คำว่า “หนังตะลุง” มาจากไหน ?

เล่นหนังตะลุงที่โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ เอนกถ่าย-พุธ 29 ส.ค. 2561

หนังตะลุงไม่ได้มีเฉพาะภาคใต้ หากแต่ได้แพร่หลายขึ้นมายังภาคกลาง ภาคอีสานจนแม้กระทั่งเชียงใหม่ด้วย

เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้ว ให้ดูได้จากหนังสือ หนังตะลุง-หนังใหญ่ สำนักพิมพ์พิมพ์คำ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2546

หนังตะลุงมาเลย์ก็มี ชวาก็มี ตุรกีก็มี จีนก็มี ฝรั่งก็มี

ต่างคนต่างตัดรูปหนังเล่นกับเงากันไปตามความสามารถของแต่ละชาติแต่ละคน

การเล่นเงาของฝรั่งนั้นน่าสนใจมาก เพราะเขาพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

จากเล่นเงามือรูปหมา รูปนก ฯลฯ + เงาที่ตัดจากแผ่นโลหะหรือกระดาษ ….ก็มาเป็นภาพยนตร์ และการแสดงเงาคน

คนสองคน สามคน สี่คน ห้าคน ฯลฯ เล่นเงาซ้อนไปซ้อนมาจนเกิดภาพแปลกๆขึ้นบนจอดังเห็นได้จากคลิปในโลกอินเตอร์เนตปัจจุบัน

ไม่เชื่อก็พิมพ์คำว่า shadow play บนยูตุ๊บดู รายการ Britain’s Got Talent 2013 เป็นตัวอย่างที่ดี

shadow play รายการ Britain’s Got Talent 2013 บนยูตุ๊บ

หนังตะลุงหนังใหญ่เรายังคงเล่นแบบโบราณ

อย่างเก่งก็คือพัฒนาการพูด การพากย์ เพลงประกอบ และตัวหนัง ให้กระชับทันสมัยขึ้นดังตัวอย่างหนังน้องเดียว เป็นต้น

แต่ถึงอย่างไรการเล่นเงาแบบพื้นบ้านก็ยังมีมนต์ขลังอยู่นั่นแหละ

สมัยผมเป็นเด็ก เพื่อนๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านชอบทำโรงหนังเล่นกันในหมู่พี่น้องของเขา

ขึงจอ เอาใบจามจุรีแห้งมาโปรยรองนั่ง ตัดหนังจากกระดาษ เอาหม้อไหมาตีแทนกลอง
โน้งเหน่งโน้งแกระ โน้งเหน่งโน้งแกระ
ครึกครื้นสนุกสนานกันมาก คิดถึงเรื่องนี้แล้วอยากจะลุกขึ้นไปเต้น!!!

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ผมมีงานต้องไปบรรยายให้เด็ก ม.1 โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ ฟัง ไกลถึงรังสิต

ต้องเตรียมภาพ เตรียมกิจกรรมไปให้เด็กเล่นแก้เบื่อเป็นระยะๆ เด็กเขาเก่ง กล้าแสดงออก ยกมือออกมาเล่นด้วยทุกเรื่อง

ผมให้ครูขึงจอ แล้วหาไฟฉายแรงสูง มาช่วยสอดส่อง ให้เด็กเชิดตัวหนังที่เตรียมไป 5 ตัว

สนุก และภาพออกมาสวยแฮะ ผมคิดอย่างนั้น แล้วก็เลยอยากเขียนถึงหนังตะลุงขึ้นมา

เล่นหนังตะลุงที่โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ เอนกถ่าย-พุธ 29 ส.ค. 2561

คำว่าหนังตะลุงมาจากไหน เป็นคำถามยอดฮิต

คำว่าตะลุงน่ะ มาจากไหนฮึ ???

ยุค 2510-2520 เป็นยุคอาจารย์ตามภาคต่างๆ สนใจจัดสัมมนาเรื่องพื้นบ้านพื้นเมืองกันมาก

แต่กระนั้นก็ยังหาที่มาของคำว่าตะลุงแบบดีๆ ไม่ได้

ได้แต่เดากันข้างๆ คูๆ ว่า กร่อนมาจากคำว่า พัทลุงบ้าง มาจากหลักล่ามช้างที่เรียกว่า เสาตะลุงบ้าง (เดาว่าใช้หลักล่ามช้างขึงจอหนัง)

เดาแบบนี้ ผมไม่เชื่อ

หลายปีผ่านไป ผมบังเอิญอ่านงานวิจัยของ รศ.ชวน เพชรแก้ว แห่ง ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเข้าที่ไหนก็ไม่รู้

อ.ชวนให้ข้อคิดที่น่าสนใจมากคือ ตะลุงน่าจะมาจาก….

แต่ด้วยความประมาท ทำให้ผมไม่จด และที่สุดก็ลืม….

อ.ชวน เพชรแก้ว (คนกลาง) เอนกถ่าย BW-0721-034

เสียเวลาไปอีกหลายปีจนเมื่อผมลงไปสงขลา พ.ศ. 2559 อ.ประเสริฐ รักษ์วงศ์ ซึ่งเป็นทั้งครูและนายหนังอยู่ทางหาดใหญ่ ก็ถ่ายเอกสารหนังสือที่ผมตามหามานาน มามอบให้ที่สนามบินเมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559…

หนังสือเล่มนั้นชื่อ “หนังตะลุงในประเทศไทย” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปี 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2548

อ.ชวน แห่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวในหน้า 25 ว่า ที่อินเดีย มีการเล่นหนังที่รัฐเกราลา และโออริสสา ตัวหนังที่ใช้เป็นตัวหนังขนาดเล็กอย่างทางภาคใต้ของไทย

ทางรัฐทมิฬนาดู แต่เดิมก็เคยมีการเล่นหนังแบบนี้

คนรัฐทมิฬนาดูเรียกตัวหนังดังกล่าวว่า “Tolungu”

อ.ชวนเห็นว่าออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ตะลุง” มาก จึงคิดว่า Tolungu น่าจะเกี่ยวพันกับคำว่า หนังตะลุงของไทย…..

รศ.ชวนลงรูปหนังตะลุงรัฐเกราลาท้ายเล่ม 1 หน้า ตามด้วยหนังตะลุงชวา เขมร และไทย…แต่ไม่เห็นลงตัวหนังตะลุงจากรัฐทมิฬนาดู

ผมไม่เคยไปอินเดีย ก็เลยได้แต่รอว่านักท่องโลกคนไหนจะเอารูปหนังตะลุงรัฐทมิฬนาดูมาอวดกันมั่ง

อินตรเดียไม่ได้มีแต่เรื่องศาสนากับโรตีนะแจ๊ะ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2561