ปฏิรูปอักษรไทย งานที่ค้างของ ฟ. ฮีแลร์ แห่งอัสสัมชัญ

เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ ผู้ร่วมวางรากฐาน โรงเรียนอัสสัมชัญ
เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (F.Hilaire) (ภาพจาก กรมศิลปากร www.finearts.go.th)

เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยวางรากฐาน “อัสสัมชัญ” ตั้งอยู่ในย่าน บางรัก ให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ จนขึ้นชื่อว่าเป็าสำนักศึกษาชั้น 1 ของไทย ภารกิจสำคัญของท่านอีกอย่าง คือ การปฏิรูปอักษรไทย ที่ท่านยังทำไม่แล้วเสร็จ 

หนังสือ “อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย” ฉบับที่ระฤก วันมรณภาพครบรอบ 1 ปี เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์  เมื่อ พ.ศ. 2512 ( มรณภาพ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ในส่วน “รวมเรื่อง และบทความ ส่วนหนึ่งของ ฟ.ฮีแลร์” กล่าวถึงการ “ปฏิรูปอักษรไทย” ว่า

ฟ. ฮีแลร์นั้นเป็นบุคคลประเภทบุกเบิก อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า pioneer แม้ท่านจะไม่ได้ดำริเริ่มตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ก็เป็นเจษฎาจารย์ชุดแรกที่มาก่อตั้งจากที่ท่านบาทหลวงกอลมเบต์ได้สร้างไว้แล้ว และขยายกิจการออกไป จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นสำนักศึกษาชั้น 1 ของไทย มีกิติคุณระบือไปถึงต่างประเทศ การก่อสร้าง การเขียน การแปล และการฝึกหัดอบรมศิษย์ ติดต่อกับผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนชนชั้นต่างๆ ในสังคมไทย ฟ.ฮีแลร์ทำมาแล้วอย่างพึงพอใจในผลงานของท่าน

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งท่านพยายามเสมอ หากทำไม่สำเร็จและอยากเห็นผลคือ การปฏิรูปอักษรไทย ความข้อนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงมีพระมติเห็นพ้องต้องด้วย

ฟ. ฮีแลร์เห็นว่า การเขียนคำไทย ควรเขียนเป็นคำๆ อย่างภาษาฝรั่ง ดังเห็นได้ว่าดรุณศึกษา สมัยท่านจัดพิมพ์เอง แยกตัวออกเป็นคำๆ เสมอ ทั้งท่านยังต้องการให้ใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างฝรั่งเช่นกัน ความข้อนี้ ท่านสั่งเสียศิษย์พวกที่สนใจในทางอักษรศาสตร์อยู่เสมอว่าภาษาไทยเราต้องปรับปรุงให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ท่านให้เหตุผลว่าการเขียนติดๆ กันนั้น เราต้องคิดถอดคำนั้นออกในใจเรา เสียเวลาไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ส่วนการวางสระพยัญชนะไว้ข้างบนข้างล่างบ้าง ซ้ำบางทีก็มีวรรณยุกต์ซ้อนสองขึ้นไปอีก ทำให้เสียเนื้อที่โดยใช่เหตุ เปลืองตัวพิมพ์โดยใช่เหตุ ทั้งจุดเล็กจุดน้อยยังทำให้ตัวพิมพ์หักสลายได้ง่ายขณะที่ตีพิมพ์อยู่

(ภาพจาก หนังสือ “อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย” ฉบับที่ระฤก วันมรณภาพครอบ 1 ปี ของเจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์)

ท่านว่าสระต้องอยู่หลังพยัญชนะเสมอ เพื่อสะดวกแก่การเรียน เช่นเด็กเริ่มเรียนว่า ป สระไอ แต่กลับเขียนว่า ไป นับว่าสับสน ท่านได้เขียนกลอนเทียบไว้ให้เห็น ประกอบคำสนทนาที่น่านสนใจ ดังนี้

เต่า – เอ ! นี่มันเป็นบทกลอนหนังสือภาษาอะไรกัน อ่านมารู้เรื่อง ไม่เคยเห็น คนสมัยใหม่นี่อุตริเหลือหลาย.

ฉลาด – ไหน ! อุตริยังไง อ๋อ ! เข้าใจแล้ว หนังสือแบบนี้ เขาไล่ตัวสระให้เข้าแถวเดียวกันหมด เพื่อให้อ่านง่าย เขียนง่าย ดูๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่มันเป็นครึ่งชาติยังไงไม่รู้ ไม่น่าดูเลย.

เฉลียว – จริง !  ไม่น่าดู แต่ความคิดชนิดนี้ไม่เลว ไม่ใช่อ่านง่ายเขียนง่ายอย่างเดียว พิมพ์ก็ง่ายตัวไม่ใคร่หัก ทำบรรทัดถี่ๆ ก็ได้ เพราะเขาไม่มีสระสี่ทิศแบบที่เราใช้กัน หนังสือแบบนี้ ราคาจะถูกลงไปตั้งครึ่งเป็นการประหยัดทรัพย์ได้ปีละมากมาย นักเรียนก็ไม่ต้องหิ้วกระเป๋าเบ้อเร่อทั้งเช้าทั้งเย็น ที่ว่าเป็นหนังสือครึ่งชาติ หรือหัวมงกุฎท้ายมังกรนั้นเห็นด้วย แต่ใครหนอ จะสามารถประดิษฐ์สระฝรั่งเหล่านี้ให้มีศิลป์เดียวกับแบบไทยได้ละก็จะมีคุณแก่พวกเราไม่น้อยทีเดียว.

กระวี – ใช้สระ a, e, i, o, u ( อา, เอ, อี, โอ, อู )

หนึ่ง เทียบดูเห็นชัดบรรทัดถี่ ทุ่นกระดาษทีละนิดคิดให้ดี ว่าหนึ่งปีอย่างน้อยกี่ร้อยตัน?

สอง ช่างพิมพ์ยิ้มหวัวตัวไม่หัก ไม้ต้องพักทบทวนดทสัน;

สาม นักเรียนหนักกระเป๋าก็เบาพลัน; นอกจากนั้นออมอัฐชะงัดเอย.

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2562