สมัยอยุธยาไม่มี ไม้ตรี ( ๊ ) ไม้จัตวา ( ๋ ) และวรรณยุกต์ไม่ได้แปลว่าผันเสียง

สมัยอยุธยาไม่มี ไม้ตรี (  ๊ ) ไม้จัตวา (  ๋ ) และ “วรรณยุกต์” ไม่ได้แปลว่า ผันเสียง

ในตำราภาษาไทยเรา ไม้เอก (  ่ ) คือเครื่องหมายผันเสียง มีคู่กันมากับไม้โท (  ้ ) แต่สมัยอยุธยา มี 2 อันเท่านี้ในสมัยนั้น และเรียก “พิน”

ไม้เอกเรียก “พินเอก” ไม้โทเรียก “พินโท”

ดังปรากฏดังตำราจินดามณี : –

“เปนเสมียนรอบรู้   วิสัญช์

พินเอกพินโททัณฑ   ฆาตคู้

ฝนทองอีกฟองมัน   นฤคหิต

แปดสิ่งนี้ใครรู้   จึงให้เป็นเสมียน”

มาในสมัยรัตนโกสินทร์มีเพิ่มเข้ามาอีก 2 อัน คือ ไม้ตรี (   ๊ ) ไม้จัตวา (  ๋ ) ดังปรากฏในคัมภีร์จินดามณีที่ชำระใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ :-

อักษรทั้งสามหมู่   กำหนดรู้ซึ่งวาจี

สูงต่ำผันพาที   แต่สามเสียงสำเนียงหัน

หมู่กลางนั้นผันห้า   เพราะจัตวาไม้ตรีอัน

กอบกับประดับกัน   จึงแบ่งเบญจบรรหาร”

มาสมัยหลังนี้เราเรียก “วรรณยุกต์” ก็เพราะใน มูลบทบรรพกิจ ท่านจัดไว้ในหมู่วรรณยุกต์

วรรณยุกต์ ไม่ได้แปลว่าผันเสียง แต่แปลว่า ประกอบอักษร มูลบทกล่าวว่า :-

“วรรณยุกต์ทั้ง 13 คือ ไม้เอก, ไม้โท, ไม้ตรี, ไม้จัตวา, กากบาท,-ตีนกา, ฝนทอง, ฟองมัน, วิสัญชนี, ทัณฑฆาต, ไม้ไต่คู้, นิคหิต-นฤคหิต, โคมูตร, มุสิกทันต์-ฟันหนู, หางกังหัน-หันอากาศ-ไม้ผัด”

จะเห็นว่าเครื่องหมายผันเสียงมีอยู่ 4 ไม้เท่านั้นในบรรดาวรรณยุกต์ 13 ซึ่งเป็นเครื่องหมายอื่น ๆ รวมทั้งวิสัญชนีคือ สระ -ะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไม้เอก ( ่ ) คืออะไร” เขียนโดย ภาษิต จิตภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2561