เปิดตัวพระยาตาก แบบไม่สวย

ภาพประกอบจากละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ส่วนคำบรรยายในภาพนั้นเป็น คำบรรยายที่ทางช่อง 3 ทำ

พระเจ้าตากปรากฏตัวครั้งแรกในเอกสารต่างๆ ในฐานะ “พระยาตาก” ต่างเวลากันบ้างเล็กน้อย จากเอกสาร คำให้การชาวกรุงเก่า เปิดตัวพระเจ้าตาก ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2307 โดยเป็นแม่กองในกองทัพของพระยาพิพัฒโกษา ไปตั้งรับกองทัพพม่าที่เมืองมะริด ตะนาวศรี ตั้งแต่ต้นศึกเสียกรุงครั้งที่ 2

ลำดับต่อมาปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ และ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา คราวนี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2308 โดยไปเป็นกองหนุนออกไปรบกับพม่าที่ปากน้ำประสบ ทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา

และการปรากฏตัวครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในปีจอ พุทธศักราช 2309 ด้วยประโยคที่ว่า “ครั้นถึง ณ เดือน 12 หน้าน้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากเลื่อนที่เป็นพระยากำแพงเพชร” แต่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น เช่น ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ยังคงเรียก “พระยาตาก” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระยากำแพงเพชรนั้น ก็ยังมิทันได้กลับไปรับหน้าที่ เพราะติดศึกอยู่ในพระนคร หรืออาจจะไม่มีการแต่งตั้งใดๆ เลยก็เป็นได้

อย่างไรก็ดีการเปิดตัว “พระยาตาก” ในเบื้องต้นนั้น ไม่มีวีรกรรมในแบบ “วีรบุรุษ” เท่าใดนัก รวมถึงไม่มีฉากการรบเหมือนในเวลาต่อๆ มา

จนกระทั่ง “พระยาตาก” เริ่มคิดจะ “หนี” ออกจากกรุงศรีอยุธยา จึงเริ่มต้นบทบาท “วีรบุรุษกู้ชาติ” อย่างแท้จริง

เพียงแต่จุดเริ่มต้นก่อนการ “หนี” เพื่อกู้ชาตินั้น เป็นวีรกรรมที่น่าผิดหวังพอสมควร

คือระหว่างที่กองทัพพม่าล้อมกรุงอยู่นั้น ก็มีบัญชาให้ พระยาตาก พระยาเพชรบุรี หลวงศรเสนี ไปตั้งกองสกัดการเดินทางขึ้นล่องของกองทัพพม่าอยู่ที่วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อไม่ให้เดินทางโดยสะดวก

ครั้นเมื่อกองกำลังพม่ายกมาตามเส้นทาง พระยาเพชรบุรีจึงพายเรือเข้าสกัด มีการรบถึงขั้นประชิดตัว แต่ระหว่างการรบอยู่ในขั้นคับขันนั้น “พระยาตาก หลวงศรเสนี ถอยมาแอบดูหาช่วยหนุนไม่” จนทำให้พระยาเพชรบุรีถูกจับตัวได้ แม้พระยาเพชรบุรีจะอยู่ยกคงกระพันฟันไม่เข้า แต่ก็ต้องถูกเอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวาร พลีชีพในการปะทะครั้งนี้

ส่วนพระยาตาก นอกจากจะไม่เข้าช่วยเหลือแล้ว ยังพากองกำลัง “หนี” ไปตั้งหลักอยู่ที่วัดพิชัย ทางฝากตะวันออกของเกาะเมือง ก่อนจะ “หนีทัพ” ออกจากกรุงศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตก!

(คัดบางส่วนจาก พระเจ้าตากเบื้องต้น เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง. สนพ.มติชน)