“หม้อมีนม” ในอินเดีย-ไทย มีนมไปทำไม?

หม้อมีนม ประติมากรรม เทวสตรี คลอดลูก
(ซ้าย) หม้อมีนม พบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัติ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพจาก เฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร) (ขวา) Lajja Gauri แสดงท่าทางการคลอดลูก สะท้อนเทวสตรีในฐานะผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้มอบพลังแห่งชีวิต (ภาพจาก metmuseum.org (Public Domain))

“หม้อมีนม” ใน อินเดีย-ไทย มี “นม” ไปทำไม?

ในช่วงที่มีการจัดนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรื่อง ‘เทวสตรี’ มีโบราณวัตถุหลายอย่างที่ผมไปชมแล้วชอบใจ

และสิ่งที่ออกจะประทับใจมากกว่าอย่างอื่น คือ หม้อดินเผาขนาดใหญ่ใบหนึ่ง ซึ่งขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นของใช้ในพิธีกรรมความเชื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 3,800 – 4,000 ปี

ตอนที่ขุดพบ หม้อใบนี้ถูกทุบจนแหลกเพื่อปูรองใต้หลุมศพชายคนหนึ่ง และนักโบราณคดีก็อุตสาหะต่อคืนจนเป็นหม้อบริบูรณ์

หม้อมีนม ที่ขุดพบที่หนองหญ้าไซ ประเทศไทย จัดแสดงในนิทรรศการชั่วคราว “เทวสตรี : คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพถ่ายโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง)

สิ่งที่โดดเด่นกว่าความเก่าแก่คือ หม้อใบนี้เป็นหม้อที่ปั้น ‘เต้านม’ ไว้ด้านข้างถึง 4 เต้า และมีลายรูปก้นหอยอีกลายหนึ่ง นักโบราณคดีจึงตีความว่าหม้อในพิธีกรรมชนิดนี้น่าจะสื่อถึงเทวสตรี และลายก้นหอยอาจหมายถึงการหมุนเวียน หม้อใบนี้จึงถูกนำไปรองยังก้นหลุมศพ ดุจชายคนนั้นได้กลับสู่ครรภ์ของเทพมารดรอีกครั้ง หม้อมีนมใบดังกล่าวเพิ่งปรากฏในสื่อเมื่อปี 2558 นี้เอง

ผมชอบหม้อมีนมใบนี้อย่างบอกไม่ถูก แต่ก็รู้สึกตงิด ๆ เหมือนว่าเคยเห็นหม้อที่มีเต้านมคล้าย ๆ แบบนี้ที่ไหน ค้นไปค้นมาก็เจอ

ที่อินเดียเองก็มีหม้อเต้านมคล้ายกับที่มีในบ้านเรานี้เลย ที่สำคัญในปัจจุบันยังมีคนใช้อยู่

หม้อมีเต้านมของอินเดียชนิดนี้เรียกว่าหม้ออุขา (Ukha) เป็นหม้อดินเผาที่มีเต้านมปั้นติดไว้ด้านข้าง อุขานั้นมีหลากรูปแบบแต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่คล้ายคลึงกับที่พบในบ้านเรา ต่างกันที่ของเขามีเต้าแปดเต้า ส่วนของเราสี่

คำว่า อุขา ในสมัยโบราณ หมายถึง หม้อที่ใช้เตรียมอาหาร ปัจจุบันเป็นหม้อที่ใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ” (Agnicayana) หมายถึงการตั้งแท่นบูชาไฟ หรือเรียกอีกอย่างว่าพิธี “อติตราตรัม” นักภารตวิทยาเชื่อว่าเป็นพิธีในพระเวทที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันยังมีการปฏิบัติกันอยู่ บางท่านเชื่อว่าพิธีนี้น่าจะมีอายุถึงราว 3,000 ปีขึ้นไป

รายละเอียดของพิธีอยู่ในคัมภีร์ กฤษณยชุรเวท (ยชุรเวทดำ) ซึ่งแพร่หลายในอินเดียใต้ และมีพราหมณ์เพียงพวกเดียวที่ยังทำได้คือ พราหมณ์นัมพุทิริ (Nambudiri) ซึ่งมีถิ่นพำนักในรัฐเกรละ

อัคนิจยนะกินเวลาสิบกว่าวัน โดยก่อนถึงพิธีพวกพราหมณ์จะต้องสร้างข้าวของเครื่องใช้ในพิธีหลายสิบอย่าง นอกจากหม้ออุขาแล้วยังมีของพิเศษที่สื่อถึง ‘การบูชายัญ’ เช่น เครื่องปั้นดินเผา รูปศีรษะแพะ ม้า และ ‘มนุษย์ผู้หญิง’ แสดงว่าในอดีตพิธีนี้มีการบูชายัญกันจริง ๆ กระทั่งในปัจจุบันยังต้องนำแพะ ม้า และผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปในพิธีแบบพอเป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่มีการบูชายัญอีกแล้ว เพราะพราหมณ์นัมพุทิริกลายเป็นนักมังสวิรัติและละเลิกการฆ่า

หม้อมีนม หรือหม้ออุขา (Ukha) และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ดินปั้นรูปหัวสัตว์ซึ่งใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ” หรืออติราตรัมของอินเดีย (ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์)

บทบาทของหม้ออุขาชนิดแปดเต้าคือ ทำหน้าที่บรรจุกองไฟซึ่งจุดในสถานที่ก่อไฟไปยังแท่นบูชา ท่านอธิบายว่าอาจเพราะสตรีคือ ‘พลัง’ หรือ ‘ศักติ’ อันมี ‘ความร้อน’ หรือเดชอยู่ภายใน จึงใช้หม้ออุขาบรรจุไฟ ส่วนอุขาชนิดอื่น ๆ ก็ใช้บรรจุของต่าง ๆ ในพิธี

นอกจากหม้ออุขาแล้ว ในสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู ‘เต้านม’ ยังแฝงอยู่ในรูป ‘หม้อน้ำ’ ชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น ‘หม้อกลัศ’ หรือ ‘พระเต้า’ สังเกตุพิธีกรรมในบ้านเราก็ได้ครับ ถ้าเป็นพิธีพราหมณ์นอกจากจะใช้สังข์แล้วจะใช้หม้อปากแคบหรือก้นแคบบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ใช้ภาชนะทรงขันหรือครอบน้ำมนตร์เช่นในพิธีของพุทธ

เหตุที่ต้องใช้อย่างนี้ลึก ๆ ก็น่าจะเพราะเป็นทรงภาชนะที่สะท้อน ‘เต้านม’ ของสตรีนั้นแล อะไรจะศักดิ์สิทธิ์ไปว่า ‘เต้านมของแม่’ ละครับ เพราะในนั้นบรรจุ ‘น้ำอัมฤต’ เอาไว้ พอเราดื่มกินก็เติบโตมีชีวิตรอดมาได้

ดังนั้นในเทวลักษณะของพระเทวีทั้งหลายถึงปั้นให้มีพระถันเต่งตึงใหญ่โต และมักเปลือยถันเสียด้วย เพราะเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเทพมารดาผู้หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งหลาย และเป็นความงามอันพึงปรารถนาที่ชักนำให้เกิด ‘กามะ’ ที่เป็นแรงขับแรกของสกลจักรวาลซึ่งก่อให้เกิดชีวิต

……..

นอกจากเรื่องหม้อมีนมแล้ว ผมยังมีเรื่องสนุก ๆ ที่พอจะเชื่อมโยงกับบ้านเราได้อีกเรื่องคือ ในรัฐเกรละมีขนมที่เรียกว่า อุนนิอัปปัม (Unni Appam) หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า ปัฑฑุ (Paddu)

อัปปัม หมายถึงขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวซึ่งมีหลายรูปแบบ คำอินเดียใต้คำนี้คนปักษ์ใต้บ้านผมรู้จักกันดี เพราะเรามีขนมที่รับมาจากคนอินเดียที่มาทำเหมืองแร่ในสมัยก่อน แต่เราเรียกเพี้ยนเป็นอัปโป๊ง-อาโป้ง หน้าตาหรือส่วนผสมก็คล้ายกัน ส่วนอุนนิ แปลว่า ‘เล็ก’ ครับ

เจ้าอุนนิอัปปัมนี่คือ ‘ขนมครกแขก’ ที่ใช้แป้งข้าวเจ้า กล้วย น้ำตาลอ้อย และมะพร้าวขูดบดรวมกันแล้วหยอดลงไปในพิมพ์โลหะขนาดเล็กเป็นหลุม ๆ ทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือเนย พอสุกก็เอาสองฝามาประกบกัน

ผมเชื่อว่านี่คือพ่อแม่ของขนมครกของเราครับ เพราะของเขามีมานานมากแล้ว แต่จะเข้ามาตอนไหนไม่ทราบได้ ทราบแต่ขนมครกเราน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่สำคัญคือ บางครั้งเจ้าถาดทอดขนมอุนนิอัปปัมนี้จะทำเป็นรูปเต้านม คือด้านนูนของหลุมแต่งให้เป็นรูปเต้านมเสีย ถาดหนึ่งมีห้าหลุม มีเต้านมสี่เต้า ตรงกลางไม่ใช้ เห็นแล้วก็ชวนคิดไปถึงหม้ออุขาในความหมายเดิม หรืออาจตกทอดเล็ดลอดมาในครัวเรือนบ้างกระมัง

เขียนเรื่องหม้อมีนมอีท่าไหน มาออกเรื่องขนมครกได้ก็ไม่รู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2561