“ระฆังฝรั่ง” ในพระปรมาภิไธยร.4 ที่วัดราชประดิษฐฯ ของงามที่ทรงสั่งหล่อจากอังกฤษ

ระฆังฝรั่งใบใหญ่จากหอระฆังวัดราชประดิษฐฯ (ภาพจากเพจ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม)

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 มี ระฆังฝรั่ง ใบใหญ่ที่พิเศษกว่าระฆังอื่นในวัด เพราะตอนกลางของระฆังมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ (พระนามย่อ) ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ (capital letter) ว่า S P B P M M

จารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ว่า S P B P M M ใต้พระปรมาภิไธยย่อบนระฆังระบุตัวเลข ค.ศ. 1861 (พ.ศ. ๒๔๐๔ คือ ปีที่หล่อระฆัง) ล้อมรอบด้วยดาวหกแฉกหลายดวง

โดยทั่วไปแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่าพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษของ “คิงมงกุฎ” (King Mongkot) มีอักษรเพียง 5 ตัว คือ S. P. P. M. M. ย่อจากพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษ คือ Somdetch Phra Paramendr Maha Mongkot (สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ) และทรงลงพระปรมาภิไธยย่อภาษาอังกฤษในพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ถึงชาวตะวันตกว่า S P P M Mongkot

ขณะที่ระฆังใบนี้มีอักษร B เพิ่มมา 1 ตัว แต่ก็พบว่า ได้ทรงใช้ตราพระมหาพิชัยมงกุฎบนหัวกระดาษและซองพระราชหัตถเลขาเป็นประกอบอักษรพระปรมาภิไธยย่อ S. P. B. P. M. M. แบบเดียวกับบนระฆังใบนี้ ซึ่งมี B เพิ่มมาอีกตัวด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ดี ในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนั้นเองกลับทรงลงพระปรมาภิไธยย่อว่า S P P M Mongkot จึงเกิดเป็นปริศนาที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในตอนนี้ก็คือ B ที่เกินมาจะย่อมาจากพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

ซองพระราชหัตถเลขาที่ปรากฎพระปรมาภิไธยย่อภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ S. P. B. P. M. M. แบบเดียวกับบนระฆังใบนี้ ซึ่งมี B เพิ่มมาอีกตัวด้วยเหมือนกัน น่าสังเกตว่าลายเข็มขัดที่บรรจุพระปรมาภิไธยย่อนำแบบอย่างมาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอ (The Most Noble Order of the Garter) ของสหราชอาณาจักร

ใต้พระปรมาภิไธยย่อบนระฆังระบุตัวเลข ค.ศ. 1861 ล้อมรอบด้วยดาวหกแฉกหลายดวง คงเป็นปีที่หล่อระฆังตรงกับ พ.ศ. 2404 หรือ 3 ปีก่อนการสถาปนาวัดราชประดิษฐฯ บริเวณปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON อาจเป็นชื่อของบริษัทผู้ผลิตซึ่งตั้งอยู่ในนครลอนดอน สหราชอาณาจักร

ปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON ซึ่งอาจเป็นชื่อของบริษัทผู้ผลิตในนครลอนดอน สหราชอาณาจักร

แสดงให้เห็นว่า ได้ทรงเตรียมการเกี่ยวกับหอระฆังของวัดราชประดิษฐฯ มาก่อนที่จะตั้งพระอารามแห่งนี้อย่างเป็นทางการถึง 3 ปีแล้ว โดยทรงพระกรุณาสั่งหล่อระฆังจากสหราชอาณาจักรภายใต้พระปรมาภิไธยของพระองค์ให้เป็นของดีสำหรับวัด เพราะในขณะนั้นเองก็ถือว่าสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อสยามมากที่สุดประเทศหนึ่ง


ข้อมูลจาก หนังสือ ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา เขียนโดย พิชญา สุ่มจินดา จัดพิมพ์โดยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, พ.ศ. 2555

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สมใจหนังสือสอบถามได้ที่เพจ : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ปกหนังสือ “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา” เนื้อหาวิชาการอ่านง่าย พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม