Ars longa, Vita brevis : ศิลปะยาว ชีวิตสั้น ?!?

สุภาษิต ละติน "Ars longa, Vita brevis" บนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลากลางหลังเก่าเมือง Göttinger ประเทศเยอรมนี (ภาพจากวิกีพีเดีย)

“Ars longa, Vita brevis” สุภาษิตละตินประโยคที่มักแปลกันว่า “ศิลปะยาว ชีวิตสั้น” นั้น ไมเคิล ไรท์ (พ.ศ.2483-2552) อดีตที่ปรึกษาทางวิชาการของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อว่า ART คือวิชา Ars longa, Vita brevis ‘วิชา (แพทย์) ยาว ชีวิต(คน)สั้น’ ”  (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2546) ไว้ดังนี้

“เฮ้ย! ไอ้คำว่า Art ที่แปลว่า ‘ศิลปะ’ มีความเป็นมาอย่างไร? รากศัพท์เดิมคืออะไร? หมายถึงอะไร?” สามสี่วันที่แล้วคุณสุจิตต์ วงเทศ โทรศัพท์มาถาม

ผมได้แต่ทำเสียง “อัม” ยาวๆ เพราะตอบไม่ได้

ภาษาศาสตร์มีหลักการอย่างหนึ่งว่า “เจ้าของภาษารู้ภาษาของตนเองอย่างถูกต้อง (คนภาษาอื่นอย่าเถียง) แต่เจ้าของภาษาไม่ รู้เรื่องภาษาของตนเพราะไม่เคยนึกสงสัย” หลักการนี้เป็นความจริง, คือภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ของผม และผมพูดมาตั้งแค่ยังนุ่งผ้าอ้อม, แต่ถึงอายุ 60 เข้าแล้วไม่เคยคิดสงสัยคำว่า Art มีความเป็นมาอย่างไร ผมจึงได้แต่รับปากกับคุณสุจิตต์ว่าจะ ค้นพจนานุกรมนิรุกติศาสตร์ฉบับล่าสุด

ผมค้นคำว่า Art ใน American Heritage Dictionary of the English Language ฉบับ 1996 แล้วพบว่า แต่เดิมคำนี้ไม่เกี่ยวกับ “ศิลปะ” หรือ “สุนทรียภาพ” เลย

คำว่า Art (รวมทั้งคำ Arm1 แขน, Arm2 อาวุธ) มาจากรากศัพท์เดิมในภาษาอินโ-ยุโรปเปียนว่า /ar-/ที่มีความหมายว่า to fit together, คือ ต่อ, ติด, ติดต่อ, ต่อตั้ง, แต่ง, จัด, เรียงให้เข้ากัน ว่าง่ายๆ หมายถึงงานช่างพื้นฐาน:- ต่อบ้าน, ต่อเกวียน, แต่ง  อาวุธ

ที่หมายถึง Arm (อาวุธ) เพราะอาวุธเป็นเครื่องมือที่ต้องแต่งและจัดให้พล แม้กระทั่ง Army (กองทัพ) ก็มาจากรากศัพท์   เดียวกัน เพราะทัพมีขึ้นมาต้องแต่งและจัดหรือเรียงรายเป็นขบวนรบ

ที่หมายถึง Arm (แขน) เพราะแขนเป็นอวัยวะที่ต้องติดอาวุธ

Hippocrates ผู้คิดภาษิต Ars longa, Vita brevis (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ต่อมาในสมัยกรีก-โรมัน คำว่า Art จะเริ่มขยายความหมายจาก “การช่างปะติดปะต่อ” มาเป็น “วิชา” สุภาษิตละติน “Ars longa, Vita brevis” ที่มักแปลว่า “ศิลปะยาว, ชีวิตสั้น” นั้นที่จริงเป็นคำสอนของแพทย์กรีกชื่อ Hippocrates (ก่อน  คริสต์ศตวรรษ 460-357) หมายความว่า “วิชา (แพทย์) ยาวเทียบกับชีวิตสั้นของคน”

ในสมัย Renaissance ตอนต้น, จิตรกร, ประติมากร และสถาปนิกต่างถือว่า “ช่าง” (Craftsmen) อยู่ ส่วนนักภาษาโบราณ, นัก วรรณคดี, นักเทวศาสตร์และนักศึกษาธรรมชาติต่างเหมาเอาว่าเป็น “นักปราชญ์” (Philosophers)

ต่อมามีการชิงดีชิงเด่นกันจนบรรดา “ช่าง” (Craftsmen) ที่ใช้ฝีมือผลิตของมีประโยชน์ (เช่น ช่างเรียงอิญ, ช่งปูน, ช่างไม้)  ยังคงฐานะ “กรรมกร” (Workmen) แต่ช่างที่ใช้จิตนาการ (เช่น ช่างวาดเขียน, ช่างปั้นสลัก, ช่างขับช่างร้อง) เขยิบฐานะมาเป็น “ศิลปิน” (Artists) สูงเท่าฟ้า

ส่วน “นักศึกษาธรรมชาติ” เขยิบฐานะมาเป็น “นักวิทยาศาสตร์” (Scientists) และนักศึกษา พฤติกรรมศาสตร์มนุษย์ (เช่น  นักประวัติศาสตร์, ภาษาศษสตร์, มานุษยวิทยา, สังคมศาสตร์, โบราณคดี) ตกอยู่ในแดนสนธยา (ศิลป์หรือศาสตร์), จึงยกให้เป็นหมวดต่างหากคือ “พฤติกรรมมนุษย์” (Humanities) แต่หลายคยมายอม เช่น  นักภาษาศาสตร์จะเป็น Scientists ให้ได้

เรื่องนี้วุ่นวายมาก ถามฝรั่งว่าควรเป็น Artists เขาตอบได้ทันทีว่า Van Gogh; ถามว่าใครเป็น Scientists ตอบได้ทันทีว่า Einstein แต่ถ้าถามว่า Art คืออะไร? Science คืออะไร? ต่างกันอย่างไร ฝรั่งต้อง “อัม”ยาวๆ เหมือนผม เพราะตอบไม่ได้

คนไทยช่วยกันคิดจัดหมวดหมู่ให้ชัดกว่านี้, ง่ายกว่านี้ได้ไหม? ฝรั่งจนมุม


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ : 19 มิถุนายน 2561