ค้นร่องรอยภูสามเส้าหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่เจ้าลาวจก

ดอยนางนอน ภูสามเส้า
ภาพถ่ายเก่าภูสามเส้าหรือดอยนางนอน (ภาพจาก http://www.เที่ยวเชียงใหม่.com)

ค้นร่องรอย “ภูสามเส้า” หรือ “ดอยนางนอน” กับตำนาน “ปู่เจ้าลาวจก”

เทือกเขาดอยตุงนั้นมีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ เห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่า โดยมีผู้นำทางวัฒนธรรมคือ “พระยาลวจักราช” ในกลุ่มของ “ปู่เจ้าลาวจก” ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่น ที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน

เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือเวียงจัน เป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพางคำ ที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันอยู่ในตัวอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง

ดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งใน ภูสามเส้า ที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยย่าเฒ่า และดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะเป็นเทือกเขาคล้ายรูปผู้หญิงนอน ซึ่งในตำนานปู่เจ้าลาวจก ดอยส่วนศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดงหรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักในนามดอยตุง

สำหรับภาพถ่ายข้างต้นนั้น อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระเคยโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ดอยนางนอน อธิบายว่า

“…ภาพนี้ถ่ายจากบ้านแม่คำ บ้านเกิดของผม อาคารที่เห็นในภาพ (ที่เห็นหลังคาตรงกลางภาพ) คือโรงเรียนแม่คำประชานุเคราะห์ ที่ที่ผมได้เล่าเรียนจนจบ ป.๗ ทุกวันเดินตามริมถนนนี้ไป-กลับจากโรงเรียน เห็นดอยนางนอนทุกวัน

และดอยนี่แหละที่เป็นที่อยู่ของปู่เจ้าลวจก (ลวจักราช) ต้นตระกูลของราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา และเป็นที่ตั้งของ “พระธาตุดอยตุง” พระธาตุสำคัญของล้านนา ประจำคนเกิดปีกุน

ที่เชิงเขาดอนนางนอนมีถ้ำหินปูนอยู่หลายที่ ที่บ้านถ้ำ เชิงดอนนางนอน (ใกล้ถึงแม่สาย) มีศาสนสถานสำคัญคือ ‘ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา’ ถ้ำแรกมีหินงอกหินย้อย อีกแห่งเป็นถ้ำที่มีสายน้ำและปลา ที่นี่มีงานบุญประจำปี ตอนเด็กๆ ไปกับคุณตาคุณยายหลายครั้ง

ส่วนถ้ำขุนน้ำนางนอนที่เป็นข่าวนี้ สมัยผมเด็กๆ ยังไม่เป็นที่รู้จัก เพิ่งมามีชื่อเสียงตอนหลัง และผมยังไม่เคยเข้าไป…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

บทความของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง จากดอยตุงถึงดอยด้วน : ภูมิวัฒนธรรมยุคหินตั้งในล้านนา ในหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง (จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2560)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2561