พระเพทราชา กับตำนาน “ชายนอนหลับ” ชื่อ “สิงห์” และ “เสลี่ยง” วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี

เสลี่ยง วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี พระเพทราชา กษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา
“เสลี่ยงพระเพทราชา” ที่วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

“พระเพทราชา” กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้เป็นที่รักใคร่ของ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” กับตำนาน “ชายนอนหลับ” ชื่อ “สิงห์” และ “เสลี่ยง” วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี

จังหวัดสุพรรณบุรี มีวัดโบราณมากมายตั้งเรียงรายสองฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ ทางใต้ของตัวเมืองริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ มีวัดโบราณอยู่วัดหนึ่ง ที่ชาวบ้านต่างเล่าขานเป็นตำนานวัดนี้ว่า เกี่ยวข้องกับ พระเพทราชา กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ผู้สถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้คือ วัดกุฎีทอง

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาววัดกุฎีทอง ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าประวัติวัดสืบต่อกันมาเป็นตำนานว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายคนหนึ่งมานอนหลับอยู่ที่วัดเซิงหวาย (ชื่อเก่าของวัด) ชายคนนี้นอนกรนเป็นเสียงดนตรี ลูกศิษย์วัดเห็นแปลกประหลาด จึงไปบอกให้เจ้าอาวาสมาดู ปรากฏว่าเสียงกรนของชายคนนั้นเป็นเสียงดนตรีจริงๆ

พอดีชายผู้นั้นตื่นขึ้นก็ตกใจ เอามือขยี้ตา แล้วลุกขึ้นคุกเข่าพนมมือไหว้เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสจึงถามว่า ไปยังไงมายังไงจึงมานอนหลับอยู่ที่นี่

วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชายผู้นั้นบอกว่า เขาเกิดที่บ้านพลูหลวง (ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ถนัดในการเลี้ยงช้าง จะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อสมัครเป็นทหารในกองช้าง

เจ้าอาวาสวัดเซิงหวายพิจารณาดูลักษณะของชายผู้นั้นแล้วพูดขึ้นว่า “ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปวันข้างหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดิน ชายผู้นั้นพูดว่า “ถ้าเป็นจริงดั่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ จะกลับมาสร้างกุฏิทองถวาย แล้วกราบลาเจ้าอาวาสวัดเซิงหวาย เดินทางมุ่งทิศตะวันออกบ่ายหน้าเข้ากรุงศรีอยุธยาต่อไป เข้าสมัครเป็นทหารในกองช้าง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาชายผู้นั้นมีพระนามว่า “พระเพทราชา” เป็นนายกองช้างที่มีความสามารถอย่างยิ่ง

พระเพทราชาเป็นที่รักใคร่ของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้เป็นผู้เลี้ยงดูพระโอรสลับของพระองค์ (หลวงสรศักดิ์) ซึ่งเกิดกับหญิงชาวบ้าน จึงมีความสำคัญอยู่มาก ต่อมาพระเพทราชาทราบว่าพฤติกรรมของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ฝรั่งชาติกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพฤติกรรมลับๆ ติดต่อกับฝรั่งเศส จะให้ฝรั่งเศสครอบครองกรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาจึงชิงฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคตในเวลาต่อมา พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสอย่างเป็นทางการที่จะสืบพระราชสมบัติ พระเพทราชาจึงราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นรัชกาลที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2231-2246

“เสลี่ยงพระเพทราชา” ที่วัดกุฎีทอง

พระเพทราชาเป็นชาวสุพรรณ มีเนื้อความหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงพระญาติวงศ์ ซึ่งอยู่บ้านพลูหลวง ของเมืองสุพรรณบุรี พอทราบว่าพระเพทราชาได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็พากันไปเยี่ยม นำเอาปลาและลูกตาลอ่อนขึ้นถวาย พระเพทราชาทรงให้การต้อนรับพระญาติวงศ์เป็นอันดี ทรงพูดจาภาษาชาวบ้าน (พูดเสียงเหน่อ) ที่เคยพูดมาแต่ก่อนโดยไม่ทรงถือพระองค์ ทรงเลี้ยงข้าวปลาอาหารและสุราจนเมามาย โปรดฯ ให้มหาดเล็กพาชมพระราชวัง แล้วพระราชทานเงินทองพร้อมทั้งของฝากให้แก่ผู้ที่ไม่ได้มาด้วย

ที่บ้านพลูหลวง (ปัจจุบันทางราชการเรียกเพี้ยนเป็นบ้านโพธิ์หลวง ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ถิ่นพระราชสมภพของพระเพทราชา ก็มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา 4-5 ชั่วคนเช่นกัน ว่า มีชายชื่อ “สิงห์” เป็นคนเก่งในการเลี้ยงช้างไปสมัครเป็นทหารในกองช้างของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ถ้าเป็นจริงดั่งตำนานเล่าขานกันมา “สิงห์” ก็น่าจะเป็นชื่อเดิมของพระเพทราชาก็เป็นได้

กลับมาที่ตำนาน “ชายนอนหลับ” ประวัติวัดกุฎีทอง เล่าว่าต่อมาเมื่อเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาโปรดฯ ให้คนมาสร้างกุฏิเป็นทอง (น่าจะเป็นว่าสร้างกุฏิแล้วลงรักปิดทองด้วยแผ่นทองคำมากกว่าที่จะสร้างด้วยทองคำ) ถวายให้วัดเซิงหวาย และทรงเปลี่ยนชื่อวัดเซิงหวายเป็น “วัดกุฎีทอง”

นอกจากเรื่องกุฏีทองแล้ว ที่วัดกุฎีทองนี้ยังมีหลักฐานตามตำนาน คือ “เสลี่ยง” (คานหาม) ที่ชาวบ้านกุฎีทองต่างร่ำลือเชื่อกันว่าเป็นพระราชยานที่พระเพทราชาประทับมาเมื่อครั้งเสด็จมาสมโภชเฉลิมฉลองวัดกุฎีทอง และมิได้ทรงนำกลับไป ทรงถวายเสลี่ยงไว้เป็นสมบัติของวัด ซึ่งเสลี่ยงนั้นทางวัดยังเก็บรักษาและบูรณะปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันนี้ (นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้ข้อสังเกตว่า รูปทรงของเสลี่ยงจัดว่างามพอใช้ ลักษณะของลวดลายมีเค้าของลายเก่า แต่เชื่อว่าเป็นเสลี่ยงใหม่ที่อาจทำตามต้นฉบับเก่า อาจกำหนดอายุได้ประมาณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ผู้ใดสนใจเชิญไปเที่ยวชมได้ที่วัดกุฎีทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชม รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน: ชิงอำนาจการเมือง GAME OF THRONES พระเพทราชา “บ้านพลูหลวง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก เอกสารประกอบการเสวนาของ สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 18 กันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2561