“วันนี้มีข่าวอะไร?” บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อ 150 ปีที่แล้ว

“วันนี้มีข่าวอะไร” เป็นคำพูดคุ้นเคย เมื่อเห็นใครถือหนังสือพิมพ์อยู่ในมือ แล้วถ้าเป็นหนังสือพิมพ์เมื่อ 150 กว่าปีที่แล้วล่ะจะเป็นอย่างไร

หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley)

หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ “บางกอกรีคอร์เดอร์” (The Bangkok Recorder)  หรือ “หนังสือจดหมายเหตุฯ” มีนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2408 หรือเมื่อ 153 ปีที่แล้ว เสนอข่าวไว้ดังนี้

ข่าวการเมืองขึ้นหน้าหนึ่งเพียงข่าวเดียว เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวไว้ว่า  “ข้าพเจ้าทั้งหลาย, คือฝูงราษฎรแห่งเมืองยูในติศเทศ, เพื่อประสงค์จะได้กระทำให้เมืองของเรา, เปนอันอนึ่งอันเดียวกันกว่าแต่ก่อน, แลให้ตั้งมั่นคงในการยุตติธรรม, แลให้ความสุขในบ้านเมืองเราจำเริญขึ้น, แลจัดแจงการเพื่อจะได้ป้องกันเมืองเราไว้ทุกเมือง, เปนธุระอันเดียวกัน,

แลเพื่อจะได้บำรุงซึ่งความศุขทุกๆ หัวเมือง, แลรักษาซึ่งความเจริญแห่งลิเบอติ, (คือความเป็นอิศรแก่ตัว) สำหรับตัวข้พาเจ้าทั้งหลาย, และลูกหลานเหลนของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เราจึงได้ตั้งบทกอนสติติวซันนี้ไว้, ให้มั่นคง, สำหรับเมืองยูในติศเทส แห่งอเมริกา”

ข่าวพระราชสำนักมีเรื่องรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐินตามวัดต่างๆ  เช่น “ครั้นถึง ณ วันเสาร์เดือน 11แรม 9 ค่ำ จึงเสดจ์ทรงเรือพระที่นั่งอนันตนาคาราช, โดยกระบวนพพยุห์บาตรานำหลังไปโดยทางชลมารควิถียังวัดสุวรรณธารามแล้ว, ถวายผ้าพระกฐินแก่พระสงฆ์, อันจำพรรษาอยู่พระอารามนั้นเสร็จแล้ว, จึงเสดจ์ไปถวายผ้าพระกฐินแก่พระสงฆ์ในพระอุโบสถวัดอรุณราชธาราม เสร็จแล้วจึงเคลื่อนกระบวนพยุห์บาตราเสดจ์ไปวัดหงษาวราราม…”

ข่าวอาชญากรรม หมอบรัดเลย์เขียนให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินการว่า “แขกเขมรบ้านครัว ตั้งแต่บริเวณวัดบรมนิวาสออกไป, ตั้งกองสมคบนักเลงลักโค กระบือ รับซื้อโค กระบือ, มาฆ่าเอาเนื้อซื้อขายวันละ 90 ตัว. เดือนหนึ่ง ถึง 300 เสศ, ปีหนึ่งก็นับพัน. ไม่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองเลย…ชะรอยพวกแขกที่ขายเนื้อวัวที่คอกควายนนั้น, ได้ซื้อตัววัวมาจากขโมยที่บ้านเขมรนั้น. บางที่ผู้ที่ซื้อตัววัวไปฆ่าเสียนั้น, จะไม่รู้ว่าเปนของขโมย. ได้ยินว่าไม่มีใครอาจกล่าวโทษคนร้ายนั้นเลย…”

ตารางแจ้งกำหนดเรือกำปั่นจากประเทศต่างๆ ที่เข้า-ออก ในกรุงเทพฯ

ข่าวเศรษฐกิจ รายงาน “ราคาสินค้าที่เมืองฮองกอง” มีสินค้า 3 รายการ คือ ข้าว, น้ำตาลทราย และฝิ่น โดยเขียนไว้ดังนี้ “ ๏ เข้าสาน บังกลา 2 เหรียน 55 เซ็นต์, และ 3 เหรียญ ถ้วน ๏ เข้ากล้องสยาม 2 เหรียน 25 เซ็นต์, แล 2 เหรียน30 เซ็นต์…๏เข้าเมืองไส้ง่อน 2 เหรียญ 5 เซ็นต์ ๏เข้ามนิลาหาบละ 2 เหรียญ 55 เซ็นต์, แล 2 เหรยน 85 เซ็นต์ ๏เข้าขาวเมืองยางกุงหาบละ 2 เหรียน 55เซ็นต์, แล 2 เหรียน 75 เซ็นต์…”

ภาพประกอบบทความชื่อ “รูปคนบอกเส้นโลหิตไหล”

และแน่นอนว่าเมื่อบรรณาธิการเป็นหมอก็ต้องมีข่าวสุขภาพ โดยลงเรื่องระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายพร้อมภาพประกอบ หมอบรัดเลย์ยังบอกว่า “ถ้าผู้ใดสงสัยว่า, โลหิตดำจะไหลขึ้นไปจากตีนแลมือเปนแน่ฤาไม่, ก็ให้เอาผ้ามาฉีกเปนเชือกผูกรัดที่ต้นแขนให้ตึง, จึงจะเหนเส้นโลหิตดำที่อยู่กลางนั้นเปล่งโตขึ้น,…ถ้าแลแก้เสียเชือก, เส้นโลหิตดำนั้นก็จะราบเหมือนดังเก่า. ถ้าแลผูกตึงนัก, ก็จะกั้นโลหิตแดงเสียด้วย, เทพจรที่มือก็จะหยุดไม่ปรากฏ, เพราะโลหิตแดงเดินลงมาตามคลองนั้นไม่ได้…”

นอกจากนี้ยังมีจดหมายจากผู้อ่านที่ส่งมาแสดงความวิตกที่บางกอกรีคอร์เดอร์เขียนว่า เมืองอื่นๆ มีการบริจาค หรือเรี่ยไรเงินสร้างโรงเรียนเพื่อสอนวิชาการต่างๆ มีประโยชน์มากกว่าสร้างวัดว่า “ได้ยินได้ฟังการต่างประเทศหนาหูเข้าจิตรใจก็เปรี้ยวไปเสียหมด ถ้าตั้งตึกใหญ่ขึ้นหาครูมาสอนหนังสือและวิชาการต่างๆ ขึ้นดังว่าแล้ว, ครูนั้นก็จะไม่สนใจแต่หนังสือแลวิชาอย่างเดียว, ก็คงจะสอนทางศาสนาที่ครูนับถือนั้นด้วย…”

สุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ก็คือโฆษณาซึ่งนอกจากโฆษณาหนังสือของหมอบรัดเลย์แล้ว ยังมีโฆษณาอื่นด้วย โดยลงแต่ข้อความไม่มีภาพประกอบ ทั้งหมดนี้คือหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกที่สะท้อนภาพสังคมไทย

ข้อมูลและภาพจาก

หนังสือจดหมายเหตุ THE BANGKOK RECORDER.ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมหมาย ฮุนตระกูล วันที่ 25 ธันวาคม 2536


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 19 ตุลาคม 2561