรกตลอดเวลา คำว่า Premiers มาจากภาษาลาติน Primus แปลว่า ก่อนเป็นคนแรก

คาร์ดินัล เดอร์ ริเชอลิเอร์ (ภาพจาก www.wikipedia.org)

แล้วมาเป็นนายกรัฐมนตรีในภาษาไทยได้อย่างไร

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งกำหนดว่าจะให้เสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “ร่างกฎหมายเปลี่ยนชื่อเสนาบดีเป็นรัฐมนตรี” ที่มีอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญตกลงเห็นควรให้เปลี่ยน “เสนาบดี” และ “กรรมการราษฎร” มาใช้เป็น “รัฐมนตรี” แทน

ส่วนคำว่า “ประธานกรรมการราษฎร” ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้อย่างไร จึงมอบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำเนินการต่อ พระยามโนปกรณ์ฯ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ช่วยหาข้อมูลเรื่องนี้จากรัฐธรรมนูญต่างชาติ และให้พระธรรมนิเทศทวยหาร (อยู่ อุดมศิลป์) ตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ แปลเป็นภาษาไทย

พระยามโปกรร์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี คนแรก ของไทย
พระยามโปกรร์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย (ภาพจาก www.wikipedia.org)

หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนบันทึกไว้สั้นๆว่า “ได้พบรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเขาเรียกหัวหน้าผู้บริหารประเทศของเขาว่า ‘Premier’ ส่วนอังกฤษนั้นเขาเรียก ‘Prime-Minister’ เยอรมันเรียกว่า ‘Chancellor’ จะเทียบคำไทยอย่างไรสุดแต่คุณพระจะพิจารณา”

พระธรรมนิเทศฯ ได้เทียบคำดังนี้ Premier สรุปได้ว่า “นายก” เป็นทั้งคำบาลีและสันสกฤต มาจากต้นศัพท์ว่า นี แปลว่า แรก ซึ่งตรงกับคำว่า Premier ที่แปลว่า ปฐม หรือหัวหน้า คำว่า “รัฐ” เป็นภาบาลี แปลว่าขอบเขต, ดินแดน คำว่า “มนตรี” เป็นคำสันสกฤต แปลว่าที่ปรึกษา  ฉะนั้นคำว่านายกรัฐมนตรี คือผู้อยู่เหนือ หรือ ผู้นำคณะมนตรีของประเทศ

พระธรรมนิเทศทวยหาร (อยู่ อุดมศิลป์) (ภาพจาก เว็บไซต์ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก)

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนสำคัญ 3 ท่าน คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา), หลวงประดิษฐ์ฯ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ลงมติให้ใช้คำว่านายกรัฐมนตรี แทนคำว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

(จากซ้ายไปขวา) พระยามานวราชเสวี, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ภาพจาก www.wikipedia.org)

ไทยเป็นประเทศแรกที่กำหนดและใช้คำว่านายกรัฐมนตรี สำหรับตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารประเทศ จากนั้นกัมพูชาเป็นประเทศที่ 2 ใช้เมื่อ สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2488 และลาวใช้ประเทศที่ 3 พ.ศ. 2488 เมื่อเจ้าเพชรราชดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารประเทศ

สรุปว่า “นายกรัฐมนตรี” มาจากการเลือกตั้ง และรัฐประหาร ส่วนคำว่า “นายกรัฐมนตรี” นั้นมีที่มาจากฝรั่งเศส

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ดร. กวี อิศริวรรณ. “กำเนิดตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ20 ตุลาคม 2561