เปิดเอกสาร พระราชหัตถเลขา ร.4 ทรงเขียนที่หว้ากอ ในวาระ 150 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ

เอกสารค้นพบใหม่ “พระราชหัตถเลขา ร.๔ ทรงเขียนที่หว้ากอ" (ภาพโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

หมายเหตุ : บทความนี้ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช เขียนขึ้นในวาระ “150 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ” (18 สิงหาคม 2411 – 18 สิงหาคม 2561) ทางกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ ขอนำมาเผยแพร่อีกครั้งกับการเปิดเผยเอกสารค้นพบใหม่ พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องทรงคำนวณพยากรณ์สุริยุปราคา

วันนี้ … 150 ปีที่แล้ว สุริยุปราคาจับสิ้นดวงที่หว้ากอ
วันนี้ … ผมมีเอกสารสำคัญ อยากนำมาอวด
คือ … พระราชหัตถเลขา ทรงเขียนที่หว้ากอ
คือ … เอกสารชิ้นสำคัญ ที่นำกลับประเทศไทย

ถ้าเอ่ยถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสุริยุปราคาครั้งนั้น เรามักนึกถึงภาพถ่ายโบราณจากฟิล์มกระจก หรือจดหมายเหตุที่บันทึกในภายหลัง เช่น จดหมายเหตุของเซอร์แฮร์รี ออร์ด (Sir Harry St. George Ord) และจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่บันทึกไว้ก่อนหน้าเห็นจะมีเพียงประกาศแจ้งสุริยุปราคาเต็มดวง ประกาศครั้งแรกเมื่อราวต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2411 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปีเดียวกัน

ในวาระครบรอบ 150 ปี (18 สิงหาคม 2411-18 สิงหาคม 2561) การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ ผมขอนำเสนอเอกสารค้นพบใหม่ เป็นเอกสารต้นฉบับเขียนที่หว้ากอก่อนเกิดเหตุการณ์จริงเพียงสามวัน ที่สำคัญ เป็นพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องทรงคำนวณพยากรณ์สุริยุปราคา ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

การอัญเชิญพระราชหัตถเลขามาเผยแพร่ มีงานต้องทำ 4 อย่าง คือ (1) ชี้แจงความเป็นมา (2) คัดลอกลายพระหัตถ์ให้เป็นอักษรที่อ่านง่าย (3) แปลโดยรักษาสำนวนให้ใกล้เคียงกับพระราชหัตถเลขาภาษาไทย และ (4) อธิบายความสำคัญและแม่นยำของพระราชหัตถเลขา

(1)

พระราชหัตถเลขาทรงคำนวณพยากรณ์ฯ ต้นฉบับภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า Copy. His Majesty’s Predictional Calculations. เขียนบนกระดาษสมุดฝรั่งสีครีมพับครึ่ง เมื่อคลี่ออกจะมีขนาดความกว้าง 21.4 ซ.ม. ยาว 26.7 ซ.ม. ความยาว 3 หน้า แทรกอยู่ในซองเอกสารของกัปตันบุช (Captain John Bush) หรือหลวงวิสูตรสาครดิฐ เจ้าท่ากรุงเทพฯ ในขณะนั้น

ผมค้นพบเอกสารของท่านในร้าน Maggs Bros ร้านหนังสือเก่าแก่ย่านเมย์แฟร์ กรุงลอนดอน ผมตัดสินใจซื้อและนำกลับทันที นอกจากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ในซองยังมีเอกสารสำคัญหลายฉบับ อาทิ พระราชสาส์นอวยพรปีใหม่ ค.ศ. 1866 พระราชสาส์นอวยพรปีใหม่ ค.ศ. 1867 และประกาศข่าวพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรสิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1862 เป็นต้น

พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ แม้ทรงเขียนกำกับด้านบนว่า “สำเนา” (Copy) แต่แท้จริงทั้งฉบับเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์ อนุมานว่าท่านทรงร่างต้นฉบับไว้ชุดหนึ่ง ก่อนจะคัดลอกด้วยพระองค์เองเพื่อทรงแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารและพระสหายต่างชาติที่ตามเสด็จ กัปตันบุชเป็นผู้หนึ่งที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่หว้ากอ

สังเกตว่าพระราชหัตถเลขาเขียนบนกระดาษเนื้อบางคุณภาพต่ำ ไม่ระบุชื่อผู้รับ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร คงเพราะเป็นพระราชหัตถเลขาอย่างไม่เป็นทางการ พระราชทานแก่พระสหายและข้าราชบริพารชาวต่างชาติที่ถวายงานหรือมีความสนิทสนมเป็นพิเศษ เพื่อพวกเขาจะได้รับทราบว่าได้ทรงคำนวณสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้า

ผมคิดว่าพระองค์ทรงคัดลอกได้เพียงไม่กี่ฉบับ เพราะทรงต้องประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ เช่น ต้อนรับคณะนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส คณะกงสุลและทูตานุทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซอร์แฮร์รี ออร์ด ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำสิงคโปร์ ที่เป็นพระราชอาคันตุกะของพระองค์

จากการสำรวจเอกสารอ้างอิงชิ้นสำคัญ อาทิ (1) ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4 (2) รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3) พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (4) เฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (5) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: จากความสนพระทัยในวิทยาศาสตร์ สู่ความเป็นพระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ และ (6) King Rama IV and French Observations of the 18 August 1868 Total Solar Eclipse from Wah-koa, Siam ไม่พบเอกสารแม้แต่ชิ้นเดียวที่กล่าวถึงพระราชหัตถเลขาฉบับนี้

จึงเป็นไปได้ว่า พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ไม่เคยมีผู้ใดพบมาก่อน และอาจเป็นหลักฐานเดียวที่ปรากฏ

ส.ธรรมยศ และหมอสมิท (Malcolm Smith) อ้างว่าพระราชหัตถเลขาที่พระองค์ทรงมีถึงนายเฮนรี อลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ลงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) เป็นพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย แต่ผมได้พบพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงเมอสิเออร์ เดอ เกรฮาง (M. A. Grehan) ลงวันที่ 10 สิงหาคม ตีพิมพ์ในหนังสือ Le Royaume de Siam (Paris, 1869) และพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ลงวันที่ 15 สิงหาคม สามวันก่อนเกิดสุริยุปราคา สิบเอ็ดวันก่อนที่พระองค์ทรงพระประชวร

เป็นไปได้ไหมว่า พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ เป็นพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษฉบับสุดท้าย

กล่าวโดยสรุป พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ค้นพบที่ประเทศอังกฤษ เป็นฉบับที่พระองค์ทรงคัดลอกเพื่อพระราชทานแก่กัปตันบุช อาจเป็นฉบับสุดท้ายในรัชสมัย และฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่ ความในพระราชหัตถเลขามีว่า

(2)

Copy
His Majesty’s Predictional Calculations

The undersigned having calculated the occurrence of the solar total eclipse which is expected to be witnessed at the establishment at Hwa Ko below the Whae Wan on 18th August morning of civil day, according to his abilities in using of logarithms of secant, cosecant, sines, cosines, tangents, cotangent, and some arithmetic calculations, also by mathematical & geometrical projection and observed only by calculation that the eclipse will begin at northwest point of the sun about 32 degrees from northmost point at 10 o’clock 15 min A.M. in apparent time of the place forenamed.

The total darkness will begin at 11 o’clock 36 minutes & 22 seconds. The darkness will be continued 6 minutes and 45 seconds and will be reappear partly at about 53 degrees from its northmost point at 11 o’clock 43 minutes 7 seconds and the eclipse will end at southeast ward of the sun’s disc at about 122 degrees from northmost point of the sun’s disk at 1 o’clock 6 minutes afternoon of day.

This was only observed by doing and great work of calculation which the undersigned fear that may he have mistaken on certain place, he could have no time to reexamine his calculation & fulfill his present prediction & be very correct, but on the mathematical or geometrical projection he found that the time of the eclipse at the place forenamed was greater than by calculation a few minutes namely that the eclipse will begin at 10 o’clock 6 minutes A.M. and the end at 1 o’clock and 8 minutes P.M. the causes or argument for mistake and difference are many his accurate attention has no time to do more.

Signed S. P. P. M. Mongkut R. S.
on 6303rd day of Reign

Hwa Ko Place
15th August 1868

พระราชหัตถเลขาทรงคำนวณพยากรณ์ฯ ต้นฉบับภาษาอังกฤษให้ชื่อว่า Copy. His Majesty’s Predictional Calculations. (ภาพโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

(3)

สำเนา
พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องทรงคำนวณพยากรณ์(สุริยุปราคา)

พระองค์ผู้ทรงลงนามข้างท้ายได้คำนวณการเกิดสุริยุปราคาหมดดวง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสังเกตเห็นได้ที่บ้านหว้ากอ ทางทิศใต้ของตำบลหัววาน ในช่วงเช้าของวันที่ 18 สิงหาคม เท่าที่ความสามารถของพระองค์ในการใช้ลอการิทึม ซีแคนต์ โคซีแคนต์ ไซน์ส โคไซน์ส แทนเจนต์ส โคแทนเจนต์ส การคำนวณทางคณิตศาสตร์ และการฉายภาพทางเลขคณิตและเรขาคณิต ได้สอบสวนต้องกันว่า สุริยุปราคาเมื่อแรกจับจะจับข้างทิศพายัพ ที่ตำแหน่งราว ๓๒ องศาจากจุดเหนือสุดของดวงอาทิตย์ เวลา 10 นาฬิกา 15 นาที ณ ตำแหน่งที่ระบุข้างต้น

สุริยุปราคาจับหมดดวงเริ่มที่เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 22 วินาที กินเวลาติดต่อกันนาน 6 นาที กับ 45 วินาที จะเริ่มคายบางส่วนที่ราว 53 องศาจากจุดที่อยู่เหนือสุด เวลา 11 นาฬิกา 43 นาที 7 วินาที และคายออกหมดดวงข้างทิศอาคเนย์ที่ราว 122 องศาจากจุดเหนือสุดของดวงอาทิตย์ เวลาบ่าย 1 โมง 6 นาที

ที่ว่าจะเป็นเช่นนี้ เพราะพระองค์ผู้ทรงลงนามข้างท้ายได้ทรงคำนวณอย่างละเอียดถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม พระองค์เกรงว่าหากพลั้งพลาดในบางกรณี จะไม่สามารถหาเวลามาตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อให้การพยากรณ์ลุล่วงและแม่นยำที่สุด แต่ทว่าจากการฉายภาพทางคณิตศาสตร์หรือเรขาคณิต พบว่าระยะเวลาสุริยุปราคา ณ ตำแหน่งที่ได้ระบุ ยาวนานกว่าที่คำนวณไว้หลายนาที กล่าวคือ สุริยุปราคาเริ่มเวลา 10 นาฬิกา 6 นาที และสิ้นสุดเวลาบ่าย 1 โมง 8 นาที สาเหตุหรือเหตุผลในความแตกต่างคลาดเคลื่อนมีหลายประการ แต่ด้วยเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่งยวด จึงไม่สามารถหาเวลามาทบทวน

พระปรมาภิไธย ส. พ. ป. ม. มงกุฎ ร. ส.
ณ วันที่ 6303 ในรัชกาล

ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1868

(4)

ผมได้ตรวจสอบผลการคำนวณที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงคำนวณพยากรณ์ (พรห.) กับจดหมายเหตุชั้นต้นบางฉบับ ได้แก่ กระแสรับสั่งรัชกาลที่ 4 เรื่องสุริยุปราคา (กรส.) จดหมายเหตุเซอร์แฮร์รี ออร์ด (ซฮอ.) และจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ (มบล.) ผลการตรวจสอบมีดังนี้

เวลาคราสเริ่มจับ
10 นาฬิกา 6 นาที (พรห.)
ไม่ระบุ (กรส.)
คาดว่าเริ่ม 10 นาฬิกา 4 นาที (ซฮอ.)
10 นาฬิกา 7 นาที (มบล.)

เวลาคราสจับหมด “สุริยุปราคาเต็มดวง”
11 นาฬิกา 36 นาที 22 วินาที (พรห.)
11 นาฬิกา 36 นาที 22 วินาที (กรส.)
ไม่ระบุ แต่ราว 11 นาฬิกา 35 นาที (ซฮอ.)
11 นาฬิกา 36 นาที 22 วินาที (มบล.)

ระยะเวลาที่สุริยุปราคาเต็มดวง
6 นาที 45 วินาที (พรห.)
6 นาที 45 วินาที (กรส.)
6 นาที 45 วินาที (ซฮอ.)
6 นาที 45 วินาที (มบล.)

เวลาคราสหลุด
บ่าย 1 โมง 8 นาที (พรห.)
บ่าย 1 โมง 9 นาที (กรส.)
บ่าย 1 โมง 37 นาที 45 วินาที (ซฮอ.)
ไม่ระบุ (มบล.)

พิมพ์มาเหนื่อยแล้ว ผมขอจบห้วนๆ แค่อยากออกความเห็นสั้นๆ ว่าท่านทรงคำนวณเวลาและระยะเวลาที่สุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ น่าเสียดายเวลาเริ่มจับคราสไม่มีผู้ใดเห็นได้ชัด (ยกเว้นหมอบรัดเลย์) เพราะดวงอาทิตย์ถูกเมฆบัง

ที่สงสัยคือ เวลาที่คราสหลุด ทำไมข้อมูล ร. 4 และข้อมูลเซอร์แฮร์รี ออร์ด ถึงแตกต่างกันร่วม 30 นาที ผมอ่านตัวเลขในพระราชหัตถเลขาไม่ผิดแน่ (บ่าย 1 โมง 8 นาที) ทั้งในกระแสรับสั่ง ร. 4 (ต้นฉบับของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ เป็นข้อมูลโดย ร. 4 ที่บันทึกทันทีหลังเกิดสุริยุปราคา) ระบุเวลาที่ใกล้เคียงคือ บ่าย 1 โมง 9 นาที ซึ่งพระองค์ทรงยอมรับว่า “เกินที่ทรงพยากรณ์ไป 1 นาที” ส่วนข้อมูลของเซอร์แฮร์รี ออร์ด ผมได้ตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ (Account of a Visit …) พิมพ์ครั้งแรกที่สิงคโปร์ ค.ศ. 1868 (น. 12) และฉบับที่คัดลอกลงในหนังสือพิมพ์บางกอกคาลันเดอร์ (Bangkok Calendar) เล่มปี ค.ศ. 1870 (น. 126) ข้อมูลตรงกันคือ … 37 นาที ช้ากว่าที่พระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ 30 นาที

เป็นไปได้ไหมว่าข้อมูลในจดหมายเหตุเซอร์แฮร์รี ออร์ดนั้นพิมพ์ผิดพลาด (พิมพ์ว่า 37 นาที แทนที่จะเป็น 7 นาที) ทั้งในฉบับพิมพ์ที่สิงคโปร์และฉบับคัดลอกลงในบางกอกคาลันเดอร์ แล้วรายงานการสำรวจของนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสที่นำโดยเมอสิเออร์สเตอฟอง (M. Stephan) เล่า พวกเขาว่าอย่างไร

ผมขอจบเท่านี้ก่อน ไว้พรุ่งนี้อาจมาเขียนต่อ อยากรีบโพสต์ให้ทัน 18 สิงหา วันหว้ากอ วันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

เอกสารอ้างอิง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ) (2547). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4 (2542). กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายโกวิท บุณยัษฐิติ ต.ม. (2550). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ภูธร ภูมะธน (2555). พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: จากความสนใจในวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นพระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

มูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร. ปรีชา – ประไพ อมาตยกุล (2541). เฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิวิทยาศาสตร์ฯ

รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2548). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา

วุฒิชัย มูลศิลป์ (2548). “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับดาราศาสตร์.” วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ 27: พุทธศักราช 2548. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์

ส.ธรรมยศ (2547). Rex Siamen Sium หรือพระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน

Bradley, Dan Beach (1870). Bangkok Calendar for the Year of Our Lord 1870. Bangkok: American Missionary Association.

Grehan, M. A. (1869). Le Royaume de Siam. Paris: Challamel Aine, Libraire-Editeur.

Orchiston, Wayne & Orchiston, Darunee L. (2017). King Rama IV and French Observations of the 18 August 1868 Total Solar Eclipse from Wah-koa, Siam. In T. Nakamura, & W. Orchiston (eds.), The Emergence of Astrophysics in Asia, Historical and Cultural Astronomy. Springer International Publishing.

Ord, Sir Harry St. George (1868). Account of a Visit to the King of Siam at Whae-Whan on the East Coast of the Malayan Peninsula in August 1868. Singapore: The Government Press.

Smith, Malcolm (1947). A Physician at the Court of Siam. London: Country Life.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2561