พระราชวินิจฉัยรัชกาลที่ 5 ว่าด้วยเรื่องความคิดแบ่งแยกของสงฆ์ 2 นิกาย

พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ทรงฉายที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2

“เรื่องสร้างวัดนี้ ฉันไปเกิดมีทิฐิขึ้นมาเสียแล้ว แรกที่คิดจะสร้างได้เล่าให้กรมหมื่นวชิรญาณฟัง ดูท่านพลอยเข้ามากุลีกุจอด้วย แต่ไปภายหลังจะไปคิดเหนอย่างไร เมื่อหารือเรื่องจะจัดการเล่าเรียน ท่านออกสบัดๆไป เหมือนกับจะรแวงว่าเปนพลอยช่วยเกื้อกูลความรุ่งเรืองของมหานิกาย จึงเปนอันว่าได้ตั้งใจเสียแล้วว่าจะไม่ให้มหานิกายขึ้นหน้าธรรมยุติ ที่จะช่วยจัดการอย่างไรไม่ได้ เว้นไว้แต่อยากเรียนก็ให้มาอยู่วัดรังษี วัดพลับพลาไชย ฤาวัดอนงค์ เมื่อเปนเช่นนั้นจะสร้างวัดนี้ขึ้นทำไม ถ้าจะเดินทางนั้นก็ต้องไปรับเปนกระโถนวัดมงกุฎกระษัตริย ฉันทนไม่ไหว ที่ว่าทั่งนี้ก็เหนด้วยว่ามหานิกายคงจะจัดการเล่าเรียนไม่ได้ ฉันก็เกิดทิฐิขึ้นมาบ้าง จะจัดการมหานิกายล้วน ไม่ให้เกี่ยวกับธรรมยุติเลย ถ้าจะรอช้าไป จะเหนผลช้า…”

เนื้อหาดังกล่าวเป็นบางส่วนของพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีไปถึงเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ถึงเรื่องการสร้างและตกแต่งวัดเบญจมบพิตรฯ มีขึ้นหลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรสที่ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาในขณะนั้น ซึ่งต้องการให้ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเป็นศูนย์กลางในภารกิจนี้ แต่ไม่เป็นไปตามพระประสงค์ ลายพระหัตถ์ดังกล่าว [ของสมเด็จพระสมณเจ้าฯ] มีความสำคัญว่า

“เพราะตนเองเป็นธรรมยุติกา ไม่สามารถจะตั้งเปนสูญกลาง ธรรมการที่เปนหน้าที่หรือเกี่ยวกับมหานิกาย อาตมาภาพจะรับฉลองตามพระเดชพระคุณได้แต่เพียงให้อยู่ใต้เปรเสเดนซี (presidency) ของธรรมยุติกา ถ้าการนั้นจะเปนไปเพื่อตัดเปรวิเลช (privilege) ของธรรมยุติกาแล้ว ได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำเลย…เมื่อว่าทั่วไปแล้ว อาตมาภาพย่อมเหนชอบตามคดีโลก คือ Patriotism แลตามคดีธรรมคือความปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งฝ่ายตนฝ่ายท่านเปนดี แต่การนี้เปนพอเหมาะแก่กำลัง ในสมัยนี้อาตมาภาพมีความชอกช้ำ เกือบเรียกว่าสิ้นกำลังที่จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยประการทั้งปวง…ตั้งแต่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เปนเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกายมาจนบัดนี้ได้ 18 ปีแล้ว ไม่มีเวลาผ่อนอารมณ์เลยตั้งแต่ศก 101…อาตมาภาพอาพาธที่น่ากลัวอายุจะไม่ยืนไปได้ถึงสามปีแล้ว ในปีนี้เปนมาก…”

ท้ายที่สุดปัญหาเรื่องวัดเบญจมบพิตรฯ ก็ยุติลงด้วยการเป็นวัดในสังกัดมหานิกาย หากทว่ากรณีดังกล่าวต้องการอธิบายให้เห็นว่าแม้จะมีความคับข้องใจในการทำงานร่วมกัน แต่ถึงที่สุดแล้วความร่วมมือก็สามารถทำให้ปัญหาผ่านไปได้ อาจพิจาณาได้จากพระประสงค์ที่ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน ในการกระทำเพื่อ “กลุ่มตน” อันมีที่มาจากสปิริตความเป็นอุดมการณ์ ดังลายพระหัตถ์ของพระสมเด็จพระสมณเจ้าฯ ที่ทรงมีไปถึงพระยาวุฒิการบดีความว่า

“เมื่อได้รับจดหมายหารือมาด้วยเรื่องกำหนดวันแปลพระปริยัติธรรมในศกนี้ ขอแจ้งให้ทราบว่า ในการทั้งปวงที่จะต้องเกี่ยวข้องกับฉันขอให้เฉภาะตัวหรือเปนการที่จะทำได้ด้วยความเปนราชตระกูล ไม่อยากทำการอันเปนน่าที่เฉภาะเจ้าคณะ เพราะฉะนั้นในการแปลพระปริยัติธรรมถ้าจะนั่งได้เฉภาะตัวหรือตามฐานที่เปนราชตระกูล ก็พอจะเข้าใจไม่ แลขอเจ้าคุณให้เจ้าพนักงานประพฤติในฉันอย่างราชตระกูล แลชื่อที่จะใช้ไม่พอใจให้ใช้คำว่า สมเด็จพระราชาคณะข้างท้ายในประกาศนียบัตร์ที่จะออกไป ถ้าจะพลอยออกชื่อฉันเหมือนที่เคยเปนมาแล้ว ขอให้ยกคำว่าที่สมเด็จพระราชาขณะออกเสีย”


ที่มา: “คณะสงฆ์สร้างชาติสมัยรัชกาลที่ 5” โดย ปฐม ตาคะนานันท์