“คน” เปลี่ยนชื่อได้ “ถนน” เปลี่ยนชื่อบ้าง แต่เปลี่ยนไปทำไม? ใครเปลี่ยนให้?

ถนนหนทางในสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพเป็นการโชว์รถยนต์บนถนนสาธารณะในพระนคร ช่วงปี 2450-2451 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นบุคคลหลายอาชีพเปลี่ยนชื่อกันมากมาย นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลชีวิต ตามที่พระ ที่หมอดู ฯลฯ แนะนำมา แต่วันนี้เราจะชวนท่านไปดู ถนน เปลี่ยนชื่อ แต่ว่าถนนทำไมจะเปลี่ยนเอาสิริมงคลชีวิต ถนนก็ไม่มีชีวิต แล้วใครเปลี่ยนชื่อให้ ถนน

เครื่องลายครามจีนที่เขียนเป็นลวดลายต่างๆ ภายในห้องจัดแสดง เครื่องลายครามจีน (ภาพจาก พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต, สำนักพระราชวัง 2545)

เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อถนนนั้นเป็นไปตามสมัยนิยม

ชื่อถนนหลายสายที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อมาจากชื่อลวดลายบนเครื่องลายครามซึ่งเป็นพระราชนิยม โดยทรงเลือกเอาชื่อภาพหรือลายที่มีความงาม หรือมีหมายเป็นมงคลมาตั้งเป็นชื่อถนน เช่น

ถนนซางฮี้ จากลายตัวอักษรจีน喜喜 ที่อ่านว่า “ซางฮี้” แปลว่ายินดีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย มักใช้ในงานมงคลสมรส

ถนนฮก, ถนนลก, ถนนสิ้ว จากลายพร 3 ประการ ฮก-โชควาสนา, ลก-ยศศักดิ์ หน้าที่การงาน, สิ้ว-แข็งแรง อายุยืน

ถนนพุดตาล, ถนนเบญจมาศ, ถนนส้มมือหนู จากลายดอกพุดตาน, ดอกเบญมาศ, ผลส้มมือ

ถนนประแจจีน จากลวดลายเครื่องลายครามจีนแบบหนึ่ง

ถนนดวงดาวใต้ จากลายดวงดาว ที่นิยายจีนมักกล่าวถึงดาวที่เป็นเทพเซียนต่างๆ

ฯลฯ

ถนนเบญจมาศ หรือ ถนนราชดำเนินนอก (ภาพจาก www.maticho.co.th)

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนบางสายในพระนคร ถนนที่เคยมีชื่อตามเครื่องลายครามที่กล่าวมาข้างต้นจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ ตามประกาศกระทรวงนครบาล (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2462) ได้แก่

ถนนซางฮี้นอก 1 ถนนซางฮี้ใน 1 ถนนซางฮี้หน้า 1 ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา-ถนนราชปรารภ เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชวิถี”

ถนนเบญจมาศนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาฬรังสรรค์-ถนนพระลาน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชดำเนินนอก”

ถนนฮก ตั้งแต่ถนนลูกหลวง-ถนนดวงตะวันใน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนนครปฐม”

ถนนลก ตั้งแต่ถนนลูกหลวง-ถนนเตชะวณิช เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพระรามที่ 5”

ถนนสิ้ว ตั้งแต่สะพานยมราช-สามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสรรคโลก”

ถนนประแจจีน ตั้งแต่สะพานยมราช-สะพานเฉลิมโลก เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเพชรบุรี”

ถนนดวงดาวใต้ ตั้งแต่ถนนคอเสื้อ-ถนนใบพร เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนราชสีมาใต้”

ถนนส้มมือหนู ตั้งแต่ถนนซางฮี้ใน-คลองสามเสน เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนสุพรรณ”

ฯลฯ

การเปลี่ยนชื่อถนนข้างนั้นนั้น เป็นพระราชนิยมในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเปลี่ยนชื่อถนนตามพระนามของเจ้านาย เช่น ถนนประแจจีน โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนเพชรบุรีตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, ถนนสิ้ว เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ถนนสวรรคโลก” ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี พระธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายจินต์ ศิริโชติ, วันที่ 29 พฤศจิกายน 2505. ทำเนียบนาม ภาค 4 ถนนในจังหวัดพระนคร และธนบุรี. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม.


ปรับปรุงแก้ไขในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566